มองเงินบาทวันนี้34.15-34.40เช้ามาแข็งขึ้นแตะ34.28บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่ามุมมองค่าเงินบาทวันนี้ว่าจะอยู่ที่ 34.15-34.40 บาทต่อดอลลาร์โดยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.28 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์
ดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้ (แกว่งตัวในช่วง 34.26-34.45 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านระยะสั้นไปได้ หลังจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้าตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ทาง Krungthai GLOBAL MARKETS ยอมรับว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมากกว่าที่ได้ประเมินว่า แต่ก็ยังเป็นการแข็งค่าที่ไม่ห่างจากเป้าสิ้นปีของเราที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปมากนัก ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจเริ่มชะลอลงบ้าง เนื่องจากบรรดาผู้นำเข้า รวมถึงผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) ในช่วงที่ผ่านมา อาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อเข้าซื้อเงินดอลลาร์ และทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB ก่อนเข้าช่วงวันหยุดยาวได้ ทำให้เงินบาทก็อาจแข็งค่าไม่เกินโซน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะ ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านเดิมในการทยอยขายทำกำไรได้ เช่นเดียวกันกับในฝั่งตลาดบอนด์ นักลงทุนต่างชาติก็มีโอกาสขายทั้งบอนด์ระยะสั้น ตามการทำกำไรสถานะ Long THB รวมถึงขายบอนด์ระยะยาว ในกรณีที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวลดลงบ้าง ตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับที่ประเมินไว้ จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าต่อเนื่องถึงโซนแนวรับสำคัญถัดไปที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ภาพดังกล่าวอาจจะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ อาทิ ยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมปีหน้า
และที่สำคัญ จึงขอเน้นย้ำอีกรอบว่า ควรระวังความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วงบ่ายวันนี้ จากปริมาณธุรกรรมที่เบาบางพอสมควร อีกทั้งควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ เช่นกัน
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.14% ท่ามกลาง ความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้าตามคาด หลังจากที่รายงานข้อมูลดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการโดยเฟดสาขาริชมอนด์ ได้สะท้อนภาพการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน อดีตประธานเฟดสาขาดัลลัส ก็ยังได้ให้ความเห็นว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงได้ในไม่ช้า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็กลับมาปรับตัวขึ้น +0.21% จากบรรยากาศในตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยลงของบรรดาธนาคารกลางหลัก ก็มีส่วนหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ SAP +1.2%, Adyen +0.9%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.80% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยิ่งมั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยลงได้ราว 6 ครั้ง เริ่มตั้งแต่การประชุมเดือนมีนาคมปีหน้า ทว่ายังคงมุมมองเดิมว่า ควรระวังความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจพุ่งสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ได้เข้าสู่แนวโน้มขาลงแล้ว แต่ยังมีความผันผวนอยู่บ้าง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) กอปรกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังมั่นใจว่าเฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ได้ส่งผลให้โดยรวม เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงสู่ระดับ 101 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.9-101.5 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้สำเร็จ ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นใกล้โซน 2,090 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา (และเป็นการแข็งค่ามากกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร)
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ควรจับตา คือ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ โดยในช่วงนี้ที่บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดในปีหน้า ไปพอสมควร ทำให้ต้องระวังในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวออกมาดีกว่าคาดไปมาก จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าได้
นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงบ่ายของวันนี้ เนื่องจากปริมาณธุรกรรมจะเบาบางลงไปมาก ในช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.