EXIM BANKหนุนเศรษฐกิจสีน้ำเงินปูทางธุรกิจไทยจ่อออก Blue Bond ครั้งแรก
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนมากขึ้น โดยจากการจัดเก็บสถิติของ Net Zero Tracker องค์กรอิสระที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford ในการติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก พบว่าปัจจุบันกว่า 150 ประเทศทั่วโลกตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) โดยมีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ระดับโลก (Forbes Global 2000) กว่า 1,000 แห่งตั้งเป้าดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากราว 700 แห่งในเดือนมิถุนายน 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40% ในระยะเวลาเพียง 16 เดือนเท่านั้น
จากสถานการณ์ข้างต้น ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับโพสต์ทูเดย์ว่า ด้วยโจทย์ที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ผ่านกลไกที่หลายประเทศและบรรดาบริษัทขนาดใหญ่นิยมนำมาใช้กันคือ การสร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
แต่ยังมีมีอีกหนึ่งกลไกที่มีหลักการคล้ายกัน แม้ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก แต่คาดว่าจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เนื่องจากทะเลเป็นแหล่งการจ้างงานและแหล่งรายได้ของประชากรหลายล้านคนทั่วโลก Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) คาดว่า มูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของโลกจะสูงขึ้นแตะ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 20 ปีก่อน
หากสีเขียวทำให้เรานึกถึงผืนป่า สีน้ำเงินทำให้เรานึกถึงผืนน้ำและมหาสมุทรที่ช่วยผลิตก๊าซออกซิเจนบนโลกมากถึง 50% ช่วยดูดซับความร้อนจากกิจกรรมมนุษย์ถึง 90% อีกทั้งยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CO2 กว่า 25% อีกด้วย ความสำคัญดังกล่าวทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกลายเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG ขององค์การสหประชาชาติ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป้าหมาย SDG ที่ 14 (Life Below Water) ซึ่งมีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับ Blue Economy เป็นเป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนน้อยที่สุดในบรรดา 17 เป้าหมาย โดย World Economic Forum คาดการณ์ว่า การจะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนที่ 14 ภายในปี 2573 อาจต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงราว 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ในช่วงปี 2558-2562 มีเงินลงทุนจริงไม่ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เท่ากับว่ายังมีช่องว่างของเงินลงทุนเหลืออยู่มากถึงเกือบ 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 1 ใน 3 ของ GDP ไทย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยของ Columbia University พบว่า แม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) Blue Bond มีอัตราการขยายตัวถึง 92% ต่อปี (CAGR) แต่หากพิจารณาในแง่มูลค่าตลาดที่ราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.5% ของตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทั้งหมด ถือเป็นขนาดที่เล็กมากเทียบกับ Green Bond ที่มีส่วนแบ่งกว่า 50%
นับจากปี 2561 ทั่วโลกมีการออก Blue Bond เพียง 26 ฉบับ โดยสาเหตุที่ Blue Bond ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก อาจเป็นเพราะยังไม่มีมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ล่าสุดตั้งแต่ต้นปี 2565 International Finance Corporation (IFC) ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งจัดทำ Guidelines for Blue Finance ขึ้น เริ่มมีผู้เล่นภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ขณะที่ก่อนนี้กว่าครึ่งของ Blue Bond เป็นขององค์กรระหว่างประเทศหรือรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่
ดร.รักษ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งค่อนข้างมาก จากรายงาน National State of Oceans and Coasts ในปี 2563 พบว่า Blue Economy ของไทยมีสัดส่วนถึงราว 30% ต่อ GDP และจ้างงานถึง 26% ของการจ้างงานรวม ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม เช่น การประมง การท่องเที่ยว การขนส่งทางทะเล พลังงาน ตลอดจนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย หรือแม้กระทั่งโครงการแลนด์บริดจ์ ล้วนแต่มีความเกี่ยวโยงกับ Blue Economy
ดังนั้น EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จึงมุ่งเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน รวมถึงยกระดับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนกระบวนการผลิตสินค้าและให้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้ง Green Economy และ Blue Economy
นอกจากนี้ดร.รักษ์มองว่า ไม่เพียงการลงแรงช่วยกันรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจังมากขึ้นแล้ว ทุกภาคส่วนของไทยควรเร่งสร้างการรับรู้และพัฒนา Blue Economy ผสมผสานไปกับกลไก Green Economy ที่มีอยู่เดิมอย่างไร้รอยต่อ แต่เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ เงินทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่เข้ามามีบทบาทช่วยระดมทุนเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าวได้คือ พันธบัตรสีฟ้า หรือ Blue Bond
ในส่วนของ EXIM BANK ก็ได้ให้ความสำคัญกับ Blue Economy โดยเฉพาะการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจโรงแรมและพาณิชยนาวีที่สอดรับกับ Blue Economy และในเร็ว ๆ นี้ EXIM BANK ยังมีแผนจะออก Blue Bond ครั้งแรกอีกด้วย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.