กสทช.อนุมัติ ม.อ.ทดสอบดาวเทียม LEO ของ Starlink หนุนภารกิจช่วยเหลือทางเรือ

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ใช้คลื่นความถี่ย่าน Ku-Band (Uplink: 14-14.5 GHz และ Downlink: 10.7–12.7 GHz) ของดาวเทียมต่างชาติกลุ่มดาวเทียม Starlink ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ในการทดลองทดสอบรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เพื่อสนับสนุนภารกิจค้นหาช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและภารกิจอื่นในพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายภาคพื้นดินไปไม่ถึง เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน     

พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ให้ข้อมูลในกรณีนี้ว่า เป็นการพิจารณาตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร้องขอ ซึ่งเดิมมหาลัยฯ เคยได้รับอนุญาตให้เป็นพื้นที่ทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการพัฒนา 5G Usecase มาก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี และในครั้งนี้ต้องการทดลองทดสอบนวัตกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งจะมีประโยชน์มากในพื้นที่ห่างไกลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตามเกาะแก่ง หรือ ตามป่าเขา ที่โครงข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน หรือ โครงข่ายไร้สาย 4G หรือ 5G ไปไม่ถึง ซึ่งภาคใต้ของประเทศไทยยังคงมีปัญหาดังกล่าว

และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม Starlink มาทดลองทดสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ต (Broadband) ซึ่งแม้ว่าจะใช้คลื่นความถี่ในย่าน Ku Band เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 5 และ ไทยคม 8 ที่ใช้งานแพร่ภาพโทรทัศน์ (Broadcast) แต่ก็ไม่ทับซ้อนกัน โดยที่ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้ Downlink: 12.272 – 12.604 GHz และ ไทยคม 8 ใช้ Downlink: 11.48 – 11.70 GHz ซึ่ง กสทช. ก็มีข้อสังเกตในการทดลองทดสอบครั้งนี้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดคลื่นความถี่รบกวนกันด้วย จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ก่อนจะมีการอนุญาตให้ใช้งานจริงควรทดสอบก่อน โดยมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมโครงข่ายกรณีภารกิจค้นหาและช่วยชีวิตเรือที่ประสบภัย ตามภาพ

การทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีดาวเทียมวงโคจรต่ำที่เป็นกลุ่มดาวเทียมใช้งาน Broadband เช่นนี้ สำหรับดาวเทียมสัญชาติไทยที่ กสทช.ประมูลและอนุญาตในต้นปีที่ผ่านมาเป็นดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geo-Stationary Earth Orbit: GEO) และการอนุญาตในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการอนุญาตเพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใดดังนั้นหากให้มหาวิทยาลัยฯ ได้ทำการทดลองทดสอบเพื่อได้ศึกษาถึงเทคโนโลยีดังกล่าวที่มีความแตกต่างกันและได้องค์ความรู้ทั้งในด้านการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการค้นหาและช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัย จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.