ดีเอสไอ จี้ คมนาคม ตั้งกรรมการสอบพิรุธฮั้วประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2566 เพื่อขอให้ตรวจสอบความถูกต้องของคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ที่ล่าช้ามาเกือบ 3 ปี จากการปรับเกณฑ์การประมูลโครงการและเปิดประมูลใหม่ ทำให้เอกชนผู้เสียหายอย่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องร้องต่อศาลปกครองมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรายละเอียดของหนังสือดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมการคัดเลือกได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ของนายเปรมชัย กรรณสูต ก่อนหรือไม่ ในเมื่อนายเปรมชัย ต้องโทษในคดีล่าเสือดำ ทั้งที่คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลระบุชัดว่าบริษัทที่ร่วมประมูล ผู้บริหารต้องไม่มีคดีต้องโทษ ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงคมนาคมชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกผู้ประมูล ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลก่อนหรือไม่ เพราะเหตุใด ITD จึงเข้าร่วมประมูลได้ ทั้งที่น่าจะขาดคุณสมบัติ

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากดีเอสไอ ได้ตั้งข้อสงสัยถึงคุณสมบัติของ ITD แล้ว ยังพบข้อมูลอีกว่า ITD บริษัท 1 ใน 2 ราย ที่เสนอราคาประมูลแข่งกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ได้เสนอราคาสูงกว่าราคากลางอีกด้วย โดยราคากลางอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท  แต่ ITD เสนอราคา 120,000 ล้านบาท ทำให้ CK เป็นผู้ชนะการประมูล นับเป็นเรื่องผิดปกติในการเสนอราคาประมูลที่มีการเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง

นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติของ บริษัท ขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ ที่จับมือกับ ITD ในการร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าวนั้น ขนส่งอินช็อน ไม่มีการส่งงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี หรือ มีหลักฐานระบุชัดว่าต้องการเข้าร่วมประมูล มีเพียงหนังสือแสดงเจตจำนงสนใจโครงการดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีเอกสารยืนยันว่า ทั้งคู่ทำงานในลักษณะ กิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือ กิจการค้าร่วม (Consortium) ตามเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ร่วมประมูลหรือไม่

ความผิดปกตินี้จึงทำให้เชื่อได้ว่า ITD ตั้งใจเข้ามาประมูลเพื่อเป็นคู่เทียบ หรือ ตั้งใจให้เกิดกระบวนการฮั้วประมูล

หากเรื่องนี้เป็นความจริง และถูกตรวจสอบ คณะกรรมการคัดเลือกที่ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติก่อน จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 โดยเฉพาะ ตามมาตรา 12 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทางสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่กล้าอนุมัติโครงการดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพราะหากอนุมัติจะมีความผิดตามมาตรา 10 โดยทั้งครม.ผู้ว่ารฟม.และรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมจะมีความผิดกันทั้งหมด

การประชุมครม.ครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการหยิบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมาถกเถียงกันเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง แต่สุดท้ายก็ไม่กล้าอนุมัติ และอ้างว่าไม่มีการนำเสนอเข้าครม.

แหล่งข่าวกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบได้ หากตรวจสอบแล้วพบว่าคณะกรรมการคัดเลือกไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นซองประมูล ก็สามารถสั่งการให้เปิดประมูลใหม่ได้ เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเดินหน้าต่อไปได้

ที่ผ่านมา รฟม.ชี้แจงมาโดยตลอดว่าไม่จำเป็นต้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล ทั้งกับอนุกรรมการสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงการเผยแพร่เป็นข่าวประชาสัมพันธ์ของ รฟม.เอง 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

โดยการก่อสร้างฝั่งตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังหาผู้เดินรถไม่ได้ เนื่องจากโครงการฝั่งตะวันตกที่มีปัญหา คือ (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ยังไม่ได้เริ่มโครงการ ซึ่งตามสัญญาต้องเสร็จตั้งแต่ปี 2563 เพื่อให้สามารถเดินรถได้ทันทีในปี 2566 ตามแผน ดังนั้นหากรัฐบาลอนุมัติให้โครงการฝั่งตะวันออกเดินรถไปก่อน ก็ต้องใช้เวลา 3 ปี กว่าจะหารถมาเดินรถได้ตามกระบวนการปกติในการหาซื้อรถมาวิ่ง เร็วที่สุดก็ปี 2570 

ความไม่ชัดเจนนี้ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระงบประมาณในการบำรุงรักษาโครงการอยู่ที่เดือนละ 40 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2563 รวมเป็นเวลา 3 ปี กว่า 1,440 ล้านบาท ใครต้องรับผิดชอบ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นซองประมูล นั้น เป็นคนละเรื่องกับคดีที่ค้างอยู่ที่ศาล โดย BTSC ได้ฟ้อง รฟม.ต่อศาลปกครอง 3 เรื่อง และสิ้นสุดคำตัดสินไปแล้ว 2 คดี คือ 1.การแก้ไขทีโออาร์โดยไม่ชอบ และ 2.การยกเลิกประกาศเดิม โดยไม่ชอบ ซึ่งศาลตัดสินแล้วว่าคณะกรรมการคัดเลือกทำได้ ยังคงเหลืออีก 1 คดี คือ การประกาศเชิญชวนในปี 2565 โดยไม่ชอบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หลังจากที่ศาลชั้นต้นตัดสินว่า ทำได้โดยชอบ ซึ่งบีทีเอสได้ทำเรื่องอุทธรณ์ให้ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน คาดว่าจะได้คำตัดสินภายในปี 2567

ปมข้อพิพาทกันระหว่าง รฟม. เจ้าของโครงการ กับ BTSC ผู้ประมูลงาน จากการประมูล รอบแรก ที่รฟม.เปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว มาเปลี่ยนกติกาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลกันภายหลัง ทำให้การประมูลรอบแรกต้องล้มลง และนำไปสู่การเปิดประมูลรอบที่ 2 โดยปรับเพิ่มหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการประมูล ทั้งคุณสมบัติและเทคนิคจนทำให้ผู้ที่เคยยื่นข้อเสนอการประมูลรอบแรก ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลในรอบที่ 2 ได้ จนกลายเป็นคดีมหากาพย์ 3 ปีนั้น จะจบลงอย่างไร เมื่อดีเอสไอ ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

โครงการจะสามารถเริ่มนับหนึ่งใหม่ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ความเสียหายตกอยู่ที่ภาครัฐในการนำเงินงบประมาณไปอุดค่าบำรุงรักษาโครงการกว่า 1.4 พันล้านบาท และประชาชนที่รอคอยใช้บริการว่าจะต้องเสร็จภายในปี 2566 นั้น อยู่ที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องเข้ามารับไม้ต่อและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.