finbiz by ttb เผย 4 ปัจจัยจาก Climate Change สะเทือนภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว

Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เป็นประเด็นสำคัญทางธุรกิจ และยังเป็นเรื่องราวเร่งด่วนที่ทุกธุรกิจต้องให้ความใส่ใจ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนของโลกในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างรุนแรงแน่นอนในอนาคต

ในฐานะที่ภาคธุรกิจเป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก มีส่วนสำคัญในของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ จำเป็นต้องเคลื่อนไหวและปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต้องให้ความใส่ใจเพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดย finbiz by ttb ได้รวบรวม  4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Climate Change เป็นประเด็นสำคัญทางธุรกิจ

1. ธุรกิจต้องอยากเป็นบริษัทที่รักษ์โลก

ในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจที่ต้องการการเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสรักษ์โลก โดยการให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งในด้านการผลิต กระบวนการทำงาน ผลิตภัณฑ์และบริการที่นำเสนอ เช่น

•    ธุรกิจใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ เพื่อใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่ผลิตไปจนก่อนส่งถึงมือลูกค้า
•    ธุรกิจลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมไปถึงลดการใช้ทรัพยากรของบรรจุภัณฑ์ ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ การลดขนาดของบรรจุดภัณฑ์ ไปจนถึงการปรับขนาดของบรรจุภัณฑ์เพื่อลดจำนวนเที่ยวของการขนส่ง
•    ธุรกิจให้ความสำคัญกับการจัดการของเสีย การลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด หรือใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ และหากจำเป็นต้องมีของเสีย จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือเข้าสู่กระบวนการแล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงการบำบัดให้สามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น

รวมถึงจากผลสำรวจของ PwC, Deloitte ในปี 2023 พบว่า ผู้บริโภคกว่า 64% ยินดีจ่ายเงินเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการถนอมธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเอาไว้และยังสามารถเพิ่มมูลค่าของแบรนด์และธุรกิจได้อีกด้วย

2. ธุรกิจต้องการทำ หรือมีธุรกิจที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ

จากการคำนึงถึง Climate Change ของโลกทำให้หลายประเทศได้ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น

•    สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป(Carbon Border Adjustment Mechanism) สำหรับสินค้านำเข้าจากนอกสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีผลแล้วตั้งแต่ตุลาคม 2023 และมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อบังคับใช้ถึงในปี 2026 โดยมาตรการนี้ออกมาเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายในสหภาพยุโรปและประเทศนอกสหภาพยุโรป โดยมีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU's Emission Trading System : EU ETS) 

 

•    ญี่ปุ่นได้ออกมาตรการ Tokyo Circularity Initiative ในปี 2023 กำหนดเป้าหมายให้ธุรกิจในกรุงโตเกียวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งจะส่งผลกระทบที่คล้ายกับมาตรการ EU ETS ของสหภาพยุโรป ที่จะต้องมีมาตรการขึ้นมาเพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านต้นทุนกับสินค้านำเข้าเช่นเดียวกัน

•    สหรัฐอเมริกา แม้ว่าในปี 2023 นี้ ยังไม่มีกฎหมายบังคับสำหรับธุรกิจที่ส่งออกสินค้าไปยังอเมริกา แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลอเมริกาได้ออกร่างกฎหมายที่เรียกว่า "Fair, Affordable, Innovative, and Resilient Transition and Competition Act" (FAIR Act) ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะกำหนดให้ธุรกิจที่ส่งออกสินค้าไปยังอเมริกาต้องเสียภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

โดยอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น ๆ กฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2025 โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย 

•    สิงคโปร์ ประเทศแรกในอาเซียนที่นำมาตรการทางภาษีและมาตรการทางกฎหมายมาใช้บังคับ เพื่อการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศในประเทศภายใต้ชื่อรัฐบัญญัติภาษีคาร์บอน (Carbon Pricing Act) และมีแผนที่จะขึ้นภาษีคาร์บอนในอนาคตโดยจะปรับตัวเลขเป็น 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2) ในปี 2026-2027 และจะขึ้นเป็น 50-80 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030

การเก็บภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์ในปัจจุบัน ได้บังคับใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจทั้งหมดทุกประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 25,000 ตันต่อปีขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการนำเข้าสินค้าในทำนองเดียวกับที่ CBAM ได้บังคับใช้ในกรณีส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรป

จากข้อมูลของ World Bank ในปี 2022 พบว่า การค้าระหว่างประเทศของทุกประเทศทั่วโลก คิดเป็น 27% ของ GDP ของโลก ซึ่งหมายความว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจของโลกทั้งหมด หากธุรกิจไม่ปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะทำให้ธุรกิจเหล่านั้นเสียเปรียบคู่แข่งในการแข่งขันทางการค้า

3. ต่อให้ไม่ทำ กฎหมายก็บังคับอยู่ดี

จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งนี้ด้วยตระหนักถึงปัญหาอย่างแท้จริง และเพื่อให้ธุรกิจในประเทศนั้น ๆ สามารถทำการค้ากับต่างประเทศได้ จากรายงานของ International Emissions Trading Association ในปี 2022 พบว่า กว่า 60 ประเทศทั่วโลกได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับ Climate Change

เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายบังคับ เพื่อควบคุมดูแลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 มีประกาศเป้าหมายนี้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2021

การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยภาครัฐจะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุน ส่วนภาคเอกชนจะทำหน้าที่ในการปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4. อยากทำธุรกิจกับบริษัทรายใหญ่

บริษัทรายใหญ่หลายแห่งได้ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 - 2040 นโยบายเหล่านี้จะทำให้บริษัทคู่ค้าต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับบริษัทรายใหญ่เหล่านี้ได้ และองค์กรใหญ่หลายแห่งก็ได้เริ่มมีนโยบายกำหนดให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเช่นกัน และหากไม่สามารถทำตามเกณฑ์ก็อาจสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ หรือมีต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นได้

จากรายงานของ CDP (Carbon Disclosure Project) องค์กรระดับโลก ที่ทำงานร่วมกับสถาบันการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 650 แห่งโดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น) ในปี 2022 พบว่า มีกว่า 15,000 บริษัทชั้นนำทั่วโลกได้ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีบริษัทในไทยมีไม่ต่ำกว่า 100 บริษัทที่ได้ประกาศแล้ว ซึ่งล้วนเป็นบริษัทที่มีบริษัทในเครือ หรือบริษัทที่ร่วมทำการค้าอีกมากมายจึงส่งผลกระทบไปยังภาคธุรกิจโดยทั่วไปของไทย อันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม ความตื่นตัวและความมุ่งมั่นของภาคเอกชนไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจัยทั้ง 4 ประการข้างต้น ล้วนเป็นแรงผลักดันส่งเสริมและแรงกดดันที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเรื่อง Climate Change ธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็วและมีประสิทธิภาพ จะสามารถลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจได้ในอนาคต โดยมีสถิติตัวเลขที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจมาสนับสนุนดังนี้
•    จากการสำรวจของ McKinsey ในปี 2022 พบว่า ธุรกิจที่ปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถลดต้นทุนได้เฉลี่ย 3-5%
•    จากการสำรวจของ Boston Consulting Group ในปี 2023 พบว่า ธุรกิจที่ปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจได้ 10-20%

ด้วยปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจที่ปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะได้รับประโยชน์ทั้งในแง่ของต้นทุน โอกาสทางธุรกิจ รวมไปถึงได้ภาพลักษณ์ที่ดีที่จะสร้างความได้เปรียบในการเข้าถึงลูกค้าในยุคปัจจุบัน

ที่มา :
-    งานสัมมนา Sustainable Growth - The Way to Business of the Future โดย ttb
-    ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
-    Boston Consulting Group
-    McKinsey
-    PwC, Deloitte
-    World Bank

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.