บีโอไอเปิดแผน 4 ปี หนุนลงทุน BCG ดันมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2570
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนา Go Thailand 2024 : Green Economy - Landbridge โอกาสทอง? หัวข้อ นโยบายลงทุนไทย ภายใต้บริบทใหม่ จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า บีโอไอ มีแผนในการขับเคลื่อนการลงทุนเชิงรุกใน 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567-2570) ตามแนวคิด BCG และการเปลี่ยนผ่านสู่การลงทุนสีเขียวเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศผ่าน 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรม BCG Bio-Circular-Green,อุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น อีวี,อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์,อุตสาหกรรมดิจิทัลและการสร้างสรรค์ และ การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานในภูมิภาค
พร้อมผลักดัน 5 นโยบายสำคัญ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ ได้แก่ การขนส่งสีเขียว,การพัฒนาด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาและการดึงดูดบุคคลที่มีความสามารถพิเศษให้เข้ามาทำงานในประเทศ, การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบกลุ่ม และการทำให้เกิดความสะดวกในการลงทุน และกำหนดเงื่อนไขพิเศษให้บางกิจการต้องทำ เพื่อให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ บีโอไอมีเป้าหมายในการทำให้มูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรม BCG เพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 24% ของ GDP ในปี 2570 หรือจาก 3.4 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท (เป้าประเทศ) และมุ่งสู่การเป็น BCG Hub ของอาเซียน
ด้วยการส่งเสริมการลงทุนตามแนวคิด BCG ครอบคลุม 50 กิจการทั้งกิจการฐานชีวภาพครบวงจร พลังงานหมุนเวียน กิจการที่สอดคล้องหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับบางกิจการ ให้ใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้เทคโนโลยี CCUS, Natural Refrigerants และระบบ Smart Environment เป็นต้น
สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริม กิจการกลุ่ม BCG ในช่วงปี 2558 - กันยายน 2566 พบว่า มีการลงทุนในกลุ่ม BCG เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมากกว่า 3,759 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 782,367 ล้านบาท ผ่านมาตรการผลักดันการลงทุนสีเขียวตามแนวคิด BCG ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ภาคพลังงาน และภาคการขนส่ง เช่น ส่งเสริมการลงทุน Biocomplex ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค โดยอาศัยจุดแข็งและศักยภาพวัตถุดิบการเกษตรที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ ผ่านการส่งเสริมรูปแบบคลัสเตอร์ และให้สิทธิประโยชน์แบบ Tailor-made Package เป็นต้น
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมสำคัญที่จะนำพาไทยไปสู่การลงทุนสีเขียวได้ก็คือ ยานยนต์ ซึ่งไทยมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี โดยมีมาตรการครอบคลุมทั้งการส่งเสริมผู้ผลิต และผู้บริโภคในการใช้รถอีวี
นายนฤตม์ กล่าวว่า บีโอไอมีการสนุบสนุนผู้ผลิต EV แบบครบวงจร และการผลิตรถ EV ทุกกลุ่ม รวมถึงการผลิตชิ้นส่วน และสถานีชาร์จ EV ขณะที่ทางฝั่งผู้บริโภค บีโอไอก็มีมาตรการ EV3 ตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนมุติมาตรการ EV3.5 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้รถ EV ในไทยระยะที่ 2 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ปี 2567-2570 หรือระยะเวลา 4 ปี
ในระยะต่อไปเราต้องมีการกำหนดค่าไฟของสถานีชาร์จไฟ และส่งเสริมการลงทุนแบตเตอร์รี่ระดับเซลล์ด้วย
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสำหรับการผลิตยานยนต์ทั่วไป รวมทั้ง HEV/ PHEVทั้งกรณีกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม และโครงการลงทุนใหม่ โดยผู้ขอรับการสนับสนุนจะต้องเสนอแผนการพัฒนารถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีที่มุ่งสู่ความสะอาด ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย การขับขี่อัจฉริยะ หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เหมาะสมด้วย
ทั้งนี้จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (กรณีใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ >30% จะให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นสัดส่วน 100%) และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกิจการที่ทำอยู่เดิมจะได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้ของกิจการเดิม นับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม ส่วนกรณีโครงการลงทุนใหม่จะได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้ของกิจการที่ได้รับการส่งเสริม นับจากวันที่มีรายได้ครั้งแรก
สำหรับประเทศไทยนั้น มีจุดแข็งหลายปัจจัยที่สอดคล้องกับเรื่องดังกล่าว ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนในอนาคตสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพายเชน บุคลากร ที่สำคัญยังมีการนโยบายในการสนับสนุนการลงทุนธุรกิจสีเขียวที่ชัดเจนทั้งจากบีโอไอ และหน่วยงานอื่น เพื่อให้ภาคเอกชนเปลี่ยนผ่านไปสู่การลงทุนสีเขียว ขณะที่พลังงานสะอาดซึ่งจะเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น
ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กำลังพัฒนากลไกลใหม่ที่เป็นแหล่งรวมพลังงานสะอาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม และเป็นกลไกลที่จะสามารถระบุผู้ผลิตได้อย่างชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นความต้องการของบริษัทชั้นนำที่จะเข้ามาลงทุนในไทย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.