ก.ล.ต. ยกระดับ “กรีนโทเคนไนซ์” สร้างอีโคซิสเตมธุรกิจสีเขียว
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนของ “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการในประเทศที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
โดยใช้กองทุนรวมในตลาดทุนเป็นกลไกที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติด้านความยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการออมระยะยาวผ่านการลงทุนในตลาดทุน โดยให้ ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์รองรับกองทุนรวมดังกล่าวต่อไป
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า นอกจากการจัดตั้ง “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน” (Thailand ESG Fund:Thai ESG) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการในประเทศและเป็นรูปแบบการลงทุนระยะยาวเพื่อความยั่งยืนแล้ว สำนักงานก.ล.ต ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของ “กรีนโทเคนไนซ์” (Green Tokenized) ซึ่งเป็นหนึ่งรูปแบบการลงทุนที่จะอยู่ในเกณฑ์ Thai ESG ด้วย
แม้ว่าในปัจจุบัน อินเวสเมนต์โทเคน (investment token) จาก “ธุรกิจสีเขียว” จะยังไม่มี ทำให้สำนักงาน ก.ล.ต. เร่งยกระดับให้กับ “กรีน โทเคนไนซ์” ซึ่งในปีนี้จะยังไม่สามารถลงทุนได้ เพราะรูปแบบจัดตั้งตลาดการลงทุนยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่มีการระดมทุนเกิดขึ้น แต่เป็นแนวทางที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องการโปรโมตในปีหน้า เพื่อให้มีบริษัทและธุรกิจเข้ามา เพื่อให้มียูสเคสหรือตัวอย่างเรื่องกรีนโทเคนไนซ์ เพราะเมื่อมีรูปแบบธุรกิจสีเขียวเข้ามาระดมทุนด้วยจะเป็นการผลักดันเรื่องกรีนโทเคนไนซ์
“สำนักงานก.ล.ต.พร้อมผลักดันให้เกิดยูสเคส โดยมี Thailand ESG เป็นผู้กลั่นกรองว่ารูปแบบธุรกิจว่ามีความเหมาะสม และสามารถทำได้หรือไม่ คาดว่าเร็วๆ นี้ จะเปิดให้ธุรกิจส่งร่างเอกสารจัดตั้งกรีนโทเคน ซึ่ง ก.ล.ต. อยากโปรโมตเรื่องธุรกิจสีเขียว ที่ไม่เพียงแค่ธุรกิจใหญ่ๆ เท่านั้นที่สามารถทำได้ ธุรกิจเล็กๆ ทั้ง SME สตาร์ตอัปก็ทำสามารถทำได้”
นางพรอนงค์ มองว่า การสร้าง Green Ecosystem เพื่อเป็นอีโคซิสเตมให้กับธุรกิจสีเขียวและสังคมสีเขียว ดังนั้นธุรกิจเล็กๆ เช่น ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า รถเช่าอีวี ก็สามารถทำได้ นอกเหนือจากการปลูกป่าดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และไม่ได้จำกัดเพียงแค่บริษัทใหญ่ๆ ที่สามารถทำได้เท่านั้น โดยคาดว่าสำนักงาน ก.ล.ต. สามารถพิจารณาได้ภายใน 2 อาทิตย์
รวมทั้ง ก.ล.ต. เปิดให้ บลจ. สามารถส่งร่างเอกสารจัดตั้ง Thai ESG ให้ ก.ล.ต. พิจารณาได้ล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ บลจ. และเตรียมพร้อมที่จะเสนอขายกองทุนรวมดังกล่าว โดยธุรกิจจะต้องเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG) และโทเคนดิจิทัลเพื่อการระดมทุนที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืนที่มีมาตรฐานในทำนองเดียวกันกับตราสารหนี้ดังกล่าว โดย Thai ESG จะได้รับสิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้งและแก้ไขโครงการจาก ก.ล.ต. เช่นเดียวกับ SRI Fund ด้วย
เพื่อให้นักลงทุนไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนใน Thai ESG ในทุกรูปแบบการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงกรีนโทเคนไนซ์ด้วย จากภาครัฐเห็นความสำคัญที่ประชาชนจำเป็นต้องมีการออมการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว จึงได้สนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ลงทุนใน Thai ESG โดยผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุน มาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีที่มีการลงทุน
รวมไปถึงเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ถ้าการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนใน Thai ESG ไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน
นางสาววรางคณา อัครสถาพร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG กล่าวว่า ในปัจจุบันรูปแบบการระดมทุนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้รูปแบบการระดมทุนผ่านการ “โทเคนไนเซชั่น” ด้วยการออกโทเคนดิจิทัล ถือเป็นรูปแบบการระดมทุนที่เข้ามาแก้ปัญหาให้กับธุรกิจพลังงานและธุรกิจสีเขียว ให้สามารถหาเงินทุนมาพัฒนาธุรกิจต่อได้
จากรูปแบบธุรกิจที่ไม่สามารถหาหลักประกันของสินทรัพย์ได้ ทำให้เป็นข้อจำกัดให้กับธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ เช่น ธุรกิจโซลาร์รูฟ การปลูกป่าดูดซับคาร์บอน ที่ธนาคารมองว่าเมื่อจะต้องยึดหลักประกันธนาคารไม่สามารถประเมินมูลค่าสินทรัพย์เหล่านี้ได้ ธุรกิจสีเขียวและธุรกิจพลังงาน จึงมองหาการระดมทุนใหม่ๆ
โดยการออกโทเคนดิจิทัลเป็นการระดมทุนที่มีความคล้ายคลึงกับ ”ตราสารหนี้” เพียงแต่เอื้อต่อธุรกิจที่ประสบปัญหาต่อการหาเงินทุน และอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งมีความน่าสนใจมากกว่า
ในปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่ง ทั้งธุรกิจสีเขียวและธุรกิจพลังงานมีความสนใจออกโทเคนดิจิทัลเพื่อระดมทุน อย่างไรก็ตาม หลายแห่งรอความชัดเจนจากการกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ในการออกโทเคน และระยะเวลาที่พร้อมในการเสนอขายโทเคนดิจิทัล แม้ว่าจะเป็นรูปแบบการลงทุนที่มีคล้ายคลึงกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น คริปโทเคอร์เรนซีแต่ ”โทเคนดิจิทัลไม่ใช่คริปโทฯ” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านักลงทุนในตลาดยังมีการมองภาพการลงทุนที่คล้ายกัน จึงมองว่าต้องอาศัยช่วงเวลาที่เหมาะสมร่วมด้วย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.