ธปท.สวนรัฐบาล ยันเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤต ไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมากระตุ้น

เรียกเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง สำหรับการตัดสินใจของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่ประกาศเลือกช่องทางการกู้เงินเพื่อมาทำโครงการเติมเงินดิจิทัล 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet  โดยการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ผิดไปจากเดิมที่นายกฯประกาศว่า จะไม่กู้เงินเพื่อทำโครงการ โดยระบุถึงความจำเป็นที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแรงเข้าขั้นวิกฤต ให้กลับมาขยายตัวอยู่ในจุดที่ควรเป็น สร้างความสับสนกับสังคมว่า สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ในจุดที่วิกฤตจริงหรือ หรือว่า กำลังฟื้นตัว และมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่รัฐบาลต้อง “กู้เงินเพื่อมาแจก” ทำให้คนไทยต้องมาร่วมกันแบกรับหนี้ก้อนโต

 

แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า จากตัวบ่งชี้ หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในขั้นวิฤกต ซึ่งจากรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ล่าสุด ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และไตรมาส 3 ปี 2566 เศรษฐกิจปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัวอยู่ที่ 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับตัวเลขการจ้างงาน ที่พบว่า ตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เพิ่มขึ้น จากทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ประกอบกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมปรับลดลงในหลายสาขา ดังนั้นจากภาพรวมทางเศรษฐกิจ จึงมองว่า มีความจำเป็นน้อยมากที่รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมาก เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ

 

“มองว่า มีความจำเป็นน้อย โดยเฉพาะการกู้เงินเพื่อแจก ยิ่งไม่จำเป็น เพราะภาคการบริโภคก็ยังขยายตัว อัตราการว่างงานก็ต่ำ ไม่ใช่วิกฤตแน่นอน วิฤกต คือ มี shock ยิ่งใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง เช่น ปี 2541 จีดีพีต่ำสุดในช่วงวิกฤต ติดลบ 7.6% ธุรกิจล้มละลายกว้างขวาง คนตกงานมากมาย ต่างชาติหอบเงินกลับ ค่าเงินตกต่ำฮวบฮาบ ระบบสถาบันการเงินอ่อนแอไม่ฟังชั่น เป็นต้น ” แหล่งข่าวธปท.กล่าว

แหล่งข่าวธปท. ยังกล่าวด้วยว่า อยากเสนอแนะให้รัฐบาลยกเลิกความคิด การแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรให้ความสำคัญในการนำเงิน หรืองบประมาณประเทศไปเพิ่มศักยภาพของประเทศ เพราะจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืนมากกว่า เพราะการแจกเงินอาจทำให้จีดีพีประเทศพองตัวได้ 2-3 ไตรมาส สุดท้ายก็หดตัวกลับไปอยู่ที่ระดับเดิม 

“การแจกเงิน เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ถ้ากระตุ้นได้จริง ทำไมไม่มีประเทศไหนใช้การแจกเงินเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกเว้นเกิดวิกฤตช่วงโควิด ซึ่งทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ใช่เพื่อการกระตุ้นอะไร ส่วนนโยบายแจกคูปองของญี่ปุ่น เป็นการช่วยสวัสดิการ ช่วยครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ เขามีหนี้สาธารณะต่อจีดีพี กว่า 260% เศรษฐกิจเซื่องซึมมาหลายสิบปี ซึ่งต่างจากเศรษฐกิจไทย” แหล่งข่าวธปท.กล่าว

 

นอกจากนี้ มีความกังวลว่าโครงการเติมเงินดิจิทัล 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะซ้ำรอยโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยุคก่อน หากรัฐบาลไม่ยกเลิกความคิด สุดท้ายอาจมีวิกฤตศรัทธาของรัฐบาลเอง  

 

ส่วนคำถามที่ว่า การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท รัฐบาลสามารถทำได้หรือไม่นั้น มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ระบุชัดว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนที่ต้องตีความ

 

ขณะที่ การก่อหนี้ใดๆของรัฐบาล ต้องเพื่อการใช้จ่ายที่มีคุณภาพ มีประโยชน์คุ้มค่า ซึ่งตามมาตรา 7 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่ระบุไว้ว่า การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดําเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่าต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย ซึ่งกรณีก็มองว่า ไม่เข้าข่ายแน่นอน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.