ทายาทรุ่น2พาธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลรุกโมเดิร์นเทรดปักหมุดตลาดต่างแดน
วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งสร้างแรงสั่งสะเทือนให้กับหลายกิจการไม่เว้นแม้แต่บริษัท ส.ร่วมไทย จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลก่อตั้งเมื่อปี 2539 หลังเติบโตมาจากร้านส.รวมเจริญที่ตลาดเก่าเยาวราชเมื่อปี 2515 โดยเป็นซัพพลายเออร์ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแห้งที่ให้บริการแก่ผู้ผลิตอาหารในกรุงเทพฯ ที่สร้างจากความร่วมมือระหว่างพรศักดิ์ ธนารักษ์สิริถาวร และกลุ่มเพื่อน
"ตอนนั้นคุณพ่อถามว่าจะมาทำกิจการของครอบครัวต่อหรือไม่ ระหว่างที่ผมยังเรียนปริญญาตรีที่คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อตอบตกลงจึงเริ่มก่อสร้างโรงงานที่สมุทรสาครเมื่อต้นปี 2540 พอกลางปีก็เจอวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้มีปัญหาถูกระงับเงินกู้ แต่ก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อเพราะทำมา 50% แล้ว ต้องเอาเงินเก็บของครอบครัวและเงินที่ยืมจากญาติอีกมาลงทุนต่อ" จากคำบอกเล่าของ นฤพนธ์ ธนารักษ์สิริถาวร ทายาทรุ่น 2 และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ส.ร่วมไทย จำกัด
ด้วยความไม่ยอมแพ้ในครั้งนั้นตั้งแต่สมัยผู้ก่อตั้งกิจการรุ่นหนึ่ง ได้ส่งผลให้กิจการเติบโตอย่างมั่นคงมาเรื่อย ๆ กระทั่งสามารถชำระหนี้เงินกู้นอกระบบที่หยิบยืมมาราว 50 ล้านบาทได้สำเร็จในปี 2546 รวมถึงขยายธุรกิจเพิ่มเติมต่อเนื่องและเริ่มส่งออกไปยังต่างประเทศ จนขณะนี้มีทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา เกาหลีจีน สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ไปจนถึงตะวันออกกลาง ในยุคของทายาทรุ่น 2 ที่เข้ามาสืบต่อธุรกิจ จนแตกยอดเพิ่มอีก 3 บริษัทในเครือ ได้แก่บริษัท เอ็ม.อาร์.เจ.ฟู้ดส์ จำกัด และ บริษัท ธนารักษ์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด และอีก 1 บริษัทที่เวียดนาม
เผชิญจุดเปลี่ยนหันสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด
แต่กว่าจะเดินหน้าถึงวันนี้ นฤพนธ์ได้เล่าถึงเส้นทางเติบโตที่ผ่านมาหลังเริ่มมาช่วยกิจการครอบครัวเมื่อปี 2541 และรับภารกิจเป็นกรรมการผู้จัดการของกลุ่ม ส.ร่วม ในปี 2557 ว่า เมื่อโรงงานใหม่นับหนึ่งอย่างเป็นทางการและมีห้องเย็นขนาดใหญ่เป็นของบริษัทเอง จึงทำให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น และกระจายสินค้าไปยังต่างจังหวัดได้รวดเร็ว จนนำไปสู่การเพิ่มปริมาณลูกค้า และขยายธุรกิจได้ดีขึ้นจากที่สามารถนำสินค้ามาขายได้หลากหลายกว่าเดิม กระทั่งเริ่มส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านนายหน้าในปี 2548
กระทั่งประมาณปี 2554 ที่บริษัทเผชิญกับปัญหาที่ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่สะดุดแล้วติดค้างหนี้สินค่าสินค้า จนส่งผลให้การดำเนินธุรกิจต้องชะงักไปด้วย นฤพนธ์จึงต้องมองหาทางออกใหม่ เพื่ออุดช่องโหว่ของปัญหาดังกล่าวด้วยการต่อยอดธุรกิจใหม่ที่น่าจะมีรายได้ที่สม่ำเสมอและยั่งยืนในระยะยาวจากการค้าปลีก ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่เดิมได้จำหน่ายให้แก่โรงงานต่าง ๆ ไปขายปลีกในห้างโมเดิร์นเทรดอยู่แล้ว
เมื่อเรากลับมาเช็คสุขภาพตัวเอง ก็พบว่าสินค้าของเราหลาย ๆ ตัว ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปสร้างแบรนด์ของตัวเอง แล้วไปวางขายในโมเดิร์นเทรดได้ เพราะก่อนหน้านี้เราก็ป้อนวัตถุดิบให้กับผู้จัดจำหน่ายหลายรายในประเทศอยู่แล้ว จึงน่าจะเป็นทางออกที่ช่วยให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนได้
อย่างไรก็ตาม หากจะพลิกตัวจากผู้จำหน่ายสินค้าแปรรูปไปเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างองค์กรและพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ทางด้านการตลาดมากขึ้น ทางบริษัทจึงค่อย ๆ ปรับตัว จนสามารถแจ้งเกิดผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ฟรุ๊ตมาเนีย (Fruitmania) ขึ้นเมื่อปี 2555
กระทั่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ของบริษัท ประกอบด้วย 4 แบรนด์หลัก คือ ฟรุ๊ตมาเนีย (Fruitmania) เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ส่วน โกหมึก (GOMUC) จะเป็นอาหารว่างรับประทานเล่น ขณะที่ ธนา (TANA) จะเน้นเรื่องอาหารทะเลแปรรูป และ สามบัว (SAMBUA) จะเป็นกลุ่มอาหารธัญพืชและสินค้าเกษตรแปรรูป
อย่างไรก็ตามสัดส่วนรายได้ของบริษัท ส.ร่วมไทย ยังมีมาจากช่องทางการขายในประเทศแบบดั้งเดิมอยู่ที่ราว 70% ช่องทางโมเดิร์นเทรดประมาณ 10% และส่งออกอีกราว 20% ขณะที่ช่องทางออนไลน์ก็เริ่มเติบโตดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
แม้สินค้าหลักของเราจะเป็นอาหารทะเลแปรรูป แต่ตอนนั้นมองว่าผลไม้อบแห้งเป็นช่องทางที่น่าจะเปิดตลาดได้ดีกว่า เพราะขณะนั้นยังมีกลุ่มผู้เล่นน้อยราย แล้วตามมาด้วยธนา โกหมึก และสามบัว
ดันยอดขายโต 15% ภายใน 3 ปี
สำหรับเป้าหมายธุรกิจในภาพรวมนั้น นฤพนธ์คาดหวังที่จะเพิ่มการเติบโตของยอดขายให้เพิ่มขึ้นอีก 15% ภายในระยะ 3 ปีข้างหน้าเป็นราว 3 พันล้านบาท ส่วนแผนธุรกิจต่อจากนี้ แม้จะยังไม่สร้างแบรนด์ใหม่ แต่ตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจโมเดิร์นเทรดเติบโตขึ้นอีก 150% จากปัจจุบันภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยเน้นเพิ่มผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มคนที่ห่วงใยสุขภาพในส่วนของแบรนด์ฟรุ๊ตมาเนียมากขึ้น เช่นเดียวกับเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารและขนมทานเล่นสำหรับแบรนด์โกหมึกเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับอีกหนึ่งภารกิจหลักในปีนี้ คือการเตรียมเปิดโรงงานแปรรูปอาหารทะเลแห่งใหม่ที่เวียดนาม แม้ว่าได้มีการเปิดบริษัทที่เวียดนามมาราว 5 ปีแล้ว แต่แผนการเปิดโรงงานต้องชะงักไปในช่วงที่โควิด19 แพร่ระบาด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงอาคาร เพื่อให้สามารถรองรับกับระบบการผลิต food safety ได้ จึงคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ประมาณต้นปีหน้าหรือภายในไตรมาสแรก โดยมองว่าการเปิดโรงงานที่เวียดนามจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จากที่มีแรงงานจำนวนมากและเป็นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น
"นอกจากที่เวียดนามเป็นแหล่งผลิตสินค้าแล้ว ยังต้องการให้เป็น hub ในการส่งออกด้วย จากข้อได้เปรียบที่เวียดนามเป็นประเทศที่ยังได้รับสิทธิ์ GSP และยังมีข้อตกลง FTA กับหลายประเทศด้วย จึงถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญ โดยเฉพาะสามารถส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารทะเล เข้ายุโรปโดยภาษีอยู่ในระดับแค่ 0-5% เท่านั้น ในขณะที่สินค้าจากไทยเสียภาษีมากกว่าคือตั้งแต่ 7-15%"
อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบันบริษัท ส.ร่วมไทย ยังมีสถานะเป็นธุรกิจครอบครัวก็ตาม แต่ก็มีความสนใจที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นบริษัทมหาชนในอนาคต ซึ่งนฤพนธ์ย้ำว่าต้องใช้เวลารอดูอีก 1 ปี เพื่อหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อเสนอขายหุ้นไอพีโอ จึงจะเริ่มกำหนดเส้นชัยอย่างเป็นทางการ แม้ว่าบริษัทค่อนข้างมีความพร้อมไม่ต่ำกว่า 60% แล้วก็ตาม
ERP ยกระดับธุรกิจให้แกร่งกว่าเดิม
แต่เพื่อให้บริษัทมีการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้น นฤพนธ์จึงเกิดแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีระบบ ERP มาใช้ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อสนับสนุนระบบภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนระบบบัญชี การเงิน คลังสินค้า จัดซื้อ และการบริหารองค์กรภาพรวม ที่สำคัญคือการที่เป็นกิจการที่ใช้ระบบบัญชีเดียว ก็ทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือจากธนาคารพาณิชย์ที่ให้สินเชื่อ
ทั้งนี้ประโยชน์ที่ชัดเจนหลังการนำระบบ ERP มาใช้ ในมุมมองของนฤพนธ์คือ บริษัทมีข้อมูลธุรกิจที่ช่วยให้วางแผนการขายได้แม่นยำขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาองค์กรและระบบการดำเนินงานที่ดีเป็นมาตรฐาน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนในแง่ที่ทำให้ต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้นในวัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ ลดน้อยลง อย่างไรก็ตามกว่าที่ระบบ ERP จะพร้อมใช้งานจริงได้ ก็ต้องติดตั้งระบบและฝึกอบรมการใช้งานอยู่ราว 6 เดือน และลองผิดลองถูกอยู่ราว 1 ปีจึงใช้งานได้อย่างสมบูรณ์
การนำระบบ ERP เข้ามาใช้ ช่วยให้บุคลากรของเรามีการพัฒนาตามไปด้วย รวมไปถึงระบบงานก็สามารถตรวจสอบได้ แล้วยังนำ data ที่เกิดขึ้น ไปประมวลผลและวิเคราะห์ เพื่อพยากรณ์กับการเก็บวัตถุดิบ การผลิตสินค้าต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ทุกวันนี้เราสามารถเห็นจนถึงกำไรในแต่ละไอเทมแบบอัตโนมัติเลย
ถอดบทเรียน Smart SME
นฤพนธ์ถ่ายทอดบทเรียนของผู้ประกอบการ SME ว่าการได้เรียนรู้งานจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำงานด้วยตัวเองหรือ learning by doing ตั้งแต่ระดับล่างก่อนจะมาเป็นรับหน้าที่ผู้บริหารนั้น เป็นวิชาธุรกิจที่สำคัญ เพราะทำให้ได้มีมุมมองในเชิงลึกและได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับทำให้รู้ว่าควรหาเครื่องมือหรือระบบเทคโนโลยีมาช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
แต่จากประสบการณ์ที่ตัวเองต้องเดินทางและบุกไปทวงหนี้ลูกค้าในต่างประเทศทั้งที่สหรัฐและรัสเซียรวมแล้วกว่า 3 แสนเหรียญ ด้วยความยากลำบากและเสี่ยงภัย ก็ทำให้รู้ว่าก่อนจะค้าขายกับใครต้องตรวจสอบให้ดีก่อน จะได้ไม่ถูกโกงอีก
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.