แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร นักลงทุนไทย-เทศ จ่อปักหลักลงทุน
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 เห็นชอบให้มีการรับฟังความเห็นโครงการแลนด์บริดจ์ โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดรูปแบบการพัฒนา 3 ส่วน ดังนี้
1.ท่าเรือน้ำลึก ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยในฝั่งอ่าวไทยตั้งอยู่ที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนองรองรับสินค้า 20 ล้าน TEU มีร่องน้ำลึก 21 เมตร
ส่วนฝั่งอันดามันตั้งอยู่ที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้า 20 ล้าน TEU มีร่องน้ำลึก 17 เมตร
2.การเชื่อมการขนส่งระหว่างท่าเรือ ประกอบด้วยมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร ระยะทาง21 กิโลเมตร ,รถไฟคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร และรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร
3.ท่อขนส่งน้ำมัน สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ
การที่รัฐบาลผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ทำให้บริษัทเอกชนไทยและต่างชาติเริ่มให้ความสนใจติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด
รวมถึงผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เพราะจะมีการพัฒนาพื้นที่หลังท่าสำหรับการลงทุนอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลได้เตรียมการโรดโชว์ต่างประเทศ เพื่อดึงบริษัทต่างชาติมาร่วมลงทุนในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)
สำหรับการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์จะเชื่อมเส้นทางขนส่งกับท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งจะเป็นการเชื่อมการพัฒนาเชิงพื้นที่ 2 ส่วน คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมา “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้โรดโชว์ระหว่างการเยือนต่างประเทศ เช่น จีน ซาอุดิอาระเบีย
รวมทั้งล่าสุดในการเดินทางเยือนสหรัฐเป็นครั้งที่ 2 ของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 12-18 พ.ย.2566 จะนำโครงการแลนด์บริดจ์ ไปนำเสนอบนเวทีการประชุมผู้นำ APEC
จรีพร จารุกรสกุลประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า WHA ได้เริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์แล้ว เนื่องจากมองว่าพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางผ่านของการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่จะเป็นพื้นที่ศักยภาพ
ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นโอกาสทองของภาคอุตสาหกรรมในการตั้งฐานผลิตด้วยแต้มต่อด้านโลจิสติกส์ของการเชื่อมโยงเส้นทางจากสองฝั่งมหาสมุทร เป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่ทำให้สามารถเป็นศูนย์รับถ่ายสินค้า รวมถึงวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตและส่งออกไปได้ทั้งสองทางจากอันดามันและอ่าวไทย
“ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เยอะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ย้ำชัดว่า ไทยจะเดินหน้าเรื่องนี้ คาดว่าใน 2 ปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นการเปิดประมูลลงทุน” นางสาวจรีพร กล่าว
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมผลักดันการดำเนินการโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการเป็นประตูโลจิสติกส์เชื่อมโยงการค้าของประเทศและภูมิภาค
รวมทั้งได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาแนวทางในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย
1.ระนอง
2.ชุมพร
3.นครศรีธรรมราช
4.สุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายเตรียมความพร้อมพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนจากการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะทำให้บริเวณ SEC กลายเป็นศูนย์กลางในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั่วโลก และเตรียมความพร้อมในการเป็นฐานการลงทุนของ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย
1.เกษตรและอาหาร
2.ชีวภาพ
3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
“ขณะเดียวกัยรัฐบาลจะต้องเร่งผลักดัน ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่เทียบเคียงกับพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายต่อการควบคุม กำกับดูแล รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ในการดึงนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ไม่ใช่เพียงแค่ทางผ่านของการขนส่งสินค้า”
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.อยู่ระหว่างการตั้งโครงการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยต่อยอดจากผลการศึกษาในอดีตที่เคยทำไว้เมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดระนองเป็นพื้นที่อนุรักษ์ อาทิ ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ป่าโกงกาง รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน เพราะฉะนั้นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจึงอาจมีอุปสรรคพอสมควร
ทั้งนี้ การผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมที่ดิน รวมถึงกรมโยธาทิการและผังเมือง ว่าจะมีแนวทางในการจัดสรรพื้นที่เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสมได้อย่างไร
นอกจากนี้ ในเบื้องต้น กนอ.เตรียมลงพื้นที่เดือน พ.ย.2566 เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระนอง 1 แห่ง รวมถึงในจังหวัดชุมพรอีก 1 แห่ง
“ตอนนี้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมต่างให้ความสนใจและเริ่มศึกษาสำรวจพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากเห็นโอกาสในการเติบโตจากโครงการดังกล่าวซึ่งจะเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ของไทยที่จะมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท”
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.