เจาะรายได้สายสีม่วงและสีแดงวูบ7.4ล้านหลังเข็นนโยบายรถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ถึงผลกระทบหลังจากกระทรวงคมนาคมดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายตามที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียงที่ผ่านมา โดยระบุว่า
อ่วม ! 20 บาทตลอดสาย
ฉุดรายได้รถไฟฟ้า “แดง-ม่วง” วูบ
20 บาทตลอดสาย เริ่มใช้กับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงมาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 ต.ค. 2566 ก่อนหน้านี้ผมได้เสนอผลหลังจากใช้นโยบายนี้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ปรากฏว่าผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นรวมกัน 5.6% หลายคนอยากรู้ว่ารายได้จากค่าโดยสารจะลดลงเท่าไหร่ ?
1. การประเมินผลใน 1 สัปดาห์
1.1 ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย
เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 ต.ค. 2566 ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 ต.ค. 2566 ยกเว้นวันศุกร์ที่ 13 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันหยุด ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันทำงานได้
1.2 ระยะเวลา 1 สัปดาห์ หลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย
เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 ต.ค. 2566 ถึงวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค. 2566 ยกเว้นวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันทำงาน ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับวันศุกร์ที่ 13 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดได้
2. รายได้รถไฟฟ้า 1 สัปดาห์ ก่อนและหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย
2.1 รายได้รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ มีรายได้เฉลี่ยวันละ 0.65 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 0.5 ล้านบาท นั่นคือรายได้ลดลงเฉลี่ยวันละ 0.15 ล้านบาท คิดเป็น 23%
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีแดงพร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาเฉลี่ยวันละ 1.31 ล้านบาท ดังนั้น ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย รฟท. ขาดทุนเฉลี่ยวันละ 0.66 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 0.81 ล้านบาท
2.2 รายได้รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ มีรายได้เฉลี่ยวันละ 1.3 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 0.8 ล้านบาท นั่นคือรายได้ลดลงเฉลี่ยวันละ 0.5 ล้านบาท คิดเป็น 38%
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงพร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาเฉลี่ยวันละ 7.39 ล้านบาท ดังนั้น ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย รฟม. ขาดทุนเฉลี่ยวันละ 6.09 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 6.59 ล้านบาท
2.3 หลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7.4 ล้านบาท จากเดิมขาดทุนวันละ 6.7 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายม่วงก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ มีรายได้รวมกันเฉลี่ยวันละ 1.95 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 1.3 ล้านบาท นั่นคือรายได้ลดลงเฉลี่ยวันละ 0.65 ล้านบาท คิดเป็น 33%
รฟท. และ รฟม. จ่ายค่าจ้างเดินรถพร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงรวมกันวันละ 8.7 ล้านบาท ดังนั้น ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย รฟท. และ รฟม. ขาดทุนเฉลี่ยรวมกันวันละ 6.75 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7.4 ล้านบาท
3. สรุป
ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พบว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นรวมกัน 5.6% แต่รายได้ลดลงถึง 33% ทำให้ รฟท. และ รฟม. ขาดทุนรวมกันเพิ่มขึ้นจากวันละ 6.75 ล้านบาท เป็นวันละ 7.4 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ รมว. คมนาคม ผู้นำนโยบาย 20 บาทตลอดสายมาใช้ จะต้องโชว์ฝีมือทำให้การขาดทุนลดลงให้ได้ จนกระทั่งไม่ขาดทุนเลยหรือได้กำไรตามที่ได้ประกาศไว้ โดยจะต้องหาทางทำให้มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญให้ได้
ขอเป็นกำลังใจให้อีกครั้งครับ !
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.