SCGD ประกาศช่วงราคาไอพีโอ 11.20-15.00 บาท/หุ้น รายย่อยจอง 8 และ 12-13 ธ.ค.66
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยว่า หลังจาก SCGD ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ปัจจุบันได้รับอนุมัติแบบคำขอฯ และแบบไฟลิ่งมีผลใช้บังคับแล้ว
โดย SCGD เตรียมพร้อมออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 439,100,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 26.61% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างโดยการทำเสนอซื้อหุ้น บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO เพื่อแลกหุ้น รวมถึงเสนอขายหุ้น IPO
นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD กล่าวว่า ความคืบหน้าการปรับโครงสร้างโดยการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ COTTO จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 พ.ย.-6 ธ.ค.2566 ที่ราคา 2.40 บาทต่อหุ้น และชำระค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน SCGD ที่ช่วงราคาเสนอขายหุ้นเบื้องต้นเท่ากับ IPO ที่ 11.20-15.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นช่วงอัตราแลกหุ้นเบื้องต้นจำนวน 4.6667-6.2500 หุ้น COTTO ต่อ 1 หุ้น SCGD (กรณีที่มีเศษหุ้นจะปัดลงทั้งหมด)
ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างและการ IPO หุ้น COTTO จะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้น COTTO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว กลายเป็นผู้ถือหุ้นของ SCGD ซึ่งจะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน
นอกจากนี้ SCGD ยังมีการเสนอขายหุ้น IPO ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC และ
ผู้ถือหุ้นของ COTTO ที่จะได้รับสิทธิจองซื้อหุ้น SCGD เพิ่มเติม โดยกำหนด Record date ในวันที่ 10 พ.ย.2566 และกำหนดวันจองซื้อ 29 พ.ย.-6 ธ.ค.2566 รวมถึงนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 8 และ 12-13 ธ.ค.2566
โดยมีวัตถุประสงค์การเสนอขาย IPO เพื่อนำไปขยายธุรกิจทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน การชำระคืนเงินกู้ยืม การควบรวมกิจการในอนาคต รวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนและปรับโครงสร้างเงินทุน
สำหรับภาพรวมตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย มีศักยภาพเติบโตสูง โดยมีปัจจัยจากรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวของสังคมเมืองและจำนวนประชากรทั้ง 4 ประเทศดังกล่าว ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเกือบ 557 ล้านคน ในปี 2564 เป็นเกือบ 580 ล้านคน ในปี 2569 ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดที่อยู่อาศัยและดีมานด์วัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์
โดยคาดว่าในปี 2565-2569 ภาพรวมอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิกประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จะเติบโตเฉลี่ย 1.2% 14.3% 4.4% และ 6.9% ต่อปี ตามลำดับ และภาพรวมอุตสาหกรรมสุขภัณฑ์จะเติบโตเฉลี่ยต่อปี 2.1% 13.9% 6.9% และ 8.5% ตามลำดับ จากมูลค่าตลาดรวมประมาณ 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท ในปี 2564
ทั้งนี้ ปัจจุบัน SCGD เป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ผ่านฐานการผลิตกระเบื้องเซรามิก และสุขภัณฑ์ รวมถึงช่องทางจำหน่ายต่างๆ ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดกระเบื้องเซรามิกเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมทั้งมีส่วนแบ่งการตลาดสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย อีกด้วย
บริษัทได้มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและนำเสนอผลิตภัณฑ์ตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ผ่านการวางกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนและเติบโตอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ได้แก่ 1) ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยจะขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนและมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ใหม่และนวัตกรรม เช่น กลุ่ม COTTO Smart Toilet นวัตกรรมด้านสุขภาพและอนามัย เป็นต้น
2) ต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในประเทศไทยสู่ผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยขยายตลาดกลุ่มกระเบื้อง
ไวนิล SPC และกระเบื้องไวนิล LVT ในเวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย รวมถึงขยายช่องทางจัดจำหน่ายในประเทศไทยและร้านค้าของบริษัทในต่างประเทศ
3) ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจรในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ โดยผนึกกำลังธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจแบบ Total Solution รวมถึงมองโอกาสขยายไปยังผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง
4) บริหารห่วงโซ่อุปทาน ทั้งด้านการผลิตและการจัดหาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผสานความร่วมมือฐานการผลิตแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารต้นทุน ตลอดจนเพิ่มการซอร์สซิ่งกระเบื้องและขยายไปยังสุขภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
5) เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ตลอดจนกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐานระดับโลก เช่น เพิ่มรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (SCG Green Choice) จาก 70% เป็น 80% ของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ภายในปี 2573 เป็นต้น โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2593
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.