คำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมนักกีฬาถึงชอบ "กัดเหรียญ" โชว์กล้อง?

ช่วงเวลาที่ความพยายามออกผลกลายเป็นความสำเร็จในฐานะนักกีฬา คือช่วงเวลาที่พวกเขาสามารถชนะรางวัลและได้ขึ้นยืนบนโพเดียม

เสียงเพลงชาติบรรเลง พร้อมเหรียญทองที่ห้อยคออย่างภาคภูมิใจ และทันใดที่เพลงชาติจบ นักกีฬาทุกคนจะต้องทำในสิ่งที่เรียกว่า "ท่าบังคับ"

ใช่เเล้ว พวกเขาโพสต์ท่ากับช่างภาพด้วยการ "กัดเหรียญ" รับรองว่า 9 ใน 10 ครั้ง ไม่เคยพลาดท่านี้แน่นอน

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เรื่องที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่กลับมีอะไรซ่อนอยู่ กับคำถามที่ว่า ทำไมนักกีฬาถึงต้องกัดเหรียญทอง?
คําตอบต้องย้อนกลับไปเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว สมัยที่การพิสูจน์ว่าทองคำที่ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนกันเป็นทองคำแท้หรือไม่ คนยุคนั้นจะใช้ฟันกัดที่ทอง เพราะทองคำแท้จะมีความแข็งไม่มาก ถ้าใช้ฟันกัดก็จะเกิดรอยฟัน

แต่ถ้าเป็นทองปลอม ทองผสมเหล็ก หรือผสมทองแดง หรือทองชุบ จะแข็งมาก กัดไม่เข้า ไม่เกิดรอย นักกีฬาที่ได้เหรียญทองที่ผ่านๆ มาจึงทำท่ากัดเหรียญทอง เป็นการล้อเลียนว่าต้องการพิสูจน์ว่าเหรียญทองโอลิมปิกว่าเป็นทองจริงหรือเปล่า

ประกอบกับวินาทีนั้นบรรดาช่างภาพที่ถ่ายรูปจะตะโกนขอให้นักกีฬาทำท่ากัดเหรียญทอง ซึ่งถือเป็นช็อตเด็ดที่ช่างภาพต้องการ นั่นคือที่มาของการกัดเหรียญทองของนักกีฬา

แล้ว เหรียญทองโอลิมปิก เป็นทองคำจริงหรือเปล่า? ... คำตอบคือ มีทั้งทองจริง และทองไม่จริง
โอลิมปิกสมัยโบราณ ที่ประเทศกรีก เมื่อหลายพันปีก่อน รางวัลที่นักกีฬาได้จากการแข่งขันนั้นไม่ใช่เหรียญรางวัล แต่เป็นใบมะกอกจากเมืองโอลิมเปีย (Olympia) สานเป็นวงกลมหรือทรงเกือกม้า สวมบนศีรษะของผู้ชนะเหมือนเป็นมงกุฎ โดยใบมะกอกสานนี้ให้กับนักกีฬาที่ได้ที่ 1 คนเดียวเท่านั้น เพราะสำหรับชาวกรีก มะกอกเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและความหวัง

จนกระทั่งในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ จึงมีการมอบเหรียญรางวัลให้กับนักกีฬาที่ชนะเป็นครั้งแรก โดยมอบเหรียญรางวัลพร้อมกับมงกุฎใบมะกอกและประกาศนียบัตร

ที่น่าสนใจก็คือ นักกีฬาที่ได้ที่ 1 ตอนนั้น ได้เหรียญเงิน, ที่ 2 ได้เหรียญทองแดง, ที่ 3 ไม่ได้เหรียญรางวัล

ในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1904 ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิซซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการเริ่มให้เหรียญทอง, เงิน และทองแดง ให้กับที่ 1, ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน
มาในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1904, 1908 และ 1912 เหรียญทองโอลิมปิกทำด้วยทองคำแท้ แต่เป็นเหรียญทองขนาดเล็ก มีขนาดประมาณเหรียญ 10 บาทไทย และนับตั้งแต่โอลิมปิกปี 1916 เหรียญทองโอลิมปิกก็ไม่ได้ทำด้วยทองคำแท้อีกต่อไปเพราะต้นทุนสูงมาก

ดังนั้น เหรียญทองโอลิมปิกที่เห็นในปัจจุบันมีทองคำผสมอยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่ไม่มากนัก โลหะหลักที่ใช้ผลิตเหรียญทองโอลิมปิกคือโลหะเงิน ราคาโดยเฉลี่ยเหรียญทองมีมูลค่าราว 15,000-20,000 บาท

ย้อนกลับไปเรื่องที่ว่า ทำไมนักกีฬาต้องกัดเหรียญ? ถ้าเอาตามความจริงของยุคนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ว่าทองแท้หรือไม่แท้ มันก็น่าจะง่ายจนเหลือเชื่อ เพราะคำตอบก็คือ "เพราะมันเท่" แค่นั้นเลย

ครั้งแรกที่ปรากฏภาพ "กัดเหรียญ" นั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่เท่าที่เว็บไซต์อย่าง CNN ได้หาเจอ คือภาพทีมนักวิ่ง 4 คูณ 100 เมตรของสหราชอาณาจักร ที่กัดเหรียญของพวกเขาในรายการชิงแชมป์โลก (World Championships) เมื่อปี 1991 ที่กรุงโตเกียว
เมื่อเราเอาช่วงเวลาของปี 1991 มาค้นให้ลึกและสืบไปถึงเรื่องของวงการกล้องและการถ่ายภาพ เราจะพบว่ามันมีความสัมพันธ์กัน เพราะในช่วงเวลานั้น บริษัท Kodak ได้นำกล้อง Kodak DCS-100 ออกวางจำหน่าย  Kodak ได้ให้การนิยามในการเรียกเม็ดสีแต่ละเม็ดของภาพดิจิทัลว่า "พิกเซล" (Pixel) โดยขนาดของไฟล์ภาพของกล้องรุ่นนี้อยู่ที่ 1.3 เมกะพิกเซล กล้องดังกล่าวมีราคาค่อนข้างสูงและมีเป้าหมายชัดเจนที่จะจำหน่ายให้กับช่างภาพมืออาชีพและนักข่าว

นั่นจึงทำให้เราสามารถไขรหัสได้ 1 ข้อเเล้วว่า ที่พวกเขากัดเหรียญ ก็เนื่องจากความเท่ในการโพสท่าให้กับตากล้องในยุคที่ภาพถ่ายกำลังเป็นของที่ไม่ได้มีกันทุกคน ดังนั้น ครั้งหนึ่งในชีวิตของนักกีฬาที่ชนะรางวัลแล้วได้รับเหรียญ การจะให้พวกเขายืนนิ่ง ยิ้มมุมปาก เหมือนถ่ายรูปทำบัตรประชาชน มันก็คงจะไม่เท่เท่าไรนัก การแอ็กชันด้วยท่ากัดเหรียญจึงถือเป็นการทำท่าให้ช่างภาพได้ภาพที่แตกต่าง และ "อาจจะ" สื่อความได้ว่า "พวกเขากำลังลิ้มรสชาติของชัยชนะ"

เดวิด วัลเลชินสกี สมาชิกคณะกรรมการบริหารของ International Society of Olympic Historians บอกกับ CNN ไว้ในปี 2012 ถึงมุมมองของเขาว่า การกัดเหรียญไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการทำให้ตากล้องพอใจ และได้ภาพสวยๆเท่านั้นเอง
"มันเป็นความหลงใหลของภาพถ่ายมากกว่า ผมคิดว่าพวกเขาเข้าใจตรงกันว่านี่เป็นช็อตที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของความสำเร็จ มันเป็นภาพที่แปลกใหม่ยิ่งกว่าการยืนตัวตรงหรือเอาเหรียญคล้องคอ"

"ผมคิดว่าเรื่องขององค์ประกอบภาพจากมุมมองของตากล้องมีผลมากๆ และคิดว่านักกีฬาคงไม่อยู่ๆก็อยากจะทำท่านี้ขึ้นมาเองหรอก" วัลเลชินสกี กล่าว

สรุปโดยง่ายๆคือ นักีฬากัดเหรียญก็เพื่อที่จะให้ได้ภาพถ่ายสวยๆ ไปลงในหน้าข่าวกีฬา หรือหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการกัดเหรียญมันทำให้ภาพออกมาดูดีจริงๆ ทำให้ตอนนี้มันอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปแล้วว่า นักกีฬาต้องกัดเหรียญ หลังจากได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกกันเป็นเรื่องปกติ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.