บทเรียนทุกชาติ! "เอเธนส์เกมส์ 2004" เจ้าภาพโอลิมปิกที่จัดครั้งเดียวเป็นหนี้บาน (ภาพ)

กีฬาโอลิมปิก ฤดูร้อน ถือเป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งมวลมนุษยชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งประสบการณ์ที่ดีกับหลายเมืองใหญ่ ที่ใช้มหกรรมกีฬาระดับโลกนี้เป็นการโปรโมทประเทศ หรือพลิกฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่ โอลิมปิก ที่น่าจดจำสำหรับ ประเทศกรีซ เจ้าภาพเอเธนส์เกมส์ 2004 ที่ทำให้พวกเขาประสบปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างที่ใช้เงินจำนวนมหาศาลจากการวางแผนงานที่ผิดพลาดจนทำให้เกิดความล่าช้า รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรมากมาย

ชะตากรรมของของสนามแข่งขัน และสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ได้ถูกใช้งานถูกทิ้งให้มีสภาพรกร้าง เต็มไปด้วยรอยสนิม และวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมไปทั่ว ทั้งที่มันถูกลงทุนไปมากถึง 8.5 พันล้านยูโร (ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท) และกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวมาอย่างยาวนานของกรีซ

สไปรอส คาปราลอส หัวหน้าคณะกรรมการโอลิมปิกกรีซ กล่าวว่าบทเรียนที่ได้รับจากเอเธนส์ "ก็คือ ในโลกยุคปัจจุบัน เมืองที่ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ไม่ควรพยายามสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกถาวรซึ่งจะไม่มีประโยชน์ในภายหลัง"

"มันไม่ใช่ความลับที่ประเทศของเราใช้เงินจำนวนมากในการก่อสร้างอาคารมากมาย แต่หลังจากการก่อสร้างแล้ว ก็ไม่มีงบประมาณในการดูแล และทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย"

ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา รัฐบาลกรีซ สั่งปิดสนามกีฬาโอลิมปิกในกรุงเอเธนส์ หลังจากหลังคาเหล็กหนัก 18,000 ตัน ของสนามดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของมหกรรมกีฬาปี 2004 ไม่ผ่านการทดสอบในด้านความปลอดภัย

ด้าน คอสตาส คาร์ตาลิส หัวหน้างานระดับสูงของรัฐบาลในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างระหว่างปี 2001-2004 กล่าวว่า "หลายสถานที่ถูกลืม ผมอยากบอกว่านี่เป็นปัญหาถาวรเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ"

ซึ่งหกปีหลังการแข่งขันโอลิมปิก ประเทศกรีซ ตกอยู่ในวิกฤติหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานเกือบทศวรรษ หลังจากทางรัฐบาลได้ทำการรายงานข้อมูลการประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนักให้สหภาพยุโรปรับทราบ

ในปี 2011 ฌักส์ โรคเคอ อดีตประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลคนที่ 8 เคยออกมาเปิดเผยถึงเรื่องหนี้ของกรีซ เอาไว้ว่าอาจมีการทุจริตภายในกันเอง "คุณสามารถพูดได้เต็มปากว่า โอลิมปิก 2004 มีส่วนที่ทำให้เกิดผลกระทบกับปัญหาเรื่องหนี้ของพวกเขา"

"มันอาจมีการจัดฉากโดยมีกลุ่มคนบางกลุ่มกอบโกยเงินจำนวนมาก ทั้งที่ค่าการก่อสร้างอาจไม่ได้ใช้ทุุนมหาศาลอย่างที่รายงานกัน การก่อสร้างมีความล่าช้าจนทำให้ต้องเร่งก่อสร้างแบบ 24 ชั่วโมง และเมื่อมีการทำงานในตอนกลางคืนก็จะมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าเดิม"

"สำหรับประเทศเล็กๆ การได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้นดูจะเป็นภาระที่ใหญ่จนเกินไป" คาร์ตาลิส ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์คนสำคัญด้านฟิสิกส์สิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศ แสดงมุมมอง

นั่นทำให้เกิดแนวคิดโอลิมปิกยุคใหม่ ว่าหากการเสนอตัวจัดการเป็นเจ้าภาพกีฬาใหญ่ๆ แล้วดำเนินไปด้วยแผนงานเหมือนเดิม ทุกชาติก็คงจะประสบปัญหาเดียวกันต่อไปเหมือนเดิม ซึ่งแม้ว่าการท่องเที่ยวอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายเมืองพร้อมเสนอตัวจัดมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ แต่ท้ายสุดทุกเมืองก็จะต้องหาทางจัดการกับสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นอยู่ดี

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.