มันเป็นแบบนี้! ระบบการตัดสินคะแนน "กติกามวยไทย" ของศึก ONE
คู่ชิงแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นเฟเธอร์เวต ระหว่าง “ตะวันฉาย vs โจ ณัฐวุฒิ” ภาคสอง จบแบบมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งฝั่งที่เห็นด้วยกับคำตัดสินของกรรมการ และฝั่งที่เห็นต่าง
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของคะแนน และรับชมการแข่งขันอย่างสนุก และยุติธรรมในไฟต์ต่อ ๆ ไป เรามาทำความรู้จักกติกามวยไทยที่ ONE ใช้ในการตัดสิน อันเรียกว่าระบบ “คะแนนเต็ม 10” ให้มากขึ้นกว่าที่เคยรู้กันค่ะ
"ระบบคะแนนเต็ม 10" หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า 10-point must system เป็นระบบการให้คะแนนตามมาตรฐานสากล คือ กรรมการ 3 คนนั่งคนละมุมของเวที จะให้คะแนนทุก ๆ ยก ถ้าการแข่งขันมี 5 ยก ก็ให้คะแนนทีละยกทั้ง 5 ยก
เมื่อเริ่มต้นยก นักกีฬาจะได้คะแนนเต็ม 10 เท่ากัน นักกีฬาที่ออกอาวุธได้เข้าเป้ากว่า ทำได้ดีกว่า จะได้คะแนนเต็ม 10 ส่วนอีกคนจะได้ 9 ถ้าสูสีกันมากจนพิจารณาแล้วไม่เห็นความแตกต่าง กรรมการสามารถให้คะแนนเท่ากันในยกนั้น ๆ ได้
ในแต่ละยกหากนักกีฬาถูกนับ 1 ครั้ง คนที่ถูกนับจะถูกตัดคะแนนเหลือ 8 | ถ้าถูกนับ 2 ครั้ง จะถูกตัดคะแนนเหลือ 7 | หากมีการนับครั้งที่ 3 จะถูกจับแพ้ตามกติกา (ถูกนับ 3 ครั้งใน 1 ยก หรือถูกนับ 4 ครั้งใน 1 ไฟต์ จะถูกจับแพ้)
หลังจบแต่ละยก ไม่ว่ายกที่แล้วนักกีฬาจะได้คะแนนเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อขึ้นยกใหม่คะแนนจะเริ่มเต็ม 10 เท่ากันทั้งสองฝ่าย เช่นนี้ไปทุกยก
หลังสิ้นสุดการแข่งขันครบทุกยก กรรมการจะนำคะแนนแต่ละยกมารวมกัน เพื่อหาผู้ชนะตามความเห็นของกรรมการแต่ละคน จากนั้นจะมีการรวบรวมใบคะแนนจากกรรมการทั้ง 3 คน เพื่อสรุปหาผู้ชนะเพียงคนเดียว
▪️ หากกรรมการ 3 คน ให้คะแนนผู้ชนะเป็นคนเดียวกัน จะเรียกว่า ชนะคะแนนเอกฉันท์ (Unanimous Decision)
▪️ หากกรรมการ 2 คน ให้คะแนนฝ่ายหนึ่งชนะ และ 1 คนให้อีกฝ่ายชนะ จะเรียกว่า ชนะคะแนนไม่เอกฉันท์ (Split Decision)
▪️ หากกรรมการ 2 คน ให้คะแนนฝ่ายหนึ่งชนะ และ 1 คนให้เสมอ จะเรียกว่า ชนะคะแนนเสียงข้างมาก (Majority Decision)
▪️ หากกรรมการ 2 คน ให้เสมอ และ 1 คนให้ฝ่ายหนึ่งชนะ จะเรียกว่า ชนะคะแนนเสียงข้างมากเสมอ (Majority Draw)
▪️ หากกรรมการ 3 คน ให้คะแนนทั้งสองฝ่ายเสมอกัน จะเรียกว่า เสมอ (Draw)
เนื่องด้วย ONE ไม่มีผลเสมอ กรณีมี “ชนะคะแนนเสียงข้างมากเสมอ” หรือ “เสมอ” เกิดขึ้น กรรมการที่ให้ผลเสมอ จะต้องกลับไปทบทวนเลือกผู้ชนะ โดยใช้หลักการพิจารณาตามลำดับความสำคัญที่ลดหลั่นกันไป ดังนี้ การน็อกดาวน์ (ดังที่เรามักเห็นว่า นักกีฬาที่ได้นับมักจะเป็นฝ่ายชนะ เพราะด้วยเหตุนี้) การสร้างความเสียหายให้กับคู่แข่ง การออกอาวุธที่ชัดเจน การควบคุมเกม การเป็นฝ่ายเดินเข้าทำ (คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การเดินเข้าทำสำคัญที่สุด เป็นเรื่องเข้าใจผิด) เมื่อกรรมการเลือกผู้ชนะได้แล้ว จะเข้าสู่การสรุปหา “ผู้ชนะคะแนนเอกฉันท์” หรือ “ผู้ชนะคะแนนไม่เอกฉันท์” ตามที่อธิบายมาแล้วข้างต้น
การเห็นพ้องหรือเห็นต่างของกรรมการเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุปัจจัยที่กรรมการนั่งกันละมุมของเวที จึงทำให้มีมุมมองการเห็นอาวุธแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการแข่งขันระหว่าง “ตะวันฉาย vs โจ ณัฐวุฒิ” นั้นสูสีบี้เบียดกันมาก เรียกว่าตอบโต้กันแบบช็อตต่อช็อต ทีต่อที
กรรมการทั้ง 3 ท่าน ต่างมีความเห็นเหมือนและต่างกันในบางยก ทำให้บทสรุปคะแนนออกมาที่ ตะวันฉาย ต่อ โจ ณัฐวุฒิ 48:48, 48:47 และ 49:46 เท่ากับว่า "ตะวันฉาย" ชนะคะแนนเสียงข้างมาก ตามที่อธิบายไปแล้วข้างต้นนั่นเอง
นักกีฬาทั้งคู่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ กรรมการปฏิบัติหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ภายใต้กรอบของกติกา วิชาความรู้ ประสบการณ์ และชื่อเสียงที่สั่งสมมาในการประกอบอาชีพ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.