เปิดปม "แนวรุก" อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังห่างไกลจากทุกคู่แข่งฤดูกาลนี้ - FEATURE

เข้าสู่เดือน พ.ย. และการผ่าน 11 เกมแรกของ พรีเมียร์ลีก คงหมายถึงการที่คุณควรตั้งหลักสร้างมาตรฐานได้แล้ว หากหวังจะประสบความสำเร็จกับฤดูกาลนี้ อย่างไรก็ตาม กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลายเป็นว่า นานวันก็ยิ่งเจอปัญหา โดยพบว่า "แนวรุก" คืออีกหนึ่งความถดถอย และจัดเป็นข้อแตกต่างที่ทำให้ทีมของ เอริค เทน ฮาก ตามหลังชาวบ้านเขาเป็นช่วงตัว

แมนฯ ซิตี้ 28 ประตู / 20 ลูกจากกองหน้า

เออร์ลิ่ง เบราท์ ฮาแลนด์ 11 ประตู

ฮูเลียน อัลวาเรซ 4 ประตู

ฟิล โฟเด้น 3 ประตู

เชเรมี่ โดคู 2 ประตู

ชัดเจนว่านี่คือภาพสะท้อนปรัชญาการทำทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ว่าคุณจะเล่นแบบไหน ต่อบอลแบบใด ครองบอลเหนือคู่แข่งด้วยวิธีไหนก็ได้ แต่ท้ายสุด คุณต้องจบให้ลง ยิงให้เข้า และต้องมี "ดาวยิง" ที่สามารถพึ่งพาได้อย่างจริงจัง

 

นั่นเองคือคำตอบของการที่เคยมี เซร์คิโอ อเกวโร่ เป็นตัวความหวัง และจากนั้นก็ส่งไม้ต่อให้กับ เออร์ลิ่ง เบราท์ ฮาแลนด์ ที่ดูจะ "ทำได้ดีกว่า" เสียอีก (เวลาเดียวกัน กาเบรียล เชซุส ก็โดนคัดทิ้งไป)

ฮาแลนด์ กระหน่ำ 52 ประตูในซีซั่นที่แล้ว เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของการคว้า 3 แชมป์ประวัติศาสตร์ และในขณะที่ใครต่อใครต่างมองว่าปีนี้เกมรุก แมนฯ ซิตี้ ดู "อ่อนลง" จากการเสีย เควิน เดอ บรอยน์ เจ็บหนักพักยาว (และ ริยาด มาห์เรซ ย้ายออก) แต่ที่จริง มาตรฐานก็แทบไม่ต่าง ฮาแลนด์ ยังยิงสลุตอย่างสนุกสนาน กดแล้ว 11 ประตูจาก 11 เกม (ที่ลง) ส่วน ฮูเลียน อัลวาเรซ ก็ทำได้ดีเมื่อมีโอกาสลงบ่อยขึ้น และแนวรุกเรือยังได้ต้อนรับ "วันเดอร์คิด" คนใหม่อย่าง เชเรมี่ โดกู ที่ล่าสุดยิง 1 แอสซิสต์ 4 ในเกมถล่ม บอร์นมัธ 6-1

บรรดา "แนวรุก" ของ แมนฯ ซิตี้ ช่วยกันยิงแล้วถึง 20 ประตูหลังจากผ่าน 11 นัด มากกว่า "แนวรุก" แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่มากไม่มาย... 20 เท่า (20:1) แค่นั้นเอง

FBL-ENG-PR-MAN UTD-MAN CITY สเปอร์ส 22 ประตู / 11 ลูกจากกองหน้า


  • ซน ฮึง-มิน 8 ประตู

    เดยัน คูลูเซฟสกี้ 2 ประตู

    ริชาร์ลิซอน 1 ประตู

ก่อนถึงเกมมันเดย์ไนท์กับ เชลซี (จันทร์ 6 พ.ย.) ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ กลายเป็นทีมเดียวที่ยังคง "ไร้พ่าย" ใน พรีเมียร์ลีก ซีซั่นนี้ เมื่อ อาร์เซน่อล หลุดแพ้ไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันเสาร์

และแน่นอนว่า ต้องชมเชย อันเก้ ปอสเตโคกลู เป็นพิเศษ กับการสร้างทีมให้ "ไม่ได้แย่ลงเลย" ทั้งที่ต้องสูญเสียดาวยิง 280 ประตูอย่าง แฮร์รี่ เคน ปิดตำนานย้ายออกไปเมื่อซัมเมอร์

 

อย่างไรก็ตาม ภาระการจบสกอร์สูงสุดเป็น ซน ฮึง-มิน กัปตันทีมคนใหม่ที่แบกเอาไว้ ด้วยการยิงไปแล้ว 8 ประตู ในขณะที่ เดยัน คูลูเซฟสกี้ ยิงแค่ 2 และ ริชาร์ลิซอน 1 เม็ดถ้วนๆ

James Maddison, Son Heung-min, Richarlison อาร์เซน่อล 23 ประตู / 14 ลูกจากกองหน้า


  • เอ๊ดดี้ เอ็นเคเทียห์ 5 ประตู

    บูกาโย่ ซาก้า 4 ประตู

    เลอันโดร ทรอสซาร์ 2 ประตู

    กาเบรียล เชซุส 1 ประตู

    กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ 1 ประตู

    ไค ฮาแวร์ตซ์ 1 ประตู

อาจหลุดแพ้เกมแรกแล้วก็จริง แต่ก็เป็นการแพ้ที่พอเข้าใจได้ รวมถึงเกิดจังหวะตัดสินที่ไม่ค่อยเข้าทาง มิเกล อาร์เตต้า และชาวคณะปืนโต สักเท่าไหร่

 

จนถึงตอนนี้ ถือว่า อาร์เซน่อล มีคุณภาพเกมรุกที่ยอดเยี่ยมทีเดียว ในแง่ของการ "กระจายหน้าที่" โดยมีศูนย์หน้าและตัวริมเส้นถึง 6 รายที่ใส่สกอร์ได้ไปแล้ว รวมถึงคนที่ยังดูสับสนๆ ว่าจะเป็นหน้าหรือกลางอย่าง ไค ฮาแวร์ตซ์ ก็ยังยิงแล้ว 1 ตุง

แต่อย่างไรก็ตาม อาร์เซน่อล ยังขาดมือสังหารโหดๆ ไป (อย่างที่ แมนฯ ซิตี้ มี ฮาแลนด์) เมื่อ เอ๊ดดี้ เอ็นเคเทียห์ เจ้าของ 5 ลูก ยังไม่ค่อยนิ่ง ส่วนทาง กาเบรียล เชซุส เพิ่งกดไปลูกเดียวเท่านั้นเอง

Bukayo Saka, Eddie Nketiah ลิเวอร์พูล 24 ประตู / 20 ลูกจากกองหน้า


  • โมฮาเหม็ด ซาลาห์ 8 ประตู

    ดาร์วิน นูนเยซ 4 ประตู

    ดีโอโก้ โชต้า 3 ประตู

    หลุยส์ ดิอาซ 3 ประตู

    โคดี้ กัคโป 2 ประตู

เมื่อทุกคนหายเจ็บกลับมาแล้ว ตัวเลือกแนวรุกของ เยอร์เก้น คล็อปป์ ก็จัดว่า "ล้นมือ" และถือว่าแต่ละคนก็แจ่มๆ พึ่งพาได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะเจ้าเก่าอย่าง โม ซาลาห์ ที่กดแล้ว 8 ประตู

ในวัย 31, การอยู่เล่นกับทีมเป็นปีที่ 7 และการไม่ได้ย้ายไปโกยเงินอู้ฟู่ที่ โปรลีก ซาอุฯ เมื่อซัมเมอร์ จนถึงตอนนี้ ซาลาห์ ยังคงเดินหน้าสร้างผลงานน่าประทับใจกับ ลิเวอร์พูล อยู่ต่อไป ซึ่งถ้านับรวมทุกถ้วย ดาวยิงอียิปต์ก็กดแล้ว 10 ประตูจาก 13 เกม

ยังชัดเจนว่า 5 กองหน้าของ ลิเวอร์พูล ล้วนแต่มีสกอร์แล้วทั้งหมดใน พรีเมียร์ลีก ซีซั่นนี้ ดังนั้นถือว่าเกมรุกไม่ใช่ปัญหาของทีมหงส์แดงเลย

Darwin Núñez, Mohamed Salah แอสตัน วิลล่า 26 ประตู / 13 ลูกจากกองหน้า

  • โอลลี่ วัตกิ้นส์ 5 ประตู

    ลีออน ไบลี่ย์ 3 ประตู

    มุสซ่า ดิยาบี้ 3 ประตู

    ยอห์น ดูรัน 2 ประตู

พลิกแพ้ต่อ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ในเกมคู่แรกของวันอาทิตย์ แต่ก็เพิ่งเป็นการแพ้นัดที่ 3 เท่านั้นของ แอสตัน วิลล่า ในมือ อูไน เอเมรี่ ซีซั่นนี้

อดีตกุนซือ อาร์เซน่อล เข้ามายกระดับ แอสตัน วิลล่า ขึ้นได้อย่างน่าทึ่ง และทำให้เกมรุกของทีมสิงห์ผงาดดีขึ้นกว่าชุดก่อนๆ อย่างชัดเจน ด้วยการมี โอลลี่ วัตกิ้นส์ อดีตดาวยิง เบรนท์ฟอร์ด เป็นตัวชูโรง ซีซั่นที่แล้วกด 16 ประตู มาปีนี้ก็สอยแล้ว 5 ประตูในลีก และ 9 ประตูในทุกถ้วย

ยังมี ลีออน ไบลี่ย์, มุสซ่า ดิยาบี้ และ ยอห์น ดูรัน ที่แต่ละคนก็ล้วนแต่ยิงได้มากกว่ากองหน้า แมนยู ทุกคนมัดรวมกัน

Ollie Watkins, Moussa Diaby นิวคาสเซิ่ล 27 ประตู / 19 ลูกจากกองหน้า

  • คัลลั่ม วิลสัน 7 ประตู

    อเล็กซานเดอร์ อิซัค 6 ประตู

    แอนโธนี่ กอร์ดอน 4 ประตู

    มิเกล อัลมิรอน 2 ประตู

เอ๊ดดี้ ฮาว พลิกกระดานจากการแพ้ 3 นัดรวดตอนต้นซีซั่น มาเป็นทีมผู้ท้าชิงท็อปโฟร์อย่างเต็มตัวอีกครั้ง พร้อมกับที่กระหน่ำประตูไปแล้ว 27 ลูก เป็นรองแค่จ่าฝูงและแชมป์เก่า แมนฯ ซิตี้ ทีมเดียวเท่านั้น

 

ทั้งที่จริงๆ แล้ว ตัวเลือกแนวรุกของ ฮาว ไม่ได้มีเยอะแยะเลย แต่ทุกคนสามารถสร้างผลงานจับต้องได้ทั้งสิ้น เริ่มจากหน้าเป้า คัลลั่ม วิลสัน กับ อเล็กซานเดอร์ อิซัค ที่มีแล้ว 7 กับ 6 ประตูตามลำดับ กับสองตัวริมเส้นฟอร์มร้อนอย่าง แอนโธนี่ กอร์ดอน กับ มิเกล อัลมิรอน ที่มี 4 กับ 2 ประตูตามคิว

จึงเช่นเดียวกับทีมใหญ่ทุกราย ว่า นิวคาสเซิ่ล มี "เกมรุก" เป็นทีเด็ด มีคุณภาพสูง และอยู่ต่างระดับกับ แมนฯ ยูไนเต็ด เหมือนอยู่กันคนละโลก

Anthony Gordon, Callum Wilsonเชลซี 13 ประตู / 10 ลูกจากกองหน้า


  • ราฮีม สเตอร์ลิ่ง 3 ประตู

    นิโคลัส แจ๊คสัน 2 ประตู

    มิไคโล มูดริค 2 ประตู

    โคล พาล์มเมอร์ 2 ประตู

    อาร์มันโด้ โบรย่า 1 ประตู

แม้กระทั่ง เชลซี ที่ทุกฝ่ายต่างมองเห็นว่า "มีปัญหาเกมรุก" เชื่อหรือไม่ว่า ก็ยังดีกว่า แมนยู อยู่นั่นแหละ

 

ก่อนดาร์บี้แมตช์กับ สเปอร์ส จันทร์นี้ (6 พ.ย.) เชลซี ซึ่งจมอันดับ 13 นั้น ยิงประตูรวมกันทั้งทีมได้แค่ 13 ลูกจาก 10 นัด ซึ่งดีกว่า แมนยู แค่ลูกเดียวถ้วน

แต่ข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่ในนั้น คืออย่างน้อย เชลซี ได้ประตูจากบรรดา "แนวรุก" ถึง 10 ลูกแล้ว นำโดย ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ที่กดแล้ว 3 ตุง และ นิโคลัส แจ๊คสัน - มิไคโล มูดริค - โคล พาล์มเมอร์ ที่มี 2 ลูกเท่ากันหมด รวมถึงหัวหอกกระดูกยุงอย่าง อาร์มันโด้ โบรย่า ก็ยังมีสกอร์แล้วเหมือนกัน จากการลงสนาม 3 นัด

อาจใช่ว่าเมื่อเทียบกับราคาค่าตัวของแต่ละคน ผลงานแค่นี้ยังไม่คุ้มค่า และทุกคนยังต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป (เช่นเดียวกับ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่) แต่เมื่อวัดกันในแง่ของข้อเท็จจริงแล้ว อย่างไรเสียก็ยังดีกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด อยู่ดี

และจาก 7-8 ตัวเลือกเกมรุกสิงห์ ถ้าไม่นับ คริสโตเฟอร์ เอ็นคุนคู ที่เจ็บหนักพักยาวตั้งแต่ยังไม่เริ่มซีซั่นแล้ว ก็มีเพียง โนนี่ มาดูเอเก้ รายเดียวเท่านั้นที่เป้าสะอาด ยังยิงไม่ได้

Mauricio Pochettinoแมนฯ ยูไนเต็ด 12 ประตู / 1 ลูกจากกองหน้า


  • มาร์คัส แรชฟอร์ด 1 ประตู

    ราสมุส ฮอยลุนด์ 0

    อองโตนี่ มาร์กซิยาล 0

    อันโตนี่ 0

    อเลฮานโดร การ์นาโช่ 0

    เจดอน ซานโช่ 0

แมนฯ ซิตี้ ถูกปรามาสว่าคุณภาพเกมรุกด้อยลง

สเปอร์ส เปลี่ยน "เดอะแบก" ไปสู่ ซน ฮึง-มิน

อาร์เซน่อล ยังขาดดาวยิงเพชฌฆาต

ลิเวอร์พูล อาจมีบางนัดที่ออกลูกฝืดพร้อมกัน

แอสตัน วิลล่า ยังถูกตั้งคำถามในระยะยาว

นิวคาสเซิ่ล ตัวเลือกน้อยแม้จะต่อยหนัก

เชลซี ยังแก้ปัญหาหน้าเป้าไม่สำเร็จ

 

แต่ปัญหาทั้งหมดทั้งมวล เป็น "เรื่องจิ๊บๆ" ไปเลยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ แมนยู กำลังเป็น

เพราะสถิติที่ลงไว้ข้างต้น บอกไว้หมดสิ้นแล้ว ว่าถึงตรงนี้ที่ 11 เกมผ่านไป แนวรุกของ เอริค เทน ฮาก "มีสกอร์" แค่คนเดียวและประตูเดียวถ้วน คือที่ มาร์คัส แรชฟอร์ด ยิงใส่ อาร์เซน่อล เกมแพ้ 1-3 เมื่อต้นเดือน ก.ย.

นอกนั้นอีก 11 ประตูที่ทำได้ กลายเป็นมิดฟิลด์อย่าง บรูโน่ แฟร์นันเดส และ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ ที่ยืนแท่นดาวซัลโวสูงสุดของทีม หลังกดแล้วคนละ 3 ประตูเท่ากัน...และถ้านับรวมทุกรายการ ก็กลับกลายเป็นกลางรับอย่าง กาเซมิโร่ ที่เป็นดาวซัลโว 4 ประตูไปเสียอย่างนั้น

ใช่ที่แฟนปีศาจแดงค่อนข้างคุ้นชินอยู่แล้วกับปัญหา "ขาดแคลนดาวยิง" ที่เป็นมาในหลายปีหลัง แต่ชัดเจนว่าสถานการณ์ของปีนี้คือ "เรื่องใหม่" มากๆ เมื่อแนวรุกทั้ง 6-7 ตัวเลือก ต่างก็ไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีได้เลย

แรชฟอร์ด เหมือนผีสากกะเบือเข้าสิง ทัศนคติการเล่นมีปัญหา ทั้งที่ซีซั่นก่อนนี้เองเพิ่งกดรวม 30 ประตูทุกรายการ

 

ราสมุส ฮอยลุนด์ กดแล้ว 3 ลูกในถ้วยยุโรป แต่ดูยังต้องปรับอีกเยอะเลยกับสไตล์การเล่นถึงเนื้อถึงตัวใน พรีเมียร์ลีก อีกทั้งรอบข้างก็ไม่เอื้อให้โชว์ฟอร์มด้วย

อองโตนี่ มาร์กซิยาล เป็นคำถามที่แฟนบอลต่างก็สงสัย ว่า เทน ฮาก จะเลือกเก็บไว้อีกทำไม (แม้จะพอรู้คำตอบแหละว่าถึงอยากขายก็ "ขายไม่ออก")

อันโตนี่ นับวันยิ่งจะกลายเป็น 82 ล้านปอนด์ที่สูญเปล่า ซีซั่นนี้ 11 นัดไม่มีทั้งยิงทั้งจ่าย กระทั่งเลี้ยงผ่านก็นับครั้งได้ กลายเป็นนิยามของปีกสมัยใหม่...ถ้าไม่ส่งคืนหลังก็ยิงข้ามคาน

อเลฮานโดร การ์นาโช่ ยังดิบและเด็กเกินกว่าจะฝากความหวังได้ในวัย 19

เจดอน ซานโช่ ปีก 73 ล้านปอนด์ ถ้าไม่ถูกขายตลาดหนาวนี้ ก็คงเป็นเพราะ เทน ฮาก โดนเด้งไปก่อนแล้ว

ส่วน เมสัน เมาท์ ตกลงย้ายมาทำไม และตำแหน่งไหนที่เหมาะสมที่สุด กันแน่

หนึ่งคือฟอร์มการเล่นส่วนตัวของแต่ละคน ออกทรงน่าผิดหวังมากกว่าอย่างอื่น สองคือการประสานงานร่วมกันในแต่ละเกมเป็นไปอย่างติดขัดและขาดเกิน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเกิดจากคุณภาพฝีเท้าของนักเตะ หรือแนวทางการฝึกซ้อม มากกว่ากัน

 

1 ประตูจาก 11 นัด อย่าว่าแต่แย่กว่าทีมระดับท็อป แม้แต่ทีมท้ายแถวปลายตารางก็ยังมีเกมรุกที่จับต้องได้กว่านี้ด้วยซ้ำ

ในขณะที่ เทน ฮาก ยังคงให้สัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจว่า "อีกเดี๋ยวก็ดี" แต่สิ่งที่แฟนๆ อยากเห็นไม่ใช่แค่ลมปาก แต่เป็นการสร้างผลงานจริงๆ จังๆ ในสนามต่างหาก

ซึ่งถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้โดยไว เทน ฮาก ก็ควรต้อง "พิจารณาตนเอง" เท่านั้น ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้...

Marcus Rashford, Antony, Bruno Fernandes

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.