นายกฯ เร่งไทยบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference : TCAC 2) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยระบุว่า

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนและทวีความรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและพยายามอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับวิกฤตสำคัญนี้ การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เวทีนี้จึงเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิด สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ และร่วมกันขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้

ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในวาระสำคัญ ตั้งแต่การเข้าร่วมการประชุม UNGA78 ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยหารือร่วมกับผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมถึงได้เน้นย้ำอย่างหนักแน่นไปยังประชาคมโลกถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมาย SDGs

ไทยยืนยันกับโลกว่ายังคงมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ ภายในปี 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้ข้อตกลงปารีส 

นอกจากนี้ ไทยยังเพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution) จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030 โดยรัฐบาลได้นำเป้าหมายเหล่านี้ บูรณาการในนโยบายที่สำคัญของประเทศ ซึ่งรวมถึงในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13

รัฐบาลให้ความสำคัญกับ “โอกาส” ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมด้านการผลิตและการบริโภค โดยยึดหลักความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งต้องได้รับความร่วมมืออย่างแข็งขันและสร้างสรรค์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

นอกจากนี้ รัฐบาลตระหนักถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง จึงจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนายกรัฐมนตรีผลักดันให้ผ่านพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ ซึ่งส่วนนี้จะวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

นายกรัฐมนตรี ยังเห็นถึงโอกาสสำหรับประเทศไทยและภาคเอกชนในการก้าวไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งหลายองค์กรได้ผลักดันและส่งเสริมมาตรการที่ยั่งยืนในปัจจุบัน โดยรัฐบาลเตรียมการเพื่อก้าวไปพร้อมกับองค์กรเหล่านี้ อาทิ การเตรียมการผลิตภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ สำหรับการบังคับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ในระยะแรก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอลูมิเนียม ก่อนการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2026 

ส่วนการประชุม COP28 ที่กำลังจะมาถึง นายกรัฐมนตรียืนยันความมุ่งมั่นที่จะให้มีการสนับสนุนในหลายมิติ เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยี การสนับสนุนทางการเงิน และการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อให้มั่นใจว่าจะบรรลุตามเป้าหมายร่วมกัน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.