3จว.ชายแดนใต้รอลุ้นเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯส่อใช้กฎอัยการศึกคุมแนวตะเข็บ
นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ใกล้ครบกำหนด 1 เดือนหรือไม่โดยหลักเป็นเรื่องของรัฐบาล หากมีนโยบายอย่างไร กระทรวงกลาโหมไม่ขัดข้อง ขณะนี้ทราบว่ารัฐบาลและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ไม่ต้องการที่จะต่อยาวเพราะเคารพเสียงประชาชนและคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นรัฐบาลก็ทำที่จำเป็นและกระทรวงกลาโหมก็เห็นสอดคล้องกัน
"ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์จากในพื้นที่เป็นหลัก แต่หากสถานการณ์ยังเหมือนเดิมอยู่ก็จำเป็นต้องต่ออายุ หากสถานการณ์ดีขึ้นก็ไม่ต้องต่อ หลักคิดบนพื้นฐานเพียงเท่านี้" นายสุทิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสุทินให้ความเห็นว่า กรณีไม่มีการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เครื่องมือพิเศษที่จะให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ในพื้นที่โดยเฉพาะตามแนวชายแดนคือกฎอัยการศึกแต่ประชาชนจะรับได้หรือไม่
ก่อนนี้เมื่อวันที่ 18กันยานยน2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือนมีการมอบหมายให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) มีอำนาจหน้าที่ติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จัดแนวทางการดำเนินงานให้เร็วและรัดกุมยิ่งขึ้น
ส่วนท่าที นายสมศักดิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่3ตุลาคม 2566 ว่า ยังไม่มีธง ยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่ขอสงวนพื้นที่ที่ติดชายแดนในการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาก่อน
ผลการขยายการใช้กฎหมายพิเศษเพียง 1 เดือน พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับว่า มีผลกระทบต่อการทำงานของทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ โดยเฉพาะการติดตามคดีความมั่นคง แต่ถ้าจะยกเลิกก็ต้องปรับสภาพการทำงานให้ได้ โดยมีการแจ้งเหตุผลให้รัฐบาลรับทราบในข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือต่อทีละ 1 เดือน 3 เดือน หรือถ้าคงไว้บางพื้นที่ก่อน จะเป็นอย่างไร จากนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลตัดสินใจ
พร้อมระบุอีกว่า ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงมีแผนเตรียมการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในบางอำเภอทุกปีอยู่แล้ว ปัจจุบันก็ยกเลิกไปเกือบครึ่งทาง จากทั้งหมด 37 อำเภอ ซึ่งก็มีเหตุกลับมาอีกบ้าง แต่ไม่รุนแรงนัก
อ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ มองว่า น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับที่พรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ และคงต้องชัดเจนมากขึ้น ว่าพื้นที่ไหนจะกลับไปใช้กฎหมายปกติ พื้นที่ไหนอาจต้องคงกฎหมายพิเศษไว้ก่อน แต่ก็มองว่าตำรวจยังต้องการ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อขยายผลการควบคุมตัว การสืบสวนสอบสวน และในฐานะที่เคยร่วมร่างกฎหมายความมั่นคงมา เห็นว่า ถ้ารัฐต้องการใช้กฎหมายนี้แทนจริงๆ ก็อาจต้องแก้ไขปรับปรุงให้สอดรับกับการปฏิบัติงาน เพราะดูจะใช้งานยากกว่า โดยนำเอาส่วนดีของกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมเข้าไปด้ว
อ.ปณิธาน ยังบอกด้วยว่า พ.ร.บ.มั่นคง มีอยู่ 2 ส่วนคือ ที่บังคับใช้ปกติ กับอีกส่วนที่ต้องทำแผนเพื่อประกาศพื้นที่ จริงๆ ก็คล้ายกับการทำงานของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เจ้าหน้าที่อาจไม่ได้รับการคุ้มครองเหมือน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั่นเอง
ส่วนฝั่งของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ ยืนยันว่า ไม่ว่าจะใช้กฎหมายอะไร เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอภิสิทธิ์ หรือสิทธิพิเศษใดๆ เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกัน ทำผิดก็ถูกฟ้องร้อง แต่ต้องยอมรับว่า ผลสัมฤทธิ์จากการใช้กฎหมายพิเศษนั้นมีอยู่จริง และใช้ได้ผลในการขยายความเชื่อมโยงของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.