''สุวัจน์''ชูจุดแข็งประเทศ อีสานธงนำสร้างเศรษฐกิจอยู่ดีกินดี

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดการสัมมนา ISAN NEXT: พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมกล่าวเปิดการสัมมนาในหัวข้อ ''เปิดอีสาน เปิดประตูสู่เวทีโลก'' ว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นการทางออกสถานการณ์เศรษฐกิจไทย โดยใช้พื้นฐานภาคอีสาน โดยได้ย้ำถึงปัจจัยภายในประเทศ ที่ส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่มีทั้งจำนวนหนี้สาธารณะที่สูง 65 เปอร์เซ็นของ GDP ประเทศ จนเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น และยังมีหนี้ครัวเรือนของภาคประชาชน ที่มีมูลค่าเกือบ 90 เปอร์เซ็นของ GDP

ดังนั้น หนี้ 2 ก้อนนี้ จึงเป็นภาระที่หนัก และกระทบเครดิต-เรตติ้ง และพื้นที่การคลังของประเทศในการพัฒนาประเทศ ส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศโดยตรง รวมถึงยังมีปัญหาการเติบโต GDP ของประเทศต่ำเกือบ 20 ปีต่อเนื่อง และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดต่ำลง ระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ผลกระทบปัจจุบัน รวมถึงภาคการผลิต และอุตสาหกรรมไทย ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างฉับพลัน ไม่ทันสมัย จึงเสียเปรียบอุตสาหกรรมต่างชาติ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ที่ประเทศไทยเคยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน

แต่ปัจจุบันแนวโน้มโลกมีอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่ ซึ่งหากประเทศไทยปรับตัวไม่ทัน ผู้ประกอบการก็จะค่อย ๆ หายไป รวมทั้งประเทศไทย ยังประสบปัญหาสังคมสูงอายุ ที่มี 20 เปอร์เซ็นของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และในอนาคตจะมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ประชากร และกำลังการผลิตของประเทศหายไป งบประมาณที่ใช้สำหรับการดูแลผู้สูงวัยก็จะต้องจะต้องใช้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโดยตรง 

นายสุวัจน์ ยังได้กล่าวถึง 5 ปัจจัยสำคัญภายนอกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งการเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ทั้งสงครามการค้า และสงครามจริง จนเกิดการจับขั้วของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ทำให้เขตภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุน เกิดการย้ายฐานการผลิต ทำให้เศรษฐกิจโลกผันแปรสูง และผลกระทบจากสถานการณ์สงคราม ทั้งที่เกิดในยูเครน และตะวันออกกลาง จนทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น สินค้าการเกษตรขาดแคลน ทำให้สินค้าต่าง ๆ ราคาสูงขึ้นตามมาด้วย

รวมถึงผลสืบเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ที่ทั่วโลกใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากมาแก้ไขปัญหา และมีการกู้เงินจำนวนมาก จนเกิดภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารต่าง ๆ ก็ปรับตัวที่สูงขึ้น เพื่อกดเงินเฟ้อให้ต่ำลงจนกระทบต่อธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นเดียวกัน

รวมทั้งยังมีการเข้ามาของเทคโนโลยี หรือ Technology Disruption และไลฟ์สไตล์สังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จนเกิดการผันผวนในอุตสาหกรรม และการทำธุรกิจ ทั้งในการผลิต การลงทุน และการจ้างงาน รวมถึงยังมีภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดวิกฤตอุบัติภัยทางธรรมชาติ ที่ทุกประเทศใช้จ่ายงบประมาณในการแก้ปัญหาภัยทางธรรมชาติ และขจัดภัยโลกร้อน ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่าย และมีผลต่อต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นจากมาตรการทางภาษี และการผลิต เพื่อแก้ปัญหา

นายสุวัจน์ ยังได้เสนอถึงการใช้จุดแข็ง และตัวตนของประเทศไทยที่แข็งแกร่งมาต่อยอด และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างการอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน เพื่อรักษาเศรษฐกิจไทย ทั้งการใช้จุดแข็งการเป็นประเทศเกษตร, จุดแข็งด้านอาหาร, จุดแข็งภาคบริการของประเทศ, จุดแข็งด้านการท่องเที่ยว และจุดแข็งด้านวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งถือเป็นทางออกที่ยั่งยืนในการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย และจุดแข็งเหล่านี้ส่วนหนึ่ง ก็อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ทั้งมีจำนวนประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ และมี GDP ที่คิดเป็นจำนวนราว 2,000,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นของ GDP ประเทศ และภาคอีสานยังมีผลผลิตด้านการเกษตรที่สมบูรณ์ ทั้งอ้อย, มัน และข้าว รวมถึงภาคอีสานยังมีเอกลักษณ์ทางด้านอาหาร และมีศิลปวัฒนธรรม-โบราณคดี มีสถานที่ท่องเที่ยวในภาคอีสานมากมาย และโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ที่สามารถเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ ทั้งถนน, รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ดังนั้น พื้นฐานโครงสร้างพื้นฐานนี้ จึงสามารถต่อยอดไปสู่ความเป็นสากล และต่อยอดเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ รวมทั้งอีสาน ยังเป็นขุมทรัพย์ด้านแรงงานของประเทศ สามารถรองรับการลงทุนได้ และยังเป็นพื้นที่ที่สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้ รวมถึงยังมียุทธศาสตร์พื้นที่ หรือชัยภูมิที่ภาคอีสาน เป็นประตูสู่อินโดจีน และเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด จึงถือเป็นความพร้อมของภาคอีสาน ในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก และวางนโยบายระยะยาว โดยใช้ภาคอีสานประเทศไทยเป็นพื้นฐาน


 
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ได้แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ''เปิดอีสาน เปิดประตูสู่เวทีโลก'' โดยนายสุวัจน์, ช่วงที่ 2 มูมมังอีสาน หรือ มรดกอีสาน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่จะกล่าวสัมมนาในหัวข้อ ''มูนมังอีสาน พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย'', หัวข้อ ''อีสาน ทำเลทองอินโดจีน ระเบียงเศรษฐกิจใหม่'' โดยนางสาวจินนา ตันศราวิพุธ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแะสังคมแห่งชาติ หรือ สศช., ''การท่องเที่ยวอีสาน ผ่าน Soft Power: จากอัตลักษณ์สู่ความยั่งยืน'' โดยนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ผู้ว่า ททท.

ช่วงที่ 3 อนาคตอีสาน อนาคตประเทศไทย ซึ่งจะนำกล่าวโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในหัวข้อ ''แก้หนี้คนอีสาน?'', ''อนาคตประเทศไทย: อีสานเชื่อมโลก'' โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ''ดิน น้ำ เส้นเลือดใหญ่เกษตรกรอีสาน'' โดย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบทสรุป ''ISAN NEXT: พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก'' โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 

่ช่วงที่ 4 ช่วงสุดท้าย ในเวลา 17.30 น. จะเป็นการบรรยายพิเศษโดยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ ''อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย'' ก่อนที่จะรับประทานอาหารเย็นร่วมกันในงาน ''DINNER สำรับโคราช'' และชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น Soft Power อีสาน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 

ทั้งนี้ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญของไทย ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นขุมทรัพย์ทางอาหาร แหล่งอารยธรรม และเป็นขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษ รุ่นสู่รุ่น ทำให้ภาคอีสานมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีศักยภาพในการเติบโต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และยังมีความได้เปรียบเชิงพื้นที่ด้านคมนาคมในอนาคต มีแนวโน้มของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่มีโอกาสการเติบโตอีกมาก ดังนั้น จัดสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสในการผลักดัน ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอีสาน ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในลำดับต่อไปด้วย 
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.