'กัมพล สุภาแพ่ง' หวั่นไทยถูกหั่นเครดิตเรตติ้งแนะรัฐบาลสร้างศก.เข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม นายกัมพล สุภาแพ่ง ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา เปิดเผยว่า หลังปรับปรุงรายงานฐานะทางการคลังปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 พบว่าการขาดดุลเงินสดต่อจีดีพีและหนี้สาธารณะยังสูงมากต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะการขาดทุนทางการคลังร้อยละ 4.31 ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 จึงถือว่ามีความเสี่ยงสูง
นายกัมพลระบุว่า ส่วนภาระหนี้สาธารณะ แม้รัฐบาลจะไม่ได้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเงินสดทั้งหมด ใช้เงินคงคลังไป 116,000 ล้านบาท แต่ภาระหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2568 ยังเพิ่มเป็นร้อยละ 64.44 ขณะที่ปัจจัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับอยู่ในระดับต่ำ เพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น ซึ่งเป็นติดต่อกันมาหลายปีนับตั้งแต่วิกฤตโควิด-19
“ขณะเดียวกันพบว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาประเทศก็หยุดชะงัก การจัดเก็บรายได้บางตัว ก็ต่ำกว่าแผน เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จากมาตรการลดภาษีน้ำมันเบนซินและดีเซล รวมไปถึงมาตรการลดภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า” ประธานคณะกรรมาธิการการคลังฯ กล่าว
ประธานคณะกรรมาธิการการคลังฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าวินัยการคลังของไทยไม่เข้มแข็ง เช่น เมื่อจัดเก็บรายได้ไม่ได้ตามแผนงบประมาณ 2567 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เช่น ปตท.นำส่งรายได้เร็วขึ้น จากเดิมนำส่งเดือนตุลาคม เป็นเดือนกันยายน และยังพบปัญหาประสิทธิภาพการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานรัฐและการใช้งบประมาณในโครงการต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง
นายกัมพลยังได้เสนอให้รัฐบาลเตรียมแผนระยะกลางและระยาว เพราะเป็นช่วงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 จำนวน 5 ด้าน คือ 1.วางกรอบการนำส่งรายได้จากหน่วยงานรัฐ ควบคุมการเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีเท่าที่จำเป็นและบริหารการนำส่งและเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณของทุนหมุนเวียนและกองทุนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของรัฐบาล 2.ให้ความสำคัญกับการปัญหาเชิงโครงสร้างแม้ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากและใช้ระยะเวลา ไม่ละเลยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรัง เช่น หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ธุรกิจรายย่อย
ประธานคณะกรรมาธิการการคลังฯ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ 3 ที่แนะรัฐบาลก็คือการจัดทำงบประมาณปี 2569 ต้องคำนึงถึงโครงสร้างภาษีที่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จัดสรรงบการลงทุนให้มีสัดส่วนเพียงพอในการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ส่วนประเด็นที่ 4 คือให้รัฐบาลทบทวนนโยบายในลักษณะประชานิยม หรือโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ หรือเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ เพื่อลดหนี้สาธารณะ และประเด็นที่ 5 คือรัฐบาลต้องปฏิบัติตามกรอบการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด.
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.