เลือกตั้งอบจ.บทพิสูน์ความเข้มแข็งการเมืองท้องถิ่นระบอบประชาธิปไตยไทย

สืบเนื่องจากการหมดวาระของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มอบหมายให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้ง โดยมีการเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2567 ซึ่งการเปิดตัวผู้สมัครในแต่ละจังหวัดเป็นไปอย่างคึกคัก บางจังหวัดถึงขั้นลาออกล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวแข่งขัน

ดร.ณัฎฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชนเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า เท่าที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ. หลายแห่ง นายก อบจ.คนเดิมชิงความได้เปรียบลาออก และลงสมัครใหม่หรือส่งตัวแทนลงสมัครแทน หลายแห่งกลับมาได้ บางแห่งแพ้การเลือกตั้ง ถือเป็นปกติการเลือกตั้ง

แต่การเลือกตั้งนาย อบจ.กับการเลือกตั้งสนามใหญ่ มีความแตกต่างกัน เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ.ตัวแปร ผู้สมัครเลือกตั้งนายก อบจ.มีจำนวนน้อย แต่พื้นที่กว้างใช้เขตจังหวัดเป็นเขตการเลือกตั้ง  แตกต่างพื้นที่ของ ส.ส.ใช้จำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งประมาณ 1.5 -1.6 แสน ที่ กกต.กำหนดเป็นเขตเลือกตั้ง  

จะเห็นว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ.ที่สังกัดพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชน แม้มี ส.ส.ในเขตจังหวัดเป็นฐานเดิมได้เปรียบผู้สมัครรายอื่น แต่ไม่สามารถชนะเลือกตั้ง นายก อบจ.ได้  แม้จะโอ้อวดว่ามีตัวเลขผู้สนับสนุนพรรคจำนวนเพิ่มขึ้นโดยวัดจากเปอร์เซ็นต์ก็ตาม

แต่การเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติมีความแตกต่างกันในแง่พื้นที่และจำนวนผู้สมัคร หากพิจารณาจากบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด ให้สังเกตจากนามสกุลที่คุมการเมืองระดับชาติและกระจายไปยังการเมืองท้องถิ่น จะชิงความได้เปรียบมากกว่าผู้สมัครหน้าใหม่ เพราะฐานคะแนนเดิมและหัวคะแนนจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. หรือฝ่ายปกครองที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน เช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  

ขณะเดียวกันการเมืองท้องถิ่นระดับ อบจ.ที่ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งที่หมดวาระลง จะเห็นได้ว่า ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองในระดับสูงขึ้นเพราะสนใจในสิทธิของตนเองหันมาหย่อนบัตรเลือกตั้งมากขึ้น ไม่นอนหลับทับสิทธิ เหมือนในอดีต เพราะการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องใกล้ตัว

กฎหมายใหม่ที่มีผลต่อการหาเสียง

แต่พลวัตการเมืองท้องถิ่นได้พัฒนาไปจากเดิม โดยพระราชบัญญัติสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มาตรา 3 ได้แก้ไขใหม่ในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 บัญญัติให้ “ข้าราชการการเมือง ส.ส.สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อาจช่วยผู้สมัครในการหาเสียงเลือกตั้งได้”

แต่ยังคงสาระสำคัญในหลักการเดิมว่า “จะกระทำการใดๆโดยมิชอบด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผัสมัครใด ให้ กกต.มีอำนาจสั่งให้ยุติหรือระงับการกระทำนั้นได้ โดยให้อำนาจ กกต.นายเดียวที่พบเห็น มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำแล้งรายงานให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ” อันแสดงให้เห็นว่า ห้ามเฉพาะ สว. แต่ ส.ส. ข้าราชการการเมือง นักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ช่วยผู้สมัครนายก อบจ.และผู้สมัคร สจ.ในการหาเสียงเลือกตั้งได้ ตามที่กฎหมายท้องถิ่นแก้ไขใหม่ 
    
หากพี่น้องประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลปีใหม่ จะเห็นป้ายหาเสียงทั่วทุกจังหวัดเพราะจังหวัดใดที่ นายก อบจ.ชิงลาออกแล้วเลือกตั้งใหม่ แต่สมาชิก อบจ.จะต้องมีการเลือกตั้งในวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง นายก อบจ.คือ กกต.จัดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568  หลายแห่ง เป็นการใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งเพราะเลือก สจ.เพียงอย่างเดียว ทำให้เสียงบประมาณซ้ำซ้อนแห่งละ 90 ล้านบาท ไม่รวมถึง การชิงลาออกก่อนไม่กี่วันก่อนหมดวาระ เป็นเพียงใช้เทคนิคทางกฎหมายในกติกาหาเสียงล่วงหน้าและรวมค่าใช้จ่าย ไม่นับ 180 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เป็นการเอาเปรียบผู้สมัครรายอื่นและป้องกันตนเอง

กกต.จัดลงคะแนนวันเสาร์ กระทบผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
    
ส่วนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568  ตรงกันวันเสาร์ โดยหลักปกติในการวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ ย้ำว่า เฉพาะวันอาทิตย์ หากกำหนดเป็นวันเสาร์ มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะชนชั้นแรงงานหรือผู้ประกอบกิจการ ส่วนใหญ่ยังประกอบกิจการในวันเสาร์อยู่ รวมถึงผู้ใช้แรงงานหรือลูกจ้างยังทำงานอยู่ ทำให้เดินทางกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งถิ่นที่อยู่ห่างไกลในระดับน้อยลง 

ในมิติทางด้านกฎหมาย เมื่อไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องย่อมเสียสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แม้ กกต.อ้างว่า จะเกินกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่การจัดการเลือกตั้งในวันเสาร์ ที่แรงงานในภาคเอกชนส่วนใหญ่ ยังจะต้องทำงานส่งผลต่อการใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพราะส่วนใหญ่มีฐานะเป็นลูกจ้างและมีภูมิลำเนาห่างไกล ย่อมมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยตรง มีผลต่อถูกจำกัดสิทธิกรณีไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
    
ผู้สมัครหน้าใหม่บารมีไม่ถึงเจาะยาก 

การแข่งขันระดับท้องถิ่น กรณีบ้านใหญ่หลายจังหวัด มีผลต่อการชนะการเลือกตั้ง เพราะบ้านใหญ่ทางการเมืองเหล่านี้ สร้างเครือข่ายในระดับท้องถิ่นมายาวนาน ทำให้ฐานเสียงแน่น ทำให้นักการเมืองหน้าใหม่หรือผู้แข่งขันรายใหม่ บารมีไม่ถึงเจาะฐานเสียงได้ยาก เพราะอำนาจทางการเมืองท้องถิ่นกับการซื้อเสียงเป็นของคู่กัน ปฏิบัติกันเป็นประจำ เป็นวัฒนธรรมทางการเมือง ที่มีรากฐานยาวนาน ที่ว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น”  

แม้พลวัตระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแพร่หลาย ประชาชนสามารถเข้าถึงนโยบายการเมืองท้องถิ่นทางโทรศัพท์มือถือก็ตาม แต่การซื้อเสียงยังเลือกเจาะเฉพาะบางแห่ง โดยใช้เกณฑ์ประชาชนในท้องถิ่นเลือกเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในจังหวัด กลุ่มบ้านใหญ่ยังคงใช้ได้ถึงในยุคปัจจุบัน ทำให้คนมีความรู้ความสามารถ ไม่สามารถเข้าถึงสู่อำนาจทางการเมืองได้ 

ระบบอุปถัมภ์ ธงนำการเมืองท้องถิ่น

ดังนั้น การเมืองระดับบ้านใหญ่ นามสกุลดัง กับการเมืองท้องถิ่นเป็นของคู่กันในสังคมไทย ย่อมไม่ผันแปรคะแนนท้องถิ่นไปให้ผู้ท้าชิงหน้าใหม่ เพราะการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนในท้องถิ่น ย่อมต้องเลือกตัวแทนที่เรียกดูแลได้ ที่เรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์”ให้จับสังเกตเหลี่ยมการเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเลือกเดินสายเปิดตัวเฉพาะจังหวัดที่มีแนวโน้มชนะเลือกตั้งล่าสุด เปิดตัวผู้สมัคร นายก อบจ.นครราชสีมา บ้านใหญ่“หวังศุภกิจโกศล” ในนามพรรคเพื่อไทย  

การยึดโยงการเมืองท้องถิ่นระดับ อบจ.กับการเมืองท้องถิ่นระดับ เทศบาล หรือ อบต. เป็นระนาบเดียวกัน แต่บางแห่งแม้ไม่ผูกพันกัน เพราะการบริหารท้องถิ่น ประชาชนเจ้าของอำนาจ สามารถมองเห็นผลงานได้จากนโยบายที่หาเสียงและการขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้  

จะเห็นได้จากนโยบายน้ำประปาดื่มได้ ของพรรคประชาชนในท้องถิ่นอุดรธานี ถูกนำมาเป็นจุดขาย เกิดจากการนำปัญหาในท้องถิ่นมากลั่นกรองเป็นนโยบาย แต่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับนักการเมืองท้องถิ่นด้วยกันในฐานะหัวคะแนนยังเป็นตัวแปรในการคุมเสียงคะแนนให้แก่ผู้สมัครนายก อบจ.และผู้สมัคร สจ. ไม่เสื่อมคลาย เพราะการเมืองอุปถัมภ์และนับคะแนนในหน่วย แม้รวมคะแนนระดับตำบล ย่อมตรวจสอบคะแนนได้
    
เดิมการเลือกตั้งในชนบท กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มักเป็นหัวคะแนนให้กับบ้านใหญ่ตระกูลที่มีอำนาจทางการเงิน ในจังหวัด ภายหลังปี 2537 เกิด สภาตำบล ต่อมาเป็น อบต. โดยมี อสม. และบางแห่งมี อปพร.เป็นตัวคุมเกมหัวคะแนนระดับท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายระดับบ้านใหญ่ มักใช้ระบบอุปถัมภ์ ใช้อำนาจเงินที่เหนือกว่าคู่แข่ง ทำให้ตระกูลการเมือง เมื่อส่งบุคคลที่นามสกุลเดียวกับบ้านใหญ่หรือบุคคลที่บ้านใหญ่สนับสนุน ส่วนใหญ่จะชนะเลือกตั้ง
 

เว้นแต่นักการเมืองรายนั้น อยู่ในตำแหน่งนาน งานไม่ทำ แต่งตัวเท่ห์ไปงานชาวบ้าน ผลงานไม่ปรากฏ อาจเกิดกรณีล้มช้างบ้านใหญ่ เพราะเวลาเปลี่ยน บริบทการเมืองเปลี่ยน ระบบออนไลน์โซเชี่ยลร้อนแรง การเมืองระบบอุปถัมป์ย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลา
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.