“ดร.ณัฏฐ์” ฟันธงแก้ไขธน.ทั้งฉบับไม่เสร็จทันอายุรัฐบาลแพทองธาร

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 กรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ“ไม่เห็นชอบ”กับร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ผ่านการพิจารณาจากกรรมาธิการร่วม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 61 เสียง ไม่เห็นด้วย 326 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว จึงต้อง “ยับยั้ง” ไว้ 180 วัน

ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน  กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นผลผลิตของ คสช.ในการออกแบบรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะต้องผ่านการจัดทำประชามติ หมายความว่า จะต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเจ้าของอำนาจ

แต่กลเกมลับลวงพราง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกลเกมซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564  ประกอบศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในการจัดทำประชามติ ทั้งก่อนจัดทำและหลังจัดทำ ถึง 3 ครั้ง ซึ่งในการจัดทำประชามติในรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 15 โดยกำหนดให้การออกเสียงให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยตรงและลับ และให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีการกากบาทในบัตรออกเสียง หมายความว่า ในการออกเสียงประชามติในรัฐธรรมนูญใช้วิธีการออกเสียงข้างมากธรรมดา หรือภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ระบบชั้นเดียว
    
ต่อมาได้แก้ไขจากระบบการออกเสียงข้างมากธรรมดามาเป็นระบบการออกเสียงข้างมากสองชั้น หรือที่เรียกว่า Double Majority เพื่อป้องกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทำในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564  มาตรา 13 ได้บัญญัติว่า “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น” 
    

แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร.เหมือนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540  รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ต้องการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เสียงข้างมากสองชั้นหรือ Double Majority  ให้เหลือเพียงเสียงข้างมากธรรมดาเสียก่อน ภาษาชาวบ้าน คือ แก้ไขสองชั้นให้เหลือเพียงชั้นเดียว เพราะหากไม่แก้ไขจะทำให้ผ่านการจัดทำประชามติของประชาชนค่อนข้างยาก 
    
เคยให้ความเห็นไปแล้วว่า ร่าง พรบ.ประชามติ ที่แก้ไขระบบสองชั้น มาเป็นระบบชั้นเดียว ไม่ผ่านสภาใดสภาหนึ่ง เพราะมีหลายตัวแปร เกิดจาก สว.สายสีน้ำเงิน และพรรคภูมิใจไทย ไม่เอาด้วย จะเห็นว่า มี ส.ส.บางคนอภิปรายและโวยวายว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรหาจำเลยของสังคมให้ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสะดุดออกไป 180 วัน อาจจะไม่ทันในการพิจารณาในอายุของสภานี้ 
         
หากพิจารณาของนโยบายหาเสียงของเพื่อไทย ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนเอาด้วย กลไกลในการตรวจสอบถ่วงดุลแก้ไขกฎหมาย สว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย แม้จะมีมติ สว.เห็นต่างกับ ส.ส.แยกต่างหากคนละสภา แต่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 138  เปิดช่องให้เมื่อพ้นระยะเวลา 180 วันนับแต่วันที่สภาหนึ่งสภาใดไม่เห็นด้วย สภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างที่ผ่านการพิจารณาของ ส.ส.หรือร่างที่ กรรมาธิการร่วมกันพิจารณา โดยใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่อยู่ในสภา 

ทั้งนี้ ระหว่างยับยั้งร่าง คณะรัฐมนตรีหรือ ส.ส.จะเสนอพระราชบัญญัติที่มีหลักการเดียวกันหรือคล้ายกัน กับหลักการร่าง พรบ.ที่ยับยังไม่ได้  ดังนั้น ที่ ส.ส.เพื่อไทย บางคน ออกอาการรั่ว โวยวายโยนแพะรับบาปเพื่อเล่นใหญ่ให้นายใหญ่ในพรรคเพื่อไทย เห็นว่า เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การยับยั้งร่าง พรบ.ประชามติ เกิดจาก ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และ สว.สายสีน้ำเงิน นั้น ถือว่าเป็นเพียงกลไกลในสภาและเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของ ส.ส.หรือ ส.ว.แต่ละสภา เท่านั้น
    
ส่วนที่ถามว่า หากพ้นกำหนดระยะเวลายับยั้งร่าง พรบ.ประชามติ และ ส.ส.หยิบร่าง พรบ.ประชามติ มามีมติยืนยันร่างของ ส.ส.ในระบบชั้นเดียว จะทำให้ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายหรือไม่ “ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าวว่า ประเด็น พรบ.ประชามติ ที่แก้ไขระบบสองชั้นเหลือชั้นเดียว กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้คนละเรื่อง แต่เชื่อมโยงกัน เพราะหากใช้ระบบสองชั้น ในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โอกาสผ่านในระดับน้อย 

หากใช้ระบบชั้นเดียว เสียงข้างมากธรรมดา จะทำให้ การจัดทำประชามติ ใช้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ย่อมผ่านง่ายกว่า  แต่กลไกลรัฐธรรมนูญในการออกแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องไปผ่านด่านหิน ในมาตรา 256 วาระที่สาม เพราะต้องใช้เสียง สว.หนึ่งในสามหรือ เสียง สว. 67 คน หากดูจากเสียง สว.ค่ายสีน้ำเงินจำนวนมากกว่าค่ายอิสระ และนับเสียงแล้วสภาสูงค่ายอิสระ เสียงไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผ่านด่านหินอีกชั้นหนึ่ง ค่อนข้างยาก จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขยาก  ดังนั้น การที่ สว.ยับยั้งร่าง เป็นเพียงยกแรกในชั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและไม่มีทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เสร็จสิ้นภายในอายุของรัฐบาลชุดนี้  เป็นเพียงนโยบายในฝันเท่านั้น

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.