'พิชัย' ชี้แก้สัญญาไฮสปีดจ่อ ครม.ใน 2 สัปดาห์ ยอมรับล่าช้า
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 เมื่อเวลา 09.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยถึงไทม์ไลน์การเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ( สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หลังบอร์ดอีอีซีปรับแก้ไขสัญญา ว่า ไทม์ไลน์ขณะนี้ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูก่อน ซึ่งปกติ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์บวกลบ จึงจะสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้
เมื่อถามว่า รายละเอียดของสัญญามีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขส่วนใดบ้างนั้น นายพิชัย กล่าวว่า ไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียด ขอเวียนดูความเห็นของแต่ละกระทรวงก่อน
เมื่อถามย้ำว่า เมื่อมีการแก้ไขรายละเอียดเช่นนี้จะต้องทำสัญญาใหม่หรือไม่ นายพิชัย กล่าวย้ำว่า ต้องขอดูความเห็นขอแต่ละกระทรวงและ ครม.ก่อน ส่วนไทม์ไลน์จะถูกเลื่อนออกไปหรือไม่นั้น ทุกวันนี้ก็เลื่อนอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1) วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เป็น จ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน
2) กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับ ค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ
3) กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป
4) การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้
5) การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.