ย้อนไทม์ไลน์23ปีเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเดิมพันขุมทรัพย์พลังงาน
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร เปิดการเจรจารอบใหม่กับฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระหว่างประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว เกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 2.64 หมื่นตารางกิโลเมตร (OCA) เพื่อสำรวจแหล่งน้ำและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง ที่คาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติ 10ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบ 300ล้านบาเรล มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10 ล้านล้านบาท ซึ่งทั้ง2ประเทศมีข้อพิพาทกันมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970
ย้อนไปเมื่อ23ปีก่อน18มิ.ย.2544 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกฯแพทองธาร และอดีตนายกฯฮุนเซนของกัมพูชาและเป็นบิดาของฮุน มาแนต ร่วมลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป 2.64 หมื่นตารางกิโลเมตร หรือ MOU 2544 จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถตกลงหาข้อสรุปใดๆได้
เปิดบันทึกข้อตกลง2ชาติ
MOU 2544 เป็นบันทึกความเข้าใจที่กำหนดกรอบและกลไกในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดน (delimitation) ทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือโดยมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตร.กม. และเรื่องการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม สำหรับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ในลักษณะพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area: JDA) โดยมีพื้นที่ประมาณ 16,000 ตร.กม.
บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ต้องดำเนินการทั้งสองเรื่องในลักษณะที่ไม่แบ่งแยกออกจากกัน (indivisible package) และให้มีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ดำเนินการพิจารณาและเจรจาร่วมกันและได้ตกลงกันว่า MOU 2544 และการดำเนินการทั้งหมดจะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย
รัฐบาลสุรยุทธ์แบ่งสัดส่วน กัมพูชาไม่โอเค
ต่อมาหลังรัฐประหารปี2549 รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ มีความพยายามที่จะเจรจาเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน กับกัมพูชา 5 กุมภาพันธ์ 2550 มีการประชุมร่วมกัน พิจารณาข้อเสนอของฝ่ายไทยให้แบ่งพื้นที่พัฒนาร่วมซึ่งเป็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนบริเวณที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 เหนือ ออกเป็น 3 เขต โดยให้สัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ ไทย : กัมพูชา สำหรับพื้นที่ตรงกลางเป็น 50:50 เขตที่อยู่ใกล้ฝั่งของแต่ละฝ่าย นั้นฝ่ายไทยเสนอ 60:40 แต่กัมพูชาเสนอแย้งเป็น 90:10 แต่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้จนรัฐบาลหมดวาระ
ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์จ้องล้ม MOU ทักษิณเป็นที่ปรึกษากัมพูชา
10พ.ย.2552ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU 2544 และให้นำเรื่องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เนื่องจากการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้งอดีตนายกฯทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจา MOU 2544 แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการยกเลิก MOU 2544
MOU รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกเก็บในลิ้นชัก
ปี2544ในรัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีท่าทีชัดเจนไม่ยกเลิก MOU 2544 และจะเร่งเจรจากับกัมพูชาเพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลให้เสร็จโดยเร็ว โดยมีมติเมื่อ 13 กันยายน 2554 ปรับองค์ประกอบคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (ฝ่ายไทย) อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้เดินทางเยือนกัมพูชาโดยเห็นพ้องที่จะให้มีการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอย่างเป็นทางการ แต่ทุกอย่างก็ถูกเก็บใส่ลิ้นชัก เนื่องจากมีเสียงเล็ดลอดออกมาว่า นักการเมืองใหญ่ของไทยพร้อมที่จะใช้นอมินีเข้าไปมีส่วนแบ่งในสัมปทาน
การเจรจารอบใหม่ในรัฐบาลประยุทธ์
หลังการยึดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการหยิบยกเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย กัมพูชา มาหารือในช่วงที่ใกล้จะหมดวาระ 1ตุลาคม 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) พิจารณาร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่มีการแต่งตั้ง คณะทำงานร่วมกันว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเลประชุมกัน2-3ครั้งก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระไป
ยุครัฐบาลเศรฐา ปัญหาปักปันเขตแดน
หลังเลือกตั้ง66 อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสินได้พบกับนายฮุน มาเนต นายกฯกัมพูชา ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ 7กุมภาพันธ์ 2567 ผลการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาคืบหน้าล่าสุดก็ตรงที่ ตกลงที่จะหารือกันต่อเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนโดยให้ความสำคัญกับการปักปันเขตแดนทางทะเลพร้อมๆกับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรไฮโดรคาร์บอน และมีข้อสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงพลังงาน และกองทัพเรือเพื่อดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อ
ลุ้นเจรจารอบใหม่
การเจรจารอบใหม่ระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชา บลูมเบิร์ก ระบุว่ากัมพูชามีเหตุผลน้อยกว่าที่จะรีบเข้าสู่โต๊ะเจรจา แม้จะต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดต่างจากไทยโดยกัมพูชาขาดอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในประเทศที่แข็งแกร่ง และน่าจะยังคงต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านในการนำเข้าพลังงานและการจัดหาเชื้อเพลิง
ขณะที่บริษัทที่ปรึกษา CLC Asia ในกรุงเทพฯ ระบุในรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า หากไม่คิดเรื่องรูปแบบการแบ่งปันรายได้ ผู้ผลิตและผู้รับสัมปทานของไทยจะต้องรับภาระงานส่วนใหญ่ในพื้นที่ทับซ้อน และบริษัทของไทยจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานของไทยก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อหลังการเจรจาระหว่าง2ผู้นำไทย-กัมพูชา เพราะยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาชุดใหม่และแม้จะได้คณะทำงานร่วมและเมื่อตกลงกันแล้วเสร็จก็ต้องเดินหน้าเจรจากับกัมพูชาต่อและหากเจรจาสำเร็จกว่าจะผลิตได้จริงก็จะใช้เวลาหลายปี
สศช.แนะยึดโมเดล JDA บนผลประโยชน์ร่วม2ชาติ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เรื่องพลังงานไทยต้องเตรียมความพร้อมในระยาว การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) รัฐบาลไทยและกัมพูชาต้องทำงานเรื่องนี้ร่วมกัน คำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ โดยใช้รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย (JDA) ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว ส่วนเงินทุนในการลงทุนคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาในการดำเนินการ ซึ่งมีหลายรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้
“บริเวณดังกล่าวถือว่ามีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับทั้งสองประเทศได้ในระยะยาว และรองรับความผันผวนของราคาพลังงาน กรณีที่มีความขัดแย้งบริเวณแหล่งผลิตน้ำมันที่ประเทศไทยนำเข้า ซึ่งอาจมีการขยายพื้นที่สงครามได้”
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.