เปิดวงดีล ทักษิณ-เนวิน-อนุทิน จัดสรรดุลอำนาจ เกลี่ยประโยชน์การเมือง
พลันปรากฎข่าว 2 ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีอำนาจตัวจริง พรรคภูมิใจไทย ‘เนวิน ชิดชอบ’ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ เข้าพบ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า เมื่อเย็นวันที่ 6ต.ค.67 แวดวงการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อไทย ภูมิใจไทย จะมีเรื่องต้อง เคลียร์ ทำความเข้าใจ ระหว่าง พรรคร่วมรัฐบาลอะไรหรือไม่
บ้างก็มองไปถึง การเตรียมก้าวเข้ามาเป็น นายกรัฐมนตรี ของอนุทิน หากเกิดอุบัติเหตุการเมืองบางอย่างกับ แพทองธาร ชินวัตร
เนวิน อาจเคยเป็น มือขวา มือทำงานที่รู้ใจสมัย 'รัฐบาลไทยรักไทย' เรืองอำนาจ 'ทักษิณ ชินวัตร' เป็นนายกรัฐมนตรี อนุทิน นับตั้งแต่ก้าวขาออกจาก พรรคไทยรักไทย มาร่วมกันก่อตั้ง พรรคภูมิใจไทย แต่สำหรับ อนุทิน ยังยก ทักษิณ เป็นผู้บังคับบัญชา เรียก 'เจ้านาย' ได้อย่างสนิทปาก ก๊วนกอล์ฟ ระดับวีวีไอพี เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ที่เขาใหญ่ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อน ในแง่ความสัมพันธ์แนบแน่น ทักษิณ-อนุทิน-การเมือง-ทุนใหญ่
กระทั่งวันประชุมครม.8ต.ค. อนุทิน ยอมรับ เป็นคนพา เนวิน ไปพบ ทักษิณ ทานอาหารเย็น เมื่อวันอาทิตย์ 6ต.ค. บอกเล่าถึง สายสัมพันธ์ ทักษิณ-เนวิน ยังดี บรรยากาศหารือ เป็นไปอย่างแฮปปี้ แต่ไม่ขอพูดถึง ประเด็นในการพูดคุยหารือ ขอเป็นเรื่องส่วนตัว
ขณะเดียวกัน ทักษิณ ยังร่วมอวยพรวันเกิด เนวิน และได้มอบเสื้อแจ๊คเก็ต ให้นายเนวิน เป็นของขวัญวันเกิด 66ปี อีกด้วย
การเข้าพบ ทักษิณ ของ อนุทิน-เนวิน บุคคลระดับ คีย์แมนคนสำคัญทางการเมือง ทำให้ถูกจับตามอง การเจรจา ตกลง หาความร่วมมือทางการเมือง
พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคอันดับสอง ในพรรคร่วมรัฐบาล กุมเสียงสส.กว่า 70 เสียง ไม่นับรวม กลุ่มสส.ฝากเลี้ยง และยิ่ง ถ้าผนึกกับ สภาสูง วุฒิสภาฯ ที่ 'กลุ่มสีน้ำเงิน' มีเสียงสว.ในมือมากกว่า 140 เสียง จาก 200 เสียง
กระบวนการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ การประทับตรากฎหมาย ในชั้นสุดท้าย ส่งมาจากสส. หรือแม้แต่ การอาศัยเสียงสว. 1 ใน 3 หากเป็นเรื่อง ต้องขอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้วนต้องผ่านความเห็นชอบจาก สว. ทั้งสิ้น
ดุลอำนาจทางสภาฯ สูง กลายเป็น จุดได้เปรียบของ ขั้วสีน้ำเงิน การส่งสัญญาณ นำเสนอความคิดเห็นแต่ละเรื่อง เป็นเรื่องที่ พรรคเพื่อไทย ต้องเงี่ยหูฟัง สัญญาณจาก ภูมิใจไทย ขณะเดียวกัน ภูมิใจไทย ยังต้องมี เพื่อไทย ในการเป็นแกนนำรัฐบาล เพราะ ถ้ายิ่ง การทำงานของ รัฐบาลราบรื่น ผลกระทบ ก็จะไม่ส่งผลมาถึง พรรคภูมิใจไทย เหมือนกัน
ว่ากันว่า ดีลเนวิน อนุทิน พบ ทักษิณ เป็นการ จัดสรร เกลี่ยอำนาจ จัดสรรดุลอำนาจของ ภูมิใจไทย กับ พรรคเพื่อไทย ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ก่อนหน้า ภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็น มาตรฐานทางจริยธรรม และ สว.หลายคน มีท่าที คัดค้าน
ทำให้ พรรคเพื่อไทย แตะเบรก ชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา เอาไว้ก่อน โดยเฉพาะ ประเด็นมาตรฐานทางจริยธรรม
ก่อนหน้า ภูมิใจไทย ตั้งโต๊ะแถลง ไม่เห็นด้วย Entertainment Complex ด้วยความเป็นห่วง ไม่เห็นว่าจะแก้การพนันใต้ดิน ผิดกฎหมาย เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง และ ยังไม่เห็นมาตรการการช่วยเหลือ จ้างงานแรงงานไทย แต่ต่อมา ภูมิใจไทย เปลี่ยนท่าที
หลังจากกรรมาธิการวิสามัญ ของสภาฯ ทำการศึกษา การเปิดฯ Entertainment Complex ส่งมาให้ ครม.รับทราบ ส่งให้ กระทรวงการคลัง เปิดรับฟังความคิดเห็น และ ร่างกฎหมาย
ขั้นตอนต่อไป ส่งกลับเข้าที่ประชุมครม.อีกรอบ เมื่อเห็นชอบ ส่งไปยัง สภาฯ ดำเนินการพิจารณากฎหมาย
โดยสถานะ ร่างกฎหมายดังกล่าว ถูกดันสถานะให้เป็น กฎหมายการเงิน (หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ นายกฯต้องรับผิดชอบ) ผลักดันออกมาในลักษณะ กฎหมายพิเศษ ที่จะต้องมีการบริหาร จัดสมดุลกันให้ลงตัว เพื่อไทย ภูมิใจไทย เพื่อไม่ให้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สูญเสียอำนาจทางการปกครอง สั่งการ ควบคุม ไป จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งสองฝ่าย
การจัดแถวผู้ว่าราชการจังหวัด และ ข้าราชการระดับสูงระดับอธิบดี ในล็อตนี้ 25 ตำแหน่ง ตามที่ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบเมื่อ 8 ต.ค. เครือข่ายส่วนใหญ่เป็น กลุ่มสีน้ำเงิน ยึดเบ็ดเสร็จ
มติก.ตร. ให้ บิ๊กต่าย-'พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์' เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่15 แต่ยังเหลือ การโยกย้ายนายตำรวจระดับ รองผู้บัญชาการ ผู้กำกับ รองผู้กำกับ สารวัตร อีกนับร้อยตำแหน่ง ในช่วงปลายปี ที่จะต้องมีการ วางกลไกเตรียมพร้อม สำหรับการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(นายกอบจ.) ที่จะมีการเลือกตั้ง เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และ รองรับการเลือกตั้งใหญ่ ในปี2570
การจัดแถว หัวขบวน ในองค์กรอิสระ ที่มีหลายองค์กร คนเก่ากำลังจะหมดวาระ เข้าคิว รอพิจารณา โดยกลไก ทางวุฒิสภาฯ ถือว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ในการพิจารณาชี้ขาด
โดยสถานะ พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคมีจำนวนสส.มากสุด เป็น พรรคแกนนำรัฐบาล พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคมีคะแนนเสียงเป็นอันดับสองในรัฐบาล แต่ถ้าวัดกันในเชิง เครือข่ายการปกครองระดับท้องถิ่น จังหวัด
เครือข่าย ปกครอง ผู้ว่าฯ กลไกท้องถิ่น และ สภาฯสูง กลุ่มสีน้ำเงิน คุมกลไก คนกดปุ่มสั่งการทางการปกครองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
ในอดีต ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เคยป็น ผู้บังคับบัญชา ‘เนวิน ชิดชอบ’ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ แต่ในวันนี้ กลายเป็น หุ้นส่วนในทางการเมือง ถ้ารัฐบาลอยู่รอดไปได้ ครบวาระ ไม่เกิดเหตุสะดุด ทุกกลุ่มก็ แฮปปี้ ดังนั้น การจัดสมดุลอำนาจด้วยกลไกต่างๆให้ลงตัว น่าจะเป็นทางที่ทั้ง 2 ฝ่ายเลือกเดิน ดีกว่า เปิดศึกห้ำหั่น
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.