"เรืองไกร"ร้องสอบนายกฯอิ๊งค์นำครม.ถ่ายรูปท่ามินิฮาร์ทส่อฝ่าฝืนจริยธรรม

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า วันนี้ ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ทำการตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสองหรือไม่ ต้องส่งศาลฎีกาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ 

นอกจากนี้ยังส่งหนังสือให้พิจารณาว่า จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปตามมาตรา 235 วรรคสี่ หรือไม่ กรณีชักชวนให้คณะรัฐมนตรี ถ่ายรูปในท่า “มินิฮาร์ท” ขณะกำลังสวมเครื่องแบบชุดขาวถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรี บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีประเด็นที่ควรตรวจสอบว่า มีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หรือไม่

"ข้อ 17 กำหนดไว้ว่า ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง และข้อ 21 ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม" นายเรืองไกร กล่าว 

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีของ น.ส.แพทองธาร ที่เป็นตัวการทำท่ามินิฮาร์ท และชวน ครม.ทำตามในระหว่างการถ่ายภาพร่วมกัน แต่หลังจากมีทีมงานทัก นายกรัฐมนตรี ได้รีบเอามือลงอย่างรวดเร็ว พร้อมยิ้มรับว่า “ลืมไปว่าใส่ชุดขาว” ซึ่งขณะนั้นมีรัฐมนตรีหลายคน ยกมือทำท่ามินิฮาร์ทตามก่อนรีบเอามือลงเช่นกัน

“มีรัฐมนตรีหลายคนทำตาม เช่น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายภูมิธรรม เวชยชัย แต่มีรัฐมนตรีอีกหลายคน ไม่ได้ทำตาม เช่น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีแต่ละคนจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ และสถานที่ดังกล่าว อีกทั้งเมื่อค้นหาคลิปจาก tiktok จะพบพยานหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่ชัดเจนทั้งภาพ และเสียงจำนวนมาก ซึ่งสาธารณชน และประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้โดยง่าย ต่างแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง” นายเรืองไกร กล่าว

พร้อมระบุว่า การที่ น.ส.แพทองธาร ซึ่งร่วมถ่ายรูปที่ทำเนียบรัฐบาล และเป็นผู้เชิญชวนให้คณะรัฐมนตรีร่วมทำท่ามินิฮาร์ท ขณะใส่เครื่องแบบราชการชุดปกติขาว จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ควรตรวจสอบก่อนว่าการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ส่งผลภาพลักษณ์และกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือความศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีหรือไม่

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 ยื่นหลักฐานต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรคการเมือง 4 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย , พรรคภูมิใจไทย , พรรครวมไทยสร้างชาติ , พรรคชาติไทยพัฒนา กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและบิดาของน.ส.แพทองธาร เรียกไปคุยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 เพื่อพูดคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21, 28, 29 ขอให้ กกต.สั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92ื อีกทั้งขอให้พิจารณาเพิ่มเติมอีก 2 พรรค ประกอบด้วยพรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐด้วย

"การกระทำของนายทักษิณ ส่อไปในทางครอบงำ สั่งการ ควบคุม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่า เขาเป็นเจ้าของพรรค ซึ่งมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง รวมทั้งการเป็นบิดาของน.ส.แพทองธารซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงเป็นอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยมาก่อน" นายนพรุจ กล่าว 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.