"รถไฟฟ้าสายสีส้ม"มหากาพย์จากภูมิใจไทยถึงรัฐบาลเพื่อไทย

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีมติเห็นชอบให้บริษัท BEM เป็นผู้ได้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)ทั้งเส้น โดยที่ผ่านมา โครงการนี้ มีประเด็นข้อสงสัยมาตั้งแต่ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นพรรคภูมิใจไทยกำกับดูแลกระทรวงคมนาคมที่เกือบทำให้รัฐบาลเกือบพลิกคว่ำมาแล้ว

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งการประมูลงานก่อสร้าง เป็น2ตอน ตอนแรก มีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม และตอนสอง ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนท์ ด้วยมูลค่าการก่อสร้าง 140,000 ล้านบาท ท่ามกลางปัญหาอุปสรรคมากมาย มีการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่รัฐบาลเศรษฐาสั่งเดินหน้าโครงการต่อ ด้วยมีมติเห็นชอบใน3ประเด็น ตามถ้อยแถลงของนายกฯเศรษฐา หลังศาลปกครองมีคำพิพากษายกฟ้องในทุกคดี ประกอบด้วย 

1.ผลการพิจารณาคัดเลือกเอกชน 
2.ร่างสัญญาร่วมทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด
3.และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4แสนล้านบาท ที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล 

หลังครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี รมว.คมนาคม ก็ออกมารับลูก ประกาศชัดเจน นัดหมาย18ก.ค.67 ลงนามในสัญญาสัมปทานกับ BEM ทันทีคาดว่าจะสามารถเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ทั้งเส้นทางในปี2571 

อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าสายสีส้ม มีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม ที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จไปก่อนแล้ว แต่ต้องเสียค่าบำรุงรักษา 40-50ล้านบาท/ต่อปี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม แสดงท่าทีว่า มีความเป็นไปที่จะเปิดวิ่งให้บริการประชาชนก่อน ขณะนี้อยู่ในช่วงหารือปรับรูปแบบการให้บริการเพื่อไม่ให้เสียค่าในการ Maintenance ต้องมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าด้วยความระมัดระวัง อาจสะดุดหกล้มระหว่างทางเนื่องจากแม้ครม.จะอนุมัติให้เดินหน้าโครงการฯแต่ยังมีปมคาใจค้างอาทิ

การล้มประมูลในรอบแรก โดยกลุ่ม BTSC เรียกผลประโยชน์สุทธิใฟ้รฟม. ติดลบ 9,675.42 ล้านบาท และในการประมูลรอบ2 ผู้ชนะ BEM ขอรับเงินสนับสนุนจากรฟม.มากกว่าที่ BTSC ถึง 68,612 ล้านบาท

ร้ายกว่านั้น เมื่อคู่เทียบการประมูล บริษัทอิตาเลียนไทย กรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทต้องคดีความก็ยังปล่อยให้มีการประมูล รวมถึงปมเงื่อนงำที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะงานประมูล เรื่องนี้จึงเป็นมหากาพย์ในการศึกษาประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ของประเทศนี้ 

ขณะที่สำนักงานเลขาธิการนายกฯก็ตั้งข้อสังเกตการอนุมัติโครงการฯว่าสัญญาที่ให้อัยการได้พิจารณาการเจรจาต่อรองเพิ่มเติมกับBEM เรื่องเป็นประโยชน์ของรัฐเช่น BEM ตกลงรับภาระค่าใช้จ่ายในการเตรียมการตรวจสอบระบบพื้นที่ส่งมอบงานล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด (หลังเดือนมีนาคม 2569) และเรื่องข้อตกลงค่าโดยสารเป็นระยะ 10 ปีนับแต่วันที่เปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออก แต่ปรากฏว่าเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนโครงการที่เสนอครม.ไม่ได้ปรับแก้ไขให้ตรงกับการเจรจาแต่อย่างใด 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นมหากาพย์จากภูมิใจไทยที่ขับเคลื่อนจากรัฐบาลที่แล้วจนเกือบจะคว่ำ มาถึงยุครัฐบาลเพื่อไทย จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร เดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ เดินหน้าต่อรถไฟเสี่ยงตกราง ถอยหลังก็ลำบาก ด้วยประการฉะนี้.

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.