“นฤมล” ผู้แทนการค้าชี้ ”เศรษฐา“ ดึงทุนนอก สนับสนุนการพัฒนายั่งยืน

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ภายใต้หนึ่งเป้าหมายจะประกอบไปด้วยเป้าหมายย่อย ซึ่งมีทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อย และตัวชี้วัด (Indicators) 232 ตัวชี้วัด เพื่อใช้ติดตามความก้าวหน้าของเป้าหมายย่อยดังกล่าว

 

เป้าหมายการพัฒนาทั้ง 17 ข้อ สะท้อนมิติของความยั่งยืนรวม 5 มิติ คือ มิติด้านสังคม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสันติภาพและสถาบัน และมิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา จึงจะเห็นได้ว่า พันธกิจของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่ของภาครัฐเพียงเท่านั้น แต่เป็นงานที่ต้องลงมือร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในภารกิจของหน่วยงานภาครัฐอย่างสอดประสานกัน 

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสนับสนุนเป้าหมาย SDGs ก่อนเปิดประชุม UN General Assembly (UNGA) ครั้งที่ 78 เมื่อปีที่แล้ว และได้มอบนโยบายให้ผู้แทนการค้าไทย คำนึงถึงเป้าหมายเหล่านี้ในการชักชวนนักลงทุนจากต่างชาติ ภารกิจของผู้แทนไทย ซึ่งยึดโยงอยู่กับมิติด้านเศรษฐกิจ จึงมีส่วนที่ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อให้การลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่นายกรัฐมนตรีได้ได้วางแนวนโยบายไว้ 

 

ปีที่ผ่านมา โครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติก่อให้เกิดการส่งออกสร้างรายได้สู่ประเทศปีละประมาณ 2,183,016 ล้านบาท ในจำนวนนี้นับเป็นอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และ เทคโนโลยีชีวภาพ มูลค่าประมาณ 788,019 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของรายได้จากการส่งออกของโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด 

 

โครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติใช้วัตถุดิบภายในประเทศมูลค่าประมาณ 1,293,842 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากเป็นอันดับ 1 มูลค่าประมาณ 797,867 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของมูลค่าวัตถุดิบ ภายในประเทศของโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด ตัวเลขเหล่านี้ ไม่ได้เพียงแค่ทำให้เกิดผลดีด้านการส่งออก แต่ยังหมายถึงผลบวกที่เกิดกับมิติด้านสังคมที่ครอบคลุม 5 เป้าหมายแรกของ SDGs เช่น ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน 

 

นอกจากนี้ เงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามา ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ที่เจริญแล้วเพียงเท่านั้น ปีที่แล้วมีโครงการต่างชาติในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมจำนวน 14 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7,078 ล้านบาท ได้แก่ กิจการสถานพยาบาล 10 โครงการ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัด มหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดสุรินทร์  กิจการผลิตแป้งดิบที่จังหวัดกาฬสินธุ์  กิจการผลิตภัณฑ์สุขอนามัยจาก Non-woven Fabric ที่จังหวัดสระแก้ว กิจการแปรรูปยางขั้นต้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และ กิจการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัด ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เงินลงทุนจากต่างชาติในโครงการเหล่านี้จึงตอบโจทย์มิติด้านเศรษฐกิจที่ครอบคลุมเป้าหมายที่ 7 ถึง 11 ของ SDGs เพราะนำไปสู่การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน

 

“ภารกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุนจึงไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่เพิ่มตัวเลขรายได้การส่งออกและเพิ่มตัวเลขการลงทุนจากต่าชาติเท่านั้น แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากตัวเลขเหล่านี้ จะส่งต่อไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นของพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ไม่ว่าจะมาจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น หรือโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการไทย ตามนโยบายและเป้าหมายของนายกฯ เศรษฐา ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์” ผู้แทนการค้ากล่าว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.