'ทวี'แจงกรมคุมประพฤติไร้อำนาจจำกัดความเคลื่อนไหว'ทักษิณ'
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทย ที่อาคารโอเอไอ ทาวเวอร์ วันนี้ (26มี.ค.67) เวลา 13.45น.ว่า ปกติเราดูแค่หลักเกณฑ์ของการคุมประพฤติ การพักโทษก็อยู่ในเรื่องของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีเรื่องของการบริหารโทษ เช่น การพักโทษ หรือการใช้ที่คุมขังอื่น ในกฎหมายราชทัณฑ์และกฎกระทรวง มองว่าโรงพยาบาลเป็นที่คุมขังหนึ่ง เพราะนักโทษเฉลี่ยปีละประมาณ 50,000 คน เมื่อออกไปรักษาที่โรงพยาบาล 1-2 วัน หรือ 30 วัน เราก็หักจากวันต้องโทษ ดังนั้นเป็นนิยามหนึ่ง ซึ่งถ้าถามนักโทษว่าอยากอยู่โรงพยาบาลหรือเรือนจำ นักโทษอยากอยู่เรือนจำมากกว่า เพราะอยู่โรงพยาบาลสภาพก็ลำบาก
ส่วนความเคลื่อนไหวอย่างอื่นในเรื่องการคุมประพฤติ ก็จะมีข้อห้ามไปมั่วสุมกับยาเสพติด ห้ามไปเยี่ยมนักโทษด้วยกัน ถือเป็นการปฏิบัติตามปกติของประชาชน ส่วนเรื่องอื่นๆก็มีสิทธิเสรีภาพทั้งหมด เป็นหน้าที่ของกรมคุมประพฤติที่เป็นผู้ดูแล
เมื่อถามย้ำว่า การไปพรรคเพื่อไทยไม่มีข้อห้ามใช่หรือไม่ พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า มีแค่กรมคุมประพฤติให้มารายงานตัว ส่วนจะไปไหน พบใคร ในกฎกระทรวงไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมือง
ส่วนกรณีนายทักษิณ มีการตั้งข้อสังเกตถึงมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม พันตำรวจเอก ทวี ชี้แจงว่า กระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญบอกให้รัฐต้องปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมาย ถ้าเราทำนอกกฎหมายก็ถือว่าทำตามอำเภอใจ เพราะในกฎหมายจะมีกฎระเบียบ
อย่างที่พูด การถูกกฎหมายจะต้องมีการพัฒนากฎหมายในบางช่วงออกมาก่อน แต่สถานการณ์ปัจจุบันเกิดขึ้นใหม่ กฎหมายก็จะมีการพัฒนา และการแก้ไข อย่างเช่นกฎหมายราชทัณฑ์ ถ้าดูตามข้อเท็จจริง กฎหมายฉบับนี้เข้า สนช. ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งออกมาเป็นกฎหมายราชทัณฑ์ปี 2560 ซึ่งผู้ร่างก็เป็น สนช.ทั้งหมด
ที่สำคัญกฎกระทรวง เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เอากฎหมายลูกใส่ให้ สนช. ร่างด้วย ต่อมาภายหลัง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น ได้ออกกฎกระทรวง ซึ่งถ้าออกเป็นแพ็คเกจใหม่ จะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานลำบาก จึงแยกออกเป็น การรักษาพยาบาล การไปที่คุมขังอื่น หรือ การพักโทษ ก็จะแบ่งเป็นตอน
แต่ทั้งหมดนี้ถูกร่างโดยสนช.อยู่แล้วและวันนี้เมื่อเป็นกฎหมายที่เกิดมาในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนก็มาปฏิบัติตาม ซึ่งกฎหมายของกรมราชทัณฑ์หากดูให้ดี กรมราชทัณฑ์แทบมีไม่อำนาจเลย เช่น การพักโทษ ก็เขียนให้มีคณะกรรมการพักการลงโทษ โดยคณะกรรมการก็จะมีปลัดกระทรวงยุติธรรม มีข้าราชการอื่นจากหลายหน่วยงาน รวมถึงมาจากศาลยุติธรรมด้วย ก็อยากเรียนว่าถ้าเรายอมรับกติกา ว่ารัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าปฏิบัตินอกกฎหมายถือว่าไม่ใช่หลักนิติธรรม
ส่วนความเป็นไปได้ ที่กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ จะเตือน นายทักษิณ ให้เคลื่อนไหวน้อยลง เพราะกระแสสังคมจับตาอยู่ พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า เราเคารพในความคิดเห็นที่หลากหลาย ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่กระทรวงยุติธรรมไม่มีหน้าที่ไปกำหนดในเรื่องส่วนตัว นอกจากดำเนินภารกิจตามหน้าที่ที่เรารับผิดชอบ
ส่วนที่ผ่านมามีนักการเมืองได้รับการพักโทษ และเคลื่อนไหวในลักษณะนี้หรือไม่ พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า คนพักโทษปีละเป็นหมื่น แต่อาจจะไม่มีสื่อมวลชนไปตามไปแบบนี้ แต่นายทักษิณก็ยังรายงานตัวตามปกติ เพราะจากรายงานเมื่อคืนที่เขาส่งมา นายทักษิณก็มารายงานตัวที่กรมคุมประพฤติ และปฏิบัติตามตามเงื่อนไขการพักโทษทุกอย่าง
เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ ที่นายทักษิณ เคลื่อนไหวไปหลายพื้นที่ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์ พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า อยากให้แยกส่วนกับการทำงานของกระทรวงยุติธรรม และไม่ได้หนักใจ เมื่อวานนี้ก็ครบรอบ 133 ปี กระทรวงยุติธรรม สิ่งที่เราจะมุ่งมั่นคือการลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ทุกคนได้รับความยุติธรรมทั่วหน้าให้ได้
นิยามคำว่าความยุติธรรม อาจเป็นนามธรรมเกินไปสำหรับบางคน แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ ขณะนี้เราต้องทำตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่บัญญัติไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม เราก็ควรมีการแก้ไข โดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 ออกโดย สนช. ซึ่งเป็นสภาหนึ่ง โดย สว. บางคนที่นั่งอยู่มนสภาเมื่อวานนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่างกฎหมายเช่นกัน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.