'ราเมศ' เห็นต่าง 'วิโรจน์' ชี้การถ่วงดุลโดยศาลรัฐธรรมนูญยึดกฎหมาย
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ ให้สัมภาษณ์ประเด็นพรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติด่วนขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญว่า ในประเด็นนี้หลักการสำคัญในระบบประชาธิปไตยได้มีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างชัดเจนฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ แต่ละฝ่ายมีหน้าที่ตามครรลองในระบบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในทางตุลาการย่อมถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสามอำนาจอำนาจหลัก นายวิโรจน์อย่าเข้าใจหลักการผิดไปเพราะจะทำให้การตั้งต้นในการวิพากษ์วิจารณ์ผิดไปจากหลักความถูกต้อง
อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีมีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดและมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีการพิจารณาคดี กรอบอำนาจหน้าที่มีกำหนดไว้ค่อนข้างชัดว่ามีคดีประเภทไหนบ้างที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย และที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถหยิบยกข้อเท็จจริงใดขึ้นมาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเองได้โดยลำพังหากไม่มีผู้ยื่นคำร้องเพื่อให้มีการตีความวินิจฉัย ซึ่งทุกคดีที่ผ่านมาถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ก็มีหลายคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้พิจารณา คดีไหนที่อยู่ในอำนาจก็มีการพิจารณาวินิจฉัยและแน่นอนที่สุดว่าเมื่อมีการพิจารณาวินิจฉัยแล้วย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้คดีแต่ทั้งหมดคือกระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายต้องน้อมรับ หลายคดีที่พรรคก้าวไกลชนะ และที่แพ้คดีก็มีซึ่งการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญพอพรรคก้าวไกลชนะก็พึงพอใจแต่เมื่อมีคดีที่แพ้ ก็จะมีกระบวนการทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ
นายราเมศ กล่าวต่อไปว่า ทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติถ้าได้ศึกษาคำวินิจฉัยอย่างละเอียดแล้วจะเห็นว่า เหตุอันเป็นที่มาที่นำไปสู่คำวินิจฉัยเกิดขึ้นมาจากการกระทำฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเองทั้งสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปก้าวก่ายแทรกแซงโดยสั่งให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ กระทำการสิ่งใดซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะและที่สำคัญเมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์กติกาไว้หากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่นำพาต่อกระบวนการที่กฎหมายกำหนดก็เป็นความชอบธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีความสำคัญ เป็นองค์กรตุลาการที่ทำหน้าที่ให้หลักประกันความเชื่อมั่นแก่องค์กรทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนว่า เมื่อใดก็ตามที่บทกฎหมายและการทำหน้าที่รวมถึงการใช้อำนาจขององค์กรใดๆที่ก่อให้เกิด ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ย่อมถูกหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งและหาข้อยุติในกระบวนการทางตุลาการได้เพื่อความเป็นธรรม โดยการยื่นคำร้องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย
นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า ในเรื่องนี้ตนจึงเห็นต่างจากพรรคก้าวไกล และคิดได้อย่างเท่าทันว่า ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล ก็เริ่มต้นทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญก่อน และหากผลคดีไม่เป็นคุณต่อพรรคก้าวไกลก็จะใช้การกระบวนการทั้งหมดเป็นเงื่อนไขว่าพรรคก้าวไกลเป็นผู้ถูกกระทำ นี้คือความเลวร้ายในหลักคิดทางการเมืองที่จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายในอนาคต
การเสนอญัตติด่วนขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ เชื่อว่ามีการตั้งธงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา ซึ่งที่กล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ ระวังฝ่ายนิติบัญญัติจะไปก้าวล่วงศาลรัฐธรรมนูญเสียเอง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.