ประชาชนสนใจสมัครเลือก สว. ชุดใหม่ แจ้งเจตจำนงค์ กกต. 2.1 แสนราย

จากกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน กำลังจะครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ เดือน พ.ค. 2567 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่ง สว. ชุดใหม่ 200 คน ซึ่งการรับสมัครกำหนดให้เริ่มรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับจากวันที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สว. มีผลใช้บังคับ กำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน
 
รายงานข่าวจาก กกต. แจ้งว่า ขณะนี้มีประชาชนแสดงเจตจำนงกับ กกต. จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อขอเข้ารับการสมัครดำรงตำแหน่ง สว. กว่า 210,000 ราย โดย กกต. ได้จัดทำลิสต์เอาไว้แล้ว พร้อมมอบหมายให้ กกต. จังหวัด จัดให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือก สว. ตามกลุ่มอาชีพ เพื่อประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์ตามกฎหมายให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน

 

ขณะเดียวกัน กกต. ได้แจ้งหมายต่อสื่อมวลชน โดยขอเชิญร่วมทำข่าวและร่วมรับฟังการประชุมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา "สาระรอบรู้เรื่อง สว. ปี 67" ในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ลงนาม ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งสว. พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2567 และได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื้อหาในระเบียบดังกล่าว มีทั้งสิ้น 9 หมวด 172 ข้อ

 

การเลือก
วันเลือกในระดับอำเภอ ต้องไม่เกิน 20 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร วันเลือกในระดับจังหวัดต้องไม่เกิน 7 วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และวันเลือกในระดับประเทศต้องไม่เกิน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด ในการกำหนดวันเลือกในแต่ละระดับ ต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

 

ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกสว.
การแบ่งกลุ่มการสมัครรับเลือก สว. รวมทั้งสิ้น 20 กลุ่ม ประกอบด้วย 
1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
3.กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
4.กลุ่มสาธารณสุข ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
7.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามกลุ่มที่9

11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
14.กลุ่มสตรี
15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
17.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
18.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
20.กลุ่มอื่นๆ

 

เมื่อผู้สมัครรับเลือก สว. ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ จะเข้าสู่การเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ผู้สมัครแต่ละคนเลือกสมัครได้แค่ 1 กลุ่ม และใน 1 อำเภอเท่านั้น ทุกกลุ่มจะเลือกกันเอง ตั้งแต่ในระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอแล้วไปคัดเลือกกันเองในระดับจังหวัด จากนั้นเข้าสู่กระบวนการไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ

 

เมื่อผ่านการเลือกทั้ง 3 ระดับ ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของกลุ่ม จาก 20 กลุ่ม จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น สว. 200 คน

แม้ตามวัตถุประสงค์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จะคิดค้นวิธีกระบวนการเลือก แบ่งเป็น 20 กลุ่ม เพื่อให้ได้สว.ที่มีความรู้ ความสามารถมาจาก วิชาชีพที่หลากหลายเข้ามาทำหน้าที่ ป้องกัน ภาคการเมืองเข้ามาควบคุม ผ่านกระบวนการเลือกตั้งตรงเพียงอย่างเดียว หรือสรรหาเพียงอย่างเดียวอย่างที่เคยเป็นมา

จึงได้ออกแบบวิธีเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมเริ่มจาก อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ อันค่อนข้างสลับซับซ้อน กระบวนการดังกล่าวจะป้องกันการเมือง ไม่ให้เข้ามาแทรกแซง เพื่อให้ได้ สว.ที่มีความเป็นอิสระจริงได้หรือไม่ คงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.