ผ่าระเบียบกกต.คัดเลือกสว.ชุดใหม่200คนสู่เก้าอี้สภาสูง

กรณี'อิทธิพร บุญประคอง' ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ลงนาม ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกสว.พ.ศ.2567 เมื่อ5 ก.พ.2567 และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในเนื้อหาของระเบียบ มีทั้งสิ้น 9 หมวด 172 ข้อ

สำหรับการได้มาของสว.ตามระเบียบใหม่ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน200คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกันหรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคมมีวาระ5ปี แตกต่างจากการเลือกตั้งสส.ที่มาจากประชาชนเลือกมาโดยตรงมีวาระ4ปี ประกอบด้วยสมาชิก500คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400คน มาจากบัญชีรายชื่อ 100คน

ขณะที่วาระสว.ชุดปัจจุบันใกล้สิ้นสุดไม่เกิน 11 พ.ค.2567 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ2560 มาตรา 269 (4) กำหนดให้มีวาระดำรงตำแหน่ง5ปี นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง คือ 11พ.ค.2562 แต่มาตรา 269 (6) ระบุคือเมื่ออายุของสว.ชุดปัจุบันสิ้นสุดลงให้อยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสว.ชุดใหม่ ดังนั้น 250 สว. จะพ้นจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการคัดเลือก สว.ชุดใหม่

ดังนั้นเมื่ออายุของสว.ชุดปัจจุบันสิ้นสุดลง หลัง 11 พ.ค.67 เป็นต้นไป ภายใน5วัน กกต.จะดำเนินการ 

1.กำหนดวันเริ่มดำเนินการ 

เพื่อเลือกไม่ช้ากว่า30วัน นับแต่วันที่พระราชกฤฎีกามีผลใช้บังคับ

2.กำหนดวันรับสมัคร 

เริ่มรับสมัครไม่เกิน15วัน นับแต่วันพระกฤฎีกาให้เลือกสว.ใช้บังคับโดยจะสมัครไม่น้อยกว่า5วัน แต่ไม่เกิน 7วัน

3.วันเลือกระดับอำเภอ 

ต้องไม่เกิน 20 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาสมัคร 

4.วันเลือกระดับจังหวัด 

ต้องไม่เกิน7วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ 

5.วันเลือกระดับประเทศ ต้องไม่เกิน 10วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด

จากนั้น กกต.จะประกาศผลการเลือกสว.ซึ่งต้องรอไว้ไม่น้อยกว่า 5วัน นับแต่วันที่กกต.ได้รับผลการนับคะแนนการเลือกระดับประเทศ แต่หากกกต.มีเหตุสงสัยว่าการเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต ก็มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเลือกและสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ 

การใช้อำนาจดังกล่าวให้กกต.แต่ละคนซึ่งพบเห็นการกระทำความผิดในเขตอำเภอหรือจังหวัดใด ให้มีอำนาจกระทำได้สำหรับการเลือกในเขตอำเภอหรือจังหวัดนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กกต.กำหนด

นอกจากนี้ ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการใดหรือเป็นเหตุให้การเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต.สามารถระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวระยะเวลาไม่เกิน1ปีและยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

ทั้งนี้ หน้าที่และอำนาจสว.ชุดใหม่ หลังพ้นบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ2560 ประกอบด้วย 

1.พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาและกลั่นกรองพระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 

2.ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาหรือที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ 

3.ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น 


 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.