'นิพนธ์'ร่วมวงเสวนาถกหาทางออกกับดักการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมงานเสวนา “กับดักรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทยและการเวิร์คช็อปออกแบบแก้กับดักรัฐธรรมนูญ...สู่อนาคตที่ดีกว่า“ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ True Space Siam Square soi 2 
 

โดยมี “มาดามเดียร์ - วทันยา บุนนาค” เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ร่วมเสวนา 

ภายในงานมีการพูดถึงประวัติศาสตร์ พัฒนาการรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่ผ่านช่วงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญ รวมถึงการผลัดเปลี่ยนการร่างรัฐธรรมนูญในยุคสมัยต่าง ๆ รวมถึงจุดเด่น ช่องว่าง และกับดักของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ เพื่อเป็นข้อสังเกตในการจัดทำกิจกรรมเวิร์คช็อปของผู้เข้าร่วมงาน


 

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาวิชาการ ''กับดักรัฐธรรมนูญ กับการพัฒนาประชาธิปไตย'' ที่ True space สยามสแควร์ ซึ่งดำเนินรายการโดยนางสาววทันยา บุนนาค อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึงปัญหาในรัฐธรรมนูญว่า หากจำเป็นจะต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องหาวิธีการอย่างไร เพื่อทำให้เป็นฉบับสุดท้าย แต่เห็นว่า เป็นไปได้ยาก เพราะจะต้องให้สังคมเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็มีการใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญ หรือการรัฐประหาร มาแก้ปัญหาทางการเมือง จนขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันในมาตรา 256 ยังทำได้ยากเพราะจะต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 และกลไกอื่น ๆ อีก ดังนั้น จึงเห็นว่า เมื่อ สว.ชุดนี้ตามบทเฉพาะาลของรัฐธรรมนูญจะหมดวาระ โอกาสที่ สว.ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จะทำให้หน้าต่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดขึ้น และทำให้คนไทยได้มาตกลงกติกาใหม่กันอีกครั้ง

ส่วนการออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อหยุดยั้งรัฐประหาร และทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายนั้น นายปริญญา เห็นว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญจะต้องให้ประชาชนเจ้าของประเทศออกแบบ และให้สมดุลระหว่างประชาชน และนักวิชาการ แม้จะเห็นต่างกันในสังคม แต่สังคมก็จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาการเมืองใด ๆ จะต้องแก้กันตามระบบ เพราะไม่เช่นนั้นไม่ว่าจะเกิดปัญหาทางการเมืองใด ๆ ก็จะต้องกลับมาใช้วิธีการรัฐประหาร และทางการเมือง รัฐธรรมนูญถือเป็นกติการ่วมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทุกฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จบที่การเลือกตั้ง และรัฐบาลต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ผ่านกลไกการถ่วงดุลอำนาจ และการรัฐประหารในประเทศไทย จะไม่สามารถสำเร็จหากประชาชนไม่ยินยอม พรรคการเมืองไม่ตกต่ำ หรือเสียความชอบธรรม เพราะที่ผ่านมาการรัฐประหารเกิดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเสื่อมความนิยม และเสียความชอบธรรม โดยเฉพาะการรัฐประหาร 2557 

นายปริญญา ยังเห็นว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่พยายามดำเนินการ หากพยายามทำแล้ว แต่ทำไม่ได้ ก็ต้องชี้แจงต่อสังคมว่า ไม่สามารถทำได้ ไม่ใช่อ้างว่า หาเสียงเอาไว้ จนนโยบายอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ แต่ไม่ถูกดำเนินกร 

นายปริญญา ยังกล่าวถึงระบบการเลือกตั้ง โดยเสนอว่า ระบบเลือกตั้งบัญชีรายชื่อแบบแบ่งเขต บัตรใบเดียว เพื่อสะท้อนเจตจำนงค์ที่แท้จริงของประชาชน เหมือนประเทศเดนมาร์ก และสวีเดน รวมถึงมีบัญชีรายชื่อเขตประเทศ มาเติมจำนวน สส.บัญชีรายชื่อแบบแบ่งเขต ในกรณีที่ยังไม่ครบจำนวน แก้ปัญหาผู้อาวุโสในพรรคว่า จะลงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ หรือแบบแบ่งเขต   

ด้าน นายเจษฎ์ โทณะวณิก รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ในฐานะอดีตที่ปรึกษากรรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.กล่าวถึงปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ไม่อาจโทษนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธาน กรธ.ได้ทั้งหมด และประเทศไทย ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะชนชั้นใดตรากฎหมาย ก็เพื่อประโยชน์ชนชั้นนั้น ซึ่งกลไกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ก็เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด รวมถึงการออกฤทธิ์เดชของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันด้วย พร้อมมั่นใจว่า แม้ สว.ชุดปัจจุบันจะไม่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ก็จะยังคงเป็นรัฐบาล เพราะพรรคก้าวไกล แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่เสียง สส.ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้เกินกึ่งหนึ่งที่จะตั้งรัฐบาลได้ และในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทหาร และนักการเมือง ก็จับมือกันทางการเมือง ดังนั้น หากต้องการจะให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และกฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะต้องยุบพรรคก้าวไกล หรือนายทักษิณ จะต้องเข้าคุก ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด 

ส่วนการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้มีการรัฐหารนั้น นายเจษฎ์ มองว่า ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญ ให้ไม่มีรัฐประหารได้ แต่ต้องขึ้นกับประชาชน ที่จะต้องทำให้นักการเมืองเกรงใจ มีโครงสร้างสังคม และโครงสร้างประชาธิปไตยที่ลงตัว จึงจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ พร้อมเห็นว่า ในอดีตหากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยอมลาออก หรือมวลชนที่มาชุมนุมยอมกลับบ้าน เงื่อนไขการรัฐประหารก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นแต่จะต้องมีภาวะการณ์กลไกเดินไปสู่อนาคตร่วมกัน ไม่คิดเพียงว่า ตัวอักษรในกฎหมายจะใช้บังคับได้เพียงอย่างเดียวหากยังมีการละเมิดกฎหมาย และบ่อยครั้งที่ประชาชนถามหาทหาร เพราะประชาชนรู้สึกอุ่นใจว่า มีทหารช่วยเหลือในยามประสบภัย ไล่จับโจรได้ ช่วยรักษาความสงบในพื้นที่ชายแดนใต้ มากกว่านักการเมือง

ทั้งนี้ ภายหลังการเสวนาเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนา ยังได้ร่วมกัน Work Shop "ออกแบบรัฐธรรมนูญ สู่อนาคตที่ดีกว่า" ทั้งในกลไกองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ, ระบบการเลือกตั้ง, ระบบสภา, การปกครองท้องถิ่น และการปฏิรูปประเทศ เพื่อร่วมกันออกแบบสถาบันการเมือง ทั้งที่มา, อำนาจ และการถอดถอน เป็นต้น

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.