'พิธา'คืนสภาประเดิมอภิปรายจัดการขยะหนุนเพิ่มงบ20เท่า

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ มีการพิจารณาญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะชุมชน ที่เสนอโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการพิจารณารวมกับญัตติทำนองเดียวกันอีก 4 ฉบับ โดย สส.พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายสนับสนุน รวมถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส. อีกครั้งในรอบ 6 เดือน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพิธาไม่พ้นสมาชิกภาพ สส. จากคดีหุ้นสื่อไอทีวี

นายพิธากล่าวว่า วันนี้ต้องการพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน คือญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพื้นที่เมืองท่องเที่ยว เพราะในช่วงยุติการปฏิบัติหน้าที่ สส. เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ตนได้ลงพื้นที่บ่อขยะแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ และบ่อขยะเทศบาลนคร จ.ภูเก็ต ทั้ง 2 ที่ให้ความรู้ตนมาก เป็นพื้นที่ที่แตกต่างกันพอสมควร สมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีโรงงานและแรงงานเยอะ ส่วนภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

สำหรับกองขยะที่สมุทรปราการ ความสูงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าตึก 5 ชั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือปริมาณขยะรายวันที่ 2,830 ตันต่อวัน สามารถจัดการขยะได้ถูกต้องตามสุขลักษณะตามมาตรฐานเพียง 300 ตัน ที่เหลือกว่า 2 พันตันถูกจัดการอย่างไม่ถูกต้อง สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องสมุทรปราการ เพราะข้างๆ บ่อขยะคือโรงเรียนที่มีเด็กเล็ก เสี่ยงเกิดอันตราย เสี่ยงอัคคีภัย เหมือนที่เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้กองขยะที่พิษณุโลกเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา แต่เมื่อดูงบประมาณ สมุทรปราการมีจีดีพี 660,685 ล้านบาท งบอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 49 แห่งเพียง 1,654 ล้านบาท คิดเป็น 0.25% 

ขณะที่สถานการณ์ที่ภูเก็ต ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการได้ ต้องการให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยอะๆ หลังโควิด ทั้งที่ขยะในปัจจุบันอยู่ในระดับวิกฤติ จากที่ตนลงพื้นที่เห็นว่าสักวันหนึ่งขยะก็จะลงไปในทะเล ต่างชาติจะเรียกภูเก็ตว่า Garbage Paradise หรือสรวงสวรรค์ที่เต็มไปด้วยขยะ โดยปริมาณขยะรายวันสูงสุดอยู่ที่ 871 ตันต่อวัน ความสามารถในการเผาขยะอยู่ที่ 700 ตัน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตอย่างชัดเจน เมื่อดูงบประมาณ จีดีพีของภูเก็ต 202,555 ล้านบาท แต่มีงบให้ อปท. ทั้งจังหวัดเพียง 633 ล้านบาท คิดเป็น 0.31% 

“นี่คือภาพในระดับระดับจุลภาค เห็นได้ในท้องถิ่น ที่ทำให้ผมกลับมาแล้วสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ว่าถ้าเป็นในระดับชาติ ถ้ามีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรจับประเด็นในระดับประเทศอย่างไร” พิธากล่าว

นายพิธากล่าวต่อว่า เรื่องการจัดการขยะมองเป็นจุดๆ ไม่ได้ ต้องมองเป็นห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ถ้าเราลดขยะต้นทางไม่ได้ ก็เลิกคิดเรื่องกลางทางและปลายทาง สำหรับต้นทาง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2562-2565 ขยะในประเทศไทยมีทั้งหมด 63 ล้านตัน แต่หลังจากผ่านวิกฤติโควิด เมื่อเศรษฐกิจต้องถูกกระตุ้น เมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จำนวนขยะก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อดูกลางทาง 88% คือขยะที่ได้รับการจัดการ แปลว่าอีก 12% ไม่ได้รับการจัดการ และเมื่อลงในรายละเอียด ใน 88% นั้นก็ไม่รู้ว่าได้รับการจัดการแบบได้มาตรฐานหรือไม่ ต่อไปปลายทาง ประเทศไทยมีหลุมขยะ 1,941 หลุม ได้มาตรฐานเพียง 72 หลุม จำนวนเตาเผา 105 เตา มีระบบบำบัดเพียง 11 เตา

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.