มติสภาฯ ท่วมท้น 443 เสียง โหวตเห็นชอบวาระแรก พ.ร.บ.อากาศสะอาด 7 ฉบับ

วันที่ 17ม.ค.67 หลังจากสส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน ร่วมอภิปราย พ.ร.บ.อากาศสะอาด พ.ศ... ทั้ง7 ฉบับ จนแล้วเสร็จ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ ที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้ขอให้สมาชิก ลงคะแนนเสียง ผลปรากฎว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง ให้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ พร้อมยังรับหลักการร่างกฎหมายอากาศสะอาด ที่ภาคประชาชนกว่า 22,000 รายชื่อ และพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์เสนอ รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ 
 

ก่อนหน้า พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 จึงต้องมีการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ ทั้งในระดับชาติ และในระดับพื้นที่ พร้อมกำหนดให้มีการพัฒนา และบูรณาการการบริหารจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ กำหนดให้มีระบบการวางแผนการดำเนินงาน และกำกับดูแล เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อลดสาเหตุการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด

รวมทั้งป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน และกลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบการเฝ้าระวัง ระบบ การเตือนภัย และระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤตจากภาวะมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดอากาศสะอาด เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยต่อสุขภาพอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน

ขณะที่ นางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ตัวแทนภาคประชาชนผู้เสนอกฎหมาย ชี้แจงว่า จากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันพิษ และมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน  ทำให้คนที่มีโรคระบบทางหายใจเรื้อรัง เกิดอาการกำเริบ และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรง เป็นภัยเงียบต่อสุขอนามัยของประชาชน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งสาเหตุสำคัญ ต่อการป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันพิษในประเทศไทย คือ ความไม่เพียงพอของกฎหมายที่มีในปัจจุบัน ขาดการบูรณาการ ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและทันท่วงที รวมทั้งยังจำเป็นจะต้องมีการอำนวยการ และกำกับดูแลการจัดการอากาศร่วมอย่างบูรณาการ ระหว่างหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนเครื่องมือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อจูงใจผู้ประกอบการ ที่เป็นต้นเหตุสำคัญของการก่อมลพิษ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และวิธีการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นจะต้องมีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อบังคับใช้

เช่นเดียวกับการอภิปรายของ สส.พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ทุกร่าง ทุกฉบับ ที่ถูกเสนอมาโดยคณะรัฐมนตรี ภาคประชาชน และพรรคการเมือง เพื่อคืนอากาศสะอาด และคืนสิทธิการหายใจในอากาศสะอาด ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน รวมถึงแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน 

ภายหลังการลงมติด้วยเสียงท่วมท้น ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 39 คน เพื่อพิจารณาปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 ตามขั้นตอน โดยที่ประชุมฯ มีมติให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติการจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ 

สำหรับเนื้อหาภายในร่างพระราชบัญญัติการจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี กำหนดให้มีการกำหนดนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการจัดระบบสิ่งแวดล้อม เพื่ออากาศสะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพทุกคน โดยให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเหตุพื้นฐาน ที่มาจากแหล่งกำเนิด รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการป้องกัน และแก้ไขภาวะมลพิษทางอากาศ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ และนานาชาติ ซึ่งหน่วยงานรัฐ จะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหามลพิษ  

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จัดทำแผนแม่บทเพื่ออากาศสะอาดและปลอดภัย พิจารณากำหนดเครื่องมือ และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อบริหารจัดการอากาศสะอาด ทั้งมาตรการการเงิน การคลัง ภาษี การส่งเสริมการลงทุน และนโยบายอื่นๆ เพื่ออากาศสะอาด เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังกำหนดผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ จะมีโทษปรับ 50,000 บาท ผู้ที่เผาในที่โล่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ผู้ที่ปล่อยทิ้งอากาศเสียโดยไม่มีการบำบัดให้มีคุณภาพตามมาตรฐานควบคุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ครองครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนอกประเทศ ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท เป็นต้น

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.