เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม'ศักดิ์สยาม'สิ้นสุดความเป็นรมต.ตั้งนอมินีถือหุ้น
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดี และนัดฟังคำวินิจฉัย ในเวลา 14.00 น. เรื่องพิจารณาที่ 8/2566 กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 187 หรือไม่ โดยนายศักดิ์สยาม เดินทางมาศาล
กรณีดังกล่าวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
โดยก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาป่วย ไม่สามารถมาร่วมทำคำวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ดีตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 52 วรรคสอง บัญญัติว่า องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่า 7 คน จึงทำคำวินิจฉัยต่อไปได้ โดยในวันนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมี 8 คน จึงสามารถทำคำวินิจฉัยได้
ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า นายศักดิ์สยาม เป็น รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ก่อนดำรงตำแหน่ง เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการใน หจก.บุรีเจริญฯ เมื่อ 21 มี.ค. 2558 และในปีเดียวกันเป็นหุ้นส่วนในบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ จำกัด ต่อมาเมื่อ 6 เม.ย. 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นายศักดิ์สยามประสงค์เตรียมลงสมัคร สส. จึงตกลงโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งโอนให้แก่นายศักดิ์สยาม รวม 3 งวด ได้แก่ งวดแรก 2 ส.ค. 2560 จำนวน 3 ล้านบาท งวดสอง 5 ก.ย. 2560 จำนวน 35 ล้านบาท และงวดสาม 5 ม.ค. 2560 จำนวน 49.5 ล้านบาท รวม 119.5 ล้านบาท ต่อมาเมื่อ 6 ก.พ. 2561 มีการแจ้งจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจ้งนายศักดิ์สยามลาออกจากหุ้นส่วน และหุ้นส่วนผู้จัดการ พร้อมกับโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์ จำนวนเงิน 119.5 ล้านบาท คิดเป็น 99% ของทุนจดทะเบียน
โดยสาระสำคัญในการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบพยานหลักฐานจากบัญชีธนาคาร กองทุน และสถาบันการเงินต่าง ๆ พบเส้นทางการเงินว่า การโอนเงินทั้ง 3 งวดของนายศุภวัฒน์ ในการซื้อหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ อ้างว่า มาจากการขายกองทุน TMBT จำนวน 2 กองทุน
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า การซื้อกองทุนดังกล่าวของนายศุภวัฒน์ พบว่า มีการโอนเงินในวัน และเวลาใกล้เคียงกันจากบริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ ให้แก่นายศุภวัฒน์ โดยทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ได้รับการโอนเงินมาจากนายศักดิ์สยาม
โดยเงินที่นำไปซื้อกองทุนช่วงแรก มียอดเงินบางส่วนจำนวน 35 ล้านบาท ในวันเวลาใกล้เคียงกันได้รับการโอนจากบริษัท ศิลาชัยฯ และในวันเวลาใกล้เคียงกันนายศักดิ์สยามได้โอนเงินให้กับบริษัท ศิลาชัยฯ จำนวน 40 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการซื้อกองทุนเพิ่มเติม พบว่า ในวันเวลาใกล้เคียงกันได้รับการโอนจาก บริษัท ศิลาชัยฯ 36.7 ล้านบาทเศษ และจาก หจก.บุรีเจริญฯ 20 ล้านบาท ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท ศิลาชัยฯ และหุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.บุรีเจริญฯ เป็นผู้นำมาฝากเงิน 2 ก้อนดังกล่าว เป็นต้น
ทั้งนี้นายศุภวัฒน์ นายศักดิ์สยาม และพยานที่เป็นพนักงานบัญชีในบริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ ให้การสอดคล้องกันว่า เงินที่นิติบุคคลทั้ง 2 แห่ง โอนให้นายศุภวัฒน์ เป็นเงินค่าจ้างจัดหาอะไหล่ เครื่องจักร ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักรของ หจก.บุรีเจริญฯ และค่ารับอุปกรณ์ ค่ารับจ้างตักหินให้โรงโม่ของบริษัท ศิลาชัยฯ รวมถึงเป็นเงินจากการชำระหนี้กู้ยืมเงิน
ทั้งนี้นายศักดิ์สยาม และพยานที่เป็นพนักงานบัญชีใน 2 นิติบุคคลดังกล่าว บันทึกถ้อยคำต่อศาลสอดคล้องกัน อ้างว่า บริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ มีพนักงานทุจริตภายใน ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงต้องให้นายศุภวัฒน์ ออกค่าอุปกรณ์ อะไหล่ ฯลฯ ไปก่อน และมีการชำระคืนทีหลังด้วยเงินสด และมีบางส่วนโอนเข้าบัญชี ขณะที่นายศักดิ์สยาม เบิกความอ้างว่า ได้ทำสัญญากู้เงินจากบริษัท ศิลาชัยฯ เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินจากสถาบันการเงิน และงบดุลบริษัทจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า การชำระเงินไม่ตรงกัน นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายศุภวัฒน์ กับนิติบุคคล 2 แห่งข้างต้น มีพิรุธหลายประการ และไม่อาจรับฟังได้
นอกจากนี้ที่อ้างว่านิติบุคคลขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่บริษัท ศิลาชัยฯ กลับจัดซื้อเครื่องบินส่วนบุคคล มูลค่า 12 ล้านบาท ตามความประสงค์ของนายศักดิ์สยาม ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจขณะนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แม้ว่าสภาพคล่องของบริษัทไม่ดีเท่าที่ควร
กรณีการโอนเงิน 36.7 ล้านบาทของบริษัท ศิลาชัยฯ ให้แก่นายศุภวัฒน์โดยอ้างว่าชำระหนี้เงินกู้นั้น ในวันเวลาใกล้เคียงกันนายศักดิ์สยาม ได้โอนเงินเข้าบัญชีบริษัท ศิลาชัยฯ 40 ล้านบาท โดยอ้างว่าชำระหนี้เงินกู้เช่นกัน แต่ในวันดังกล่าวบริษัทมีเงินในบัญชี 40-50 ล้านบาท เพียงพอกับการสำรองจ่ายแก่นายศุภวัฒน์ โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีเงินของนายศักดิ์สยามเข้าบัญชีก่อน
นอกจากนี้พยานที่เป็นพนักงานบัญชีของ 2 นิติบุคคลข้างต้น ยืนยันข้อเท็จจริงว่า บริษัทและ หจก.มีเงินคืนสำรองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ ค่าเครื่องจักร อะไหล่ ในรอบปี 2560 แต่กลับไม่มีเอกสารฉบับใด หรือใบวางบิลใดที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า นายศุภวัฒน์ เป็นผู้ชำระเงินแก่คู่ค้าต่าง ๆ ออกไปก่อน มีเพียงเอกสารที่จัดทำขึ้นภายในบริษัทเท่านั้น แม้นายศุภวัฒน์ อ้างว่าเป็นวิธีการทำธุรกิจ โดยหาผู้อื่นมารับรายได้และจัดการภาษีแทน แต่ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่มีน้ำหนัก เมื่อเทียบกับพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามข้อสงสัยที่กล่าวมาข้างต้น คำชี้แจงของนายศุภวัฒน์ และนายศักดิ์สยาม ไม่มีเหตุผลรับฟังได้
นอกจากนี้ระหว่างปี 2558-2562 งบการเงินของ หจก.บุรีเจริญฯ ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีผลกำไรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท รายได้จากผลประกอบการมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง ไม่เคยประสบภาวะขาดทุน หรือขาดสภาพคล่องทางการเงิน
ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อพิรุธหลายประการ ประกอบพยานหลักฐาน พฤติการณ์แวดล้อม กรณีสอดรับกันแล้ว เงินที่นายศุภวัฒน์ นำมาซื้อกองทุน 2 รายการ ก้อนแรก 35 ล้านบาท จากบริษัท ศิลาชัยฯ ก้อนสอง 56.7 ล้านบาท จากบริษัท ศิลาชัยฯ 36.7 ล้านบาท และ หจก.บุรีเจริญฯ 20 ล้านบาท ไม่ได้เกิดจากธุรกรรมการกู้ยืมเงิน หรือสำรองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่นายศักดิ์สยาม และนายศุภวัฒน์ กล่าวอ้าง แต่ข้อกล่าวอ้างของทั้ง 2 คนรวมถึงพยานบุคคลต่าง ๆ เป็นเพียงการกล่าวอ้าง เพื่อให้เจือสมกับพยานหลักฐานของสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ปรากฏความสัมพันธ์ของเส้นทางการเงิน ระหว่างนายศักดิ์สยาม นายศุภวัฒน์ บริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ
ประกอบกับแม้เงินที่นายศุภวัฒน์ นำมาซื้อกองทุนรายการต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ได้โอนจากบัญชีธนาคารของนายศักดิ์สยามโดยตรง แต่โอนจากบัญชีบริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว นายศักดิ์สยาม อยู่ในฐานะผู้มีอำนาจใช้จ่ายเงินของนิติบุคคล 2 แห่ง ประกอบคำเบิกความของนายศักดิ์ยาม กรณีบริษัท ศิลาชัยฯ จัดซื้อเครื่องบินส่วนบุคคล 12 ล้านบาท ในปี 2560 แม้บริษัทจะขาดสภาพคล่องตามที่กล่าวอ้าง แต่นายศักดิ์สยามใช้อำนาจกรรมการ จัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวเพื่อประโยชน์กิจกรรมทางการเมืองของตน แม้ไม่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงอำนาจในการใช้จ่ายเงินที่อยู่ในอำนาจของนายศักดิ์สยาม
แม้แหล่งที่มาของเงินซื้อกองทุนจะเกิดขึ้นปี 2560 เกิดขึ้นก่อนนายศักดิ์สยามเป็น รมว.คมนาคม ปี 2562 แต่ช่วงเวลาดังกล่าวนายศักดิ์สยาม และนายศุภวัฒน์ ยอมรับว่า การโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ เกิดขึ้นเนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นายศักดิ์สยามประสงค์เตรียมลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของนายศักดิ์สยาม
ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ได้จากพฤติการณ์แวดล้อม เป็นพิรุธ น่าสงสัยหลายประการ ประกอบกันมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า เงินที่นายศุภวัฒน์ นำมาชำระค่าเงินลงหุ้นแก่นายศักดิ์สยาม เป็นเงินของนายศักดิ์สยามเอง
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทรัพย์สินของนายศุภวัฒน์ และครอบครัวหลายรายการ เป็นทรัพย์สินได้ก่อนการซื้อหุ้นเป็นเวลานาน หรือเกิดขึ้นการซื้อขายหุ้นกับนายศักดิ์สยามในปี 2561 อีกทั้งรายการบัญชีเงินฝาก กองทุนเปิดจำนวนมากของนายศุภวัฒน์ ล้วนมีความเคลื่อนไหวบัญชี มีเงินเข้า และออกหลายครั้ง โดยไม่ได้มีเงินฝากสุทธิจำนวนหลายพันล้านบาท ตามที่นายศักดิ์สยาม หรือนายศุภวัฒน์ กล่าวอ้าง
นอกจากนี้จากการตรวจสอบเอกสารการแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ของนายศุภวัฒน์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระหว่างปี 2556-2565 นายศุภวัฒน์ มีรายได้ต่อปี เฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี จากการเป็นลูกจ้างของบริษัท เอ เอ็น อาร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ศิลาชัยฯ รวมถึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่เห็นว่านายศุภวัฒน์ ประกอบธุรกิจกับบริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ นอกจากนี้ยังเป็นลูกจ้างในบริษัท ศิลาชัยฯ ได้เงินเดือน 9 พันบาท ต่อมาได้รับการเพิ่มเงินเดือนเป็น 15,000 บาท โดยนายศุภวัฒน์ อ้างว่า เข้าเป็นพนักงานเพื่อได้รับสิทธิประกันสังคมก็ตาม
ดังนั้นคำชี้แจงและคำเบิกความของนายศุภวัฒน์ มีพิรุธ น่าสงสัยหลายประการ ไม่อาจรับฟังได้ว่านายศุภวัฒน์ เป็นผู้มีความสามารถเพียงพอในการชำระค่าหุ้นให้แก่นายศักดิ์สยาม
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่า ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ หจก.บุรีเจริญฯ เปลี่ยนแปลงจากเลขที่ 30/2 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของนายศักดิ์สยาม เป็นที่ตั้งใหม่ 30/17 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เมื่อ 18 มิ.ย. 2562 เกิดขึ้นก่อนนายศักดิ์สยามดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เพียง 23 วัน ขณะที่สถานที่ทั้ง 2 แห่ง ล้วนตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยอยู่บนที่ดินของบริษัท ศิลาชัยฯ
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบเอกสารการวางบิลของ หจก.บุรีเจริญฯ ระหว่าง ก.พ. 2561-7 มิ.ย. 2562 พบว่า ระบุที่อยู่เป็น 30/17 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าว หจก.แห่งนี้ยังตั้งอยู่ที่บ้านนายศักดิ์สยาม แม้นายศุภวัฒน์ อ้างว่า การแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ดำเนินการจดทะเบียนภายหลัง แต่เมื่อพิจารณาเอกสารการวางบิลตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงที่อยู่นานถึง 1 ปีเศษ ผิดปกติวิสัยการทำธุรกิจ จึงไม่น่าเชื่อถือ
นอกจากนี้นายศุภวัฒน์ เมื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการใน หจก.บุรีเจริญฯ มิได้กำหนดค่าตอบแทนแก่ตนเอง ดังที่นายศักดิ์สยามเคยทำเมื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่อย่างใด แต่หากเมื่อใดนายศุภวัฒน์ต้องการนำเงินใน หจก.มาใช้จ่ายส่วนตัว จะรวบรวมใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมัน มาตั้งเบิกเพื่อบันทึกค่าใช้จ่าย รับเป็นเงินสดแต่ละเดือน โดยปรากฏใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันจำนวนหนึ่ง มีการระบุเลขทะเบียนรถยนต์ของนายศักดิ์สยาม 2 คัน ตามที่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. โดยเกิดขึ้นภายหลังนายศักดิ์สยาม โอนหุ้นให้แก่นายศุภวัฒน์ไปแล้ว โดยระบุว่าในใบเสร็จว่า “ติดตามนาย”
กรณีดังกล่าวนายศักดิ์สยามชี้แจงตามคำแถลงปิดคดี ว่า ไม่ทราบว่านายศุภวัฒน์ เคยขอใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันจากพนักงานขับรถของตนหรือไม่ และไม่เคยได้รับเงินค่าน้ำมันจาก หจก.บุรีเจริญฯ หรือสั่งพนักงานขับรถนำบิลไปเบิกค่าน้ำมันจาก หจก.บุรีเจริญฯ
เมื่อพิจารณาคำชี้แจงของนายศุภวัฒน์ ที่ทราบดีว่า หากนายศักดิ์สยามเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง หจก.บุรีเจริญฯ เป็นธุรกิจต้องห้าม นายศักดิ์สยามไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โดยวิญญูชนทั่วไปแล้ว ย่อมไม่นำใบเสร็จรับเงิน หรือความสัมพันธ์กับนายศักดิ์สยาม เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาใช้เบิกเงินกับ หจก.บุรีเจริญฯ ที่เป็นธุรกิจต้องห้าม เพื่อไม่ให้ผู้ถูกร้องมาเกี่ยวข้อทั้งทางตรงและทางอ้อม กรณีพิรุธน่าสงสัยว่า ผู้ถูกร้องคงมีส่วนเกี่ยวข้องกับ หจก.บุรีเจริญฯ
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงการบริจาคเงินของนายศุภวัฒน์ ให้แก่พรรคภูมิใจไทย ระหว่างที่นายศักดิ์สยามเป็นเลขาธิการพรรค ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมืองของ กกต. นายศักดิ์สยาม เป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่ 2555-ปัจจุบัน
จากเอกสารของพรรคภูมิใจไทย ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายศุภวัฒน์ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรค โดยบริจาคในนามส่วนตัวเป็นทรัพย์สินประเภท ผลงานวิจัย มูลค่า 2.7 ล้านบาทเศษ เมื่อปี 2562 และบริจาคในนาม หจก.บุรีเจริญฯ จำนวน 4.8 ล้านบาท เมื่อปี 2562 และจำนวน 6 ล้านบาท ในปี 2565 โดยเป็นช่วงระยะเวลาภายหลังที่นายศักดิ์สยาม โอนหุ้นใน หจก.บุรีเจริญฯ ให้กับนายศุภวัฒน์ ในปี 2561 แล้ว
ไม่ปรากฏว่า ช่วงเวลาก่อนการโอนหุ้นดังกล่าว นายศุภวัฒน์ และ หจก.บุรีเจริญฯ เคยบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคภูมิใจไทย หรือเกี่ยวข้อง หรือสัมพันธ์ใด ๆ กับพรรคภูมิใจไทยมาก่อน ประกอบกับศุภวัฒน์ เบิกความว่า ก่อนหน้าที่จะรับโอนหุ้นจากนายศักดิ์สยาม ไม่เคยบริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทย
กรณีเป็นข้อพิรุธน่าสงสัยว่า นายศุภวัฒน์ และ หจก.บุรีเจริญฯ ไม่เคยเกี่ยวข้อง หรือสัมพันธ์ใด ๆ กับพรรคภูมิใจไทย แต่ช่วงเวลาภายหลังนายศักดิ์สยามโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์ และ หจก.บุรีเจริญฯ กลับบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินให้กับพรรคการเมือง ที่นายศักดิ์สยามมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค
ดังนั้น จากข้อพิรุธหลายประการดังกล่าว ประกอบพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวงแห่งคดี จึงฟังได้ว่า นายศักดิ์สยาม และนายศุภวัฒน์ เกษมสุข ตกลงนำเงินของนายศักดิ์สยาม ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในนามนายศุภวัฒน์ โดยขั้นตอนสุดท้ายนำเงินนั้นซื้อกองทุนต่าง ในชื่อนายศุภวัฒน์ แล้วขายกองทุนดังกล่าว ชำระค่าหุ้นแก่นายศักดิ์สยาม
เช่นนี้ เงิน 119.5 ล้านบาท ยังเป็นของนายศักดิ์สยาม จึงยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีนายศุภวัฒน์ ครอบครองหุ้นของ หจก.บุรีเจริญ และดูแล หจก.บุรีเจริญ แทนนายศักดิ์สยาม มาโดยตลอด อันเป็นการถือหุ้นของรัฐมนตรี อยู่ในความครอบครอง หรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางใด ๆ เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้าม มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยามจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัว มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า 3 มี.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ศาลจึงต้องสั่งให้นายศักดิ์สยามพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยามจึงสิ้นสุดลงตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 นับแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 82 นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือวันที่ 3 มี.ค. 2566
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.