“สรรเพชญ”จัดหนักรัฐบาลจงใจทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง
นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ในฐานะคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จะมีการพิจารณาวาระแรก ขั้นรับหลักการในวันที่ 3 ถึง 5 มกราคม 2567 ซึ่งงบประมาณปี พ.ศ. 2567 มีกรอบงบประมาณวงเงินรวม 3.48 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมของ 4 หน่วยงานหลักทางการเงิน การคลัง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยงานที่รับงบประมาณ ซึ่งเป็นผู้นำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติ ได้มีคำของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ สูงถึง 5.8 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่า หน่วยงานที่ขอรับงบประมาณ จะถูกตัดลดงบประมาณที่ยื่นคำขอมา กว่า 2.32 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ที่ถูกตัดลดงบประมาณจากคำขอ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าความทุกข์ร้อนของประชาชนหลายประการ ที่ร้องเรียนผ่านทางสภาผู้แทนราษฎรหรือร้องเรียนผ่านหน่วยงานโดยตรง อาจจะไม่ได้รับการแก้ไขหรือดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 เนื่องจากวงเงินงบประมาณมีจำกัด
นอกจากนี้ สส.สรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตงบประมาณที่น่ากังวล คือ ตามเอกสารงบประมาณปี 2567 ที่รัฐบาลมีรายได้เงินนอกทั้งสิ้น 2.40 ล้านล้านบาท และรายจ่ายเงินนอก 2.11 ล้านล้านบาท ทำให้เงินนอกงบประมาณเกินดุลที่กระทรวงการคลังได้ตั้งไว้ 295,828 ล้านบาท จะเป็นการสร้างภาพฐานะการคลังของรัฐบาลให้ดูดีเกินไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องคงเป้าหมายการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2567 ไว้ที่ 693,000 ล้านบาท รองรับการเบิกจ่ายที่ได้รับการจัดสรรไว้ตามที่รัฐสภาอนุมัติ และส่วนที่เบิกจ่ายไม่ทันก็คาดว่าหน่วยรับงบประมาณคงขออนุมัติคณะรัฐมนตรีกันเงินนี้ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีถัดไป ทั้งนี้คงจะไม่มีหน่วยรับงบประมาณใดนำเงินเหลือจ่ายส่งคืนคลัง ดังเช่นสมัยท่านชวน หลีกภัยเป็นประธานสภาที่ให้นำเงินคืนส่งคลัง
ดังนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ การทำให้ดุลเงินนอกงบประมาณเกิดการเกินดุลจึงเป็นภาพมายาเท่านั้น เพราะไม่ใช่เงินของรัฐบาลแต่เป็นเงินของหน่วยงานอื่นที่ได้รับอนุมัติให้ถือเงินส่วนนี้ไว้ใช้จ่ายหมุนเวียนได้ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล ทุนหมุนเวียน หรือกองทุนต่างๆ เป็นต้น
อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปี พ.ศ. 2566 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 62.1 และคาดการณ์ในปี 2567 ร้อยละ 64.0 สิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงหากจะดำเนินนโยบาย Digital Wallet คือเรื่องของสภาพคล่องในตลาดการเงิน และกฎหมายมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่กำหนดว่าการกู้เงินกรณีพิเศษจะต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งตนไม่ติดขัดที่รัฐบาลจะมุ่งดำเนินนโยบาย Digital Wallet แต่ตนไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินเพื่อมาทำนโยบายนี้เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ในส่วนงบประมาณที่เป็นเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สส.สรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สัดส่วนรายได้ระหว่างรัฐบาล กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คิดเป็นร้อยละ 29.1 ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ยังไม่ถึงร้อยละ 35 ตามจุดมุ่งหมายที่ควรจะจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารงบประมาณแล้วเห็นได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเกิดข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณเนื่องจากงบประมาณจะไม่เพียงพอต่อการจัดทำบริการและกิจกรรมสาธารณะ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.