เปิดร่างกม.สมรสเท่าเทียมฉบับรัฐบาลสร้างการยอมรับในสังคมไทย

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ19ธ.ค.2566 มีมติมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมตามที่วิปรัฐบาลเสนอ ให้มีการส่งร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับการสมรสเท่าเทียมนำเข้าที่ประชุมสภาฯ พิจารณา 21 ธ.ค.2566 

สำหรับสาระสำคัญของหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) เพื่อให้บุคคล2คนไม่ว่าเพศใดทำการหมั้นและสมรสได้รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นๆซึ่งจะทำให้บุคคลมีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

ปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ขณะที่สภาพสังคมปัจจุบัน มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก การขาดกฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาหลากหลายประการ เช่น สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และสิทธิในการรับมรดก
 

การผลักดัน ให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อ11ก.ย.2566 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จึงสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยจัดให้มีการรับฟังความเห็นทางออนไลน์ทางเว็บไซต์ law.go.th และระบบ google forms บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่ 31 ต.ค. 2566 - 14 พ.ย. 2566 และได้รับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนกลุ่มศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เมื่อ 7 พ.ย. 2566 

รวมถึงผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอ (Video Conference)ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 7 -10 พ.ย. 2566 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและรับฟังความเห็นเมื่อ 13 พ.ย. 2566 มีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวางและได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนส่วนราชการวันที่ 14 พ.ย. 2566 ส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการ ครม. จึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งมีมติเห็นชอบแล้วเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ 

นอกจากร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของฝากรัฐบาลแล้วก่อนนี้ ยังมีร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลที่เสนอไว้ก่อนหน้า โดยปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.พรรคก้าวไกล เสนอขอเปลี่ยนระบบวาระการประชุมสภาเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนในการประชุมสภาฯเมื่อ14ธ.ค.2566 แต่กลับถูกตีตกไป ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 235 เสียง ต่อคะแนนเสียงเห็นด้วย 149 เสียงโดยฝั่งสส.พรรครัฐบาล เห็นว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการของรัฐบาลเพราะจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ ยังร่างยังมีร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับของมาดามเดียร์ นางสาววทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งให้การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่สมัยสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วแม้จะเป็นสส.พรรคร่วมรัฐบาล แต่ได้ลงมติให้ความเห็นชอบ  จึงได้เสนอกฎหมายดังกล่าวในนามส่วนตัวให้กับ นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา นำไปพิจารณาต่อ

สำหรับเนื้อหาภายในร่างกฎหมายฉบับของมาดามเดียร์ มีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับร่างกฎหมายที่ภาคประชาชน และพรรคก้าวไกลเสนอ ไม่กีดกันเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ไม่แบ่งแยกกฎหมายการบังคับใช้เป็นคู่ชีวิต ที่ยังมีการกีดกันทางเพศอยู่ และร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้คำนิยามการเป็นคู่สมรสทุกเพศ ไม่แบ่งแยกชายหญิงโดยเชื่อมั่นว่า จะช่วยผลักดันให้สภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อทลายข้อจำกัดอคติทางเพศ

ขณะที่นายสรรเพชญ เชื่อว่าการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของผู้ที่มีความหลากหลายเพศเป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยจะขับเคลื่อนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในกระบวนการนิติบัญญัติและขอให้ความมั่นใจกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศว่า ความรักอันบริสุทธิ์จะได้รับการคุ้มครอง อย่างมีเกียรติ และมีศักดิ์ศรีในสังคมไทย

บทสรุปเชิงนโยบาย POLICY BRIEF ฉบับที่ 5 ปี 2565 สมรสเท่าเทียม แต่งโดย จันทมร สีหาบุญลี, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ วิมลรักษ์ ศานติธรรม, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ อัญชลี จวงจันทร์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ ชี้ว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับสถานะของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงเป็นการตรากฎหมายเพื่อรองรับและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพความเป็นพลเมือง และเป็นการวางบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทยเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ การตรากฎหมายนี้จะสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ และจะนำไปสู่ความลดน้อยถอยลงจากการถูกเลือกปฏิบัติของคนกลุ่มนี้และการยอมรับในทางสังคมก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย พร้อมข้อเสนอแนะดังนี้

1. กฎหมายสมรสเท่าเทียมของต่างประเทศ ส่วนใหญ่มีพัฒนาการตามความต้องการของผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มีความครบถ้วนครอบคลุมในทุกมิติเช่นการสมรสโดยทันทีดังนั้น การมีบทบัญญัติทางกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมของประเทศไทยจึงควรมีบทบัญญัติกฎหมายแบบค่อยเป็นค่อยไปตามพลวัตรของสังคม การยกร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติทั้งเชิงกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคมให้เกิดขึ้นและมีผลเช่นเดียวกับการสมรสของคู่รักต่างเพศอาจได้รับการต่อต้านได้

2. ควรมีการศึกษาข้อมูลความต้องการของคนกลุ่มนี้ตามอัตลักษณ์ทางเพศอย่างรอบด้าน เพื่อให้ประเด็นทางกฎหมายมีความครบถ้วนครอบคลุมกับอัตลักษณ์ สนิยม และความหลากหลายทางเพศ

3. บทบัญญัติทางกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมจะต้องกำหนดประเด็นในรายละเอียดย่อยให้สอดคล้องและเหมาะสมตามหลักการของแต่ละศาสนา เช่น การแต่งกายเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จะต้องปฏิบัติตามหลักการของศาสนานั้น  โดยเคร่งครัด หรือการบัญญัติกฎหมาย โดยมีข้อยกเว้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของแต่ละศาสนา ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสังคมพหุวัฒนธรรม

4.การยกร่างกฎหมายจะต้องคำนึงอย่างรอบคอบ ไม่เฉพาะประเด็นทางกฎหมายของผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น เช่น กรณีกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่มีรูปแบบของกฎหมาย คือ การจดทะเบียนคู่ชีวิตและการสมรส จนนำไปสู่การเรียกร้องของคู่รักต่างเพศที่ต้องการจดทะเบียนคู่ชีวิต เพราะไม่ต้องการผลผูกพันทางกฎหมายเช่นการสมรส

5.การบัญญัติกฎหมายเฉพาะเพื่อให้มีผลบังคับใช้กับคู่สมรสเพศเดียวกัน จึงน่าจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบันด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ.....โดยนำสาระสำคัญที่ต้องการจะแก้ไขในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาเป็นสาระสำคัญในกฎหมายคู่ชีวิตทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการสร้างความเข้าใจของบุคคลโดยทั่วไป อีกทั้งกฎหมายนี้จะได้มีความเป็นเอกภาพในการบังคับใช้และป้องกันความสับสนในการตีความกฎหมายในอนาคต อย่างไรก็ตาม กฎหมายคู่ชีวิตจะเป็นข้อยืนยันอย่างชัดเจนว่า สังคมไทยยอมรับการมีอยู่ของคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะพลเมืองตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.