2กลุ่มสส.ประชาธิปัตย์ ปะทะเดือด บทสรุปสุดท้าย แตกหัก หรือ จากกันด้วยดี

ควันหลังจาก22ส.ค.66 วันลงมติ โหวตเลือก 'เศรษฐา ทวีสิน' เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่30 ตำบลกระสุนตก สมาชิกวุฒิสภา(สว.) เบนไป กลายเป็น พรรคว่าที่ฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์ มีเรื่องราวให้ถูกพูดถึง หลายแง่หลายมุม


พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งตั้งแต่ 6 เมษายน 2489 มาถึงปี2566 ผ่านร้อน ผ่านหนาวทางการเมืองกว่า 77ปี ผลิต บุคคลากรการเมืองเป็นจำนวนมาก ประชาธิปัตย์ เป็นทั้ง พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน เผชิญต่อ ข้อครหาต่างๆนานา สุ่มเสี่ยงต่อการ ถูกยุบพรรค การต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ก็เคยผ่านมาแล้ว มรสุมทางการเมือง ทั้งดี ร้าย ผ่านมาทุกรูปแบบ

ครั้งนี้ กำลังเผชิญวิกฤตการเมืองภายในพรรคสำคัญยิ่ง อีกครั้ง


21ส.ค.ก่อนวันลงมติ ประชาธิปัตย์ มีมติพรรค ‘งดออกเสียง’ วันลงมติ22ส.ค. 25สส. ประชาธิปัตย์ ใช้เอกสิทธิ์ไปคนละทิศละทาง 16สส.ลงมติ โหวตเห็นชอบ 6สส.งดออกเสียง 2สส. โหวตไม่เห็นชอบ 1สส.ลาป่วย 


ความเป็นเอกภาพของพรรค จุดยืน แนวคิด อุดมการณ์ และ ทิศทางการเมืองต่อไป ถูกตั้งคำถามตามมา พรรค จะก้าวเดินกันไปอย่างไรต่อไป 

 

สส.2 กลุ่มทางความคิด ขัดแย้งกันรุนแรง ปะทะกันรุนแรง 'ชวน หลีกภัย' อดีตหัวหน้าพรรค ในฐานะสส.บัญชีรายชื่อ หนึ่งในเสียงที่ลงมติ ไม่เห็นชอบ ในการโหวตนายกฯ ระบุ

'การโหวตวันนี้ ไม่ใช่การขัดต่อมติพรรค แต่ย้ำจุดยืน ไม่ทรยศคนใต้ เพราะพฤติการณ์ในอดีตของรัฐบาลยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มีการเลือกปฏิบัติต่อภาคใต้ ละเมิดหลักนิติธรรม การรณรงค์หาเสียงของพรรค โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ก็หยิบยกประเด็นนี้มาพูดจนคนใต้ไม่เลือกพรรคการเมืองของคนกลุ่มนี้ตลอดมา'

และได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งในรายการ มุมการเมือง ทางไทยพีบีเอส

‘ไม่อายหรือที่ไปเสนอตัว เพราะนายเศรษฐา เคยประกาศแต่แรกว่าจะไม่เชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล แต่ยังไปติดต่อด้วยตัวเอง ไปเจรจากับนายทักษิณ ชินวัตร ด้วยตัวเอง ซึ่งความดิ้นรนนี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของพรรคเสียหาย’ 


ขณะที่ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคใต้ และสส.สงขลา ประชาธิปัตย์ ระบุว่า 

‘พรรคเพื่อไทย สามารถรวบรวมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรได้ และมีแนวคิดการเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ พรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ จึงไม่ควรรับมรดกความขัดแย้งในอดีต และเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าได้ จึงสนับสนุนให้นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน พวกตน ทำงานเพื่อประชาชน มาจากการเลือกตั้ง ให้ความสำคัญกับชาติ และประชาชน และพร้อมลาออกทันที หากรู้สึกทรยศประชาชน  

...โทษการขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค จะต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของสส. ร่วมกับ กรรมการบริหารพรรค จึงยังไม่มั่นใจว่า ใครจะขับใครกันแน่ เพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่แถลงข่าวตรงนี้เกือบทั้งหมด ยืนยัน ไม่ได้คิดจะขับใครออกจากพรรค และพร้อมเจรจาพูดคุย บนเหตุผล และความเป็นไปได้’


ด้วยรูปการณ์ พรรคเพื่อไทย ได้พรรคพันธมิตรการเมือง จากพรรคต่างๆรวมกัน เหนียวแน่นแล้ว 314 เสียง และไม่ว่าต่อไปจะมี 40สส.พลังประชารัฐ ยังเดินร่วมงานด้วยกันหรือไม่ แต่ก็ยังมีเสียงข้างมากมากพอ 290 เสียง โดยที่ไม่ต้องมี 16+5 จากประชาธิปัตย์ เข้ามาร่วมรัฐบาล  


ท่ามกลางความเป็นห่วง สมาชิกพรรคหลายคน ‘สามารถ ราชพลสิทธิ์’ หนึ่งในสมาชิกพรรค ห่วงทั้งจุดยืน ภาพพจน์ของพรรค กลัวพรรคจะแปรสภาพ กลายเป็น พรรคอะไหล่ 


‘เชาว์ มีขวด’ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค ตอนหนึ่ง

‘…ผมเข้าใจดีว่าในวันที่พรรคอ่อนแอ หลายคนคิดแค่กอบโกยให้ได้มากที่สุด ทิ้งไว้เพียงซากปรักหักพัง เพราะไม่คิดที่จะอยู่ต่อแล้วในอนาคต แต่อยากให้ตระหนักสักนิดว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่คิดทิ้งพรรค หวังที่จะกอบกู้ สู้ไปด้วยกันแม้ในวันที่พรรคอ่อนล้าโรยแรง มีโมเดลที่พรรคพลังประชารัฐเคยทำ เมื่อครั้งมีความเห็นต่างจนไม่อาจหาข้อยุติได้ สุดท้ายร้อยเอกธรรมนัส เดินจากไป ปล่อยมือเถอะครับ แล้วจากกันด้วยดี'

จากปัญหาความขัดแย้งใน ประชาธิปัตย์ มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ส่งเสียงเรียกร้องให้ ตั้งกรรมการสอบสวน ลงโทษ ขับออกจากพรรค ซึ่งยังไม่รู้ว่า การใช้เอกสิทธิ์สส.ในการโหวตนายกฯ ถึงขั้นจะกลายเป็นบทลงโทษทำให้ถึง ขับออกจากพรรคได้หรือไม่ 


กลเกม เหลี่ยมคมการเมือง วาทกรรมอันเผ็ดร้อน ที่เคยเป็น จุดแข็งในการ ตรวจสอบ ห้ำหั่นฝ่ายตรงข้าม ในวันนี้ กลายเป็น วาทกรรมร้อนแรง หันมาทิ่มแทงใส่ สมาชิกพรรคด้วยกันเอง 

จากความขัดแย้ง การเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ไม่ได้ ลามมาสู่ ความพยายามเจรจาต่อรองขอร่วมรัฐบาล การลงมติเลือกนายกฯไปคนละทิศละทาง โควตารัฐมนตรี จุดยืน แนวคิดไม่ตรงกัน ลุกลามกลายเป็น ความขัดแย้งรุนแรง บานปลาย 2 กลุ่มสส.ที่มีความคิด จุดยืน แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 


บทสรุป ตอนสุดท้าย ประชาธิปัตย์ จะลงเอย 'จากกันด้วยดี' หรือ 'แตกหักกันไปข้าง' คนชนะสถาปนา เป็นผู้ควบคุมพรรคอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ให้ ประชาธิปัตย์ ยังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป 
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.