เศรษฐา ตั้งเป้าผลักดันตัวเลขการค้า ไทย-มาเลเซีย ทะลุ 30 ล้านเหรียญในปี2025
วันที่ 27พ.ย. ที่อาคารสำนักงานด่านศุลกากรสะเดา (แห่งใหม่) อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยเพื่อการเจรจาทำงาน (Working Visit) ต่อยอดผลการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนไทย-มาเลเซีย
นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีเต็มคณะร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยมีรัฐมนตรีฝ่ายไทยประกอบด้วย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับรัฐมนตรีฝ่ายมาเลเซีย ประกอบด้วย Dato’ Sri Alexander Nanta Linggi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ Dato’ Sri Tiong King Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม สาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวชื่นชมการหารือว่ามีประโยชน์ และเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือ แต่ยังมีประเด็นที่ยังต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางการค้า ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่ได้มาหารือกัน เป็นการขับเคลื่อนและต่อยอดความร่วมมือจากที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดน สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำไทยและมาเลเซียที่ต่างเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนให้ก้าวหน้า และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนตามชายแดนของทั้งสองประเทศ
สำหรับการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องให้จัดตั้งคณะทำงาน (Task force) ไทยได้จัดตั้งคณะทำงานฯ 4 ด้าน คือ 1) การค้าและการค้าชายแดน 2) การท่องเที่ยว 3) การเกษตร และ 4) ความมั่นคง โดยต่างหวังว่าคณะทำงานร่วมไทยและมาเลเซียจะสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกันได้เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ
ด้านการค้า ผู้นำทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะผลักดันการค้าและการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านการค้าระหว่างกัน ไทยและมาเลเซียควรร่วมมือกันให้ใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็นไปตามเป้าหมาย Joint Action Plan
นายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางเพิ่มพูนการค้าและการลงทุน ดังนี้
1) นายกรัฐมนตรี ขอให้มาเลเซียเป็นเจ้าภาพประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commission: JTC) ในระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ เพื่อเป็นเวทีหารือถึงความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาที่ยังค้างค้างระหว่างกัน
2) นายกรัฐมนตรีขอให้มาเลเซียช่วยเร่งรัดบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย (MOU on Cross-Border Transport of Goods) โดยประเด็นเรื่องการข้ามพรมแดน เช่น ด่านสะเดา ทางมาเลเซียจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เปิดใช้งานเพราะมีหอการค้า (Chamber of Commerce) ที่อยู่ชายแดนให้เร่งติดตาม
3) นายกรัฐมนตรีขอให้ส่งเสริมควาร่วมมือระหว่างหอการค้าในระดับท้องถิ่นของทั้งไทยและมาเลเซีย เพื่อให้มีการวางแผนร่วมกันในการเพิ่มมูลค่าการค้า การท่องเที่ยว และการพัฒนาบริเวณชายแดน
ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาไทยมากเป็นอันดับหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการยกเว้นการยื่น แบบฟอร์ม ตม.6 ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 31 เมษายน 2567 จะช่วยให้กระบวนการในการเข้า-ออกประเทศไทยของนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่นักท่องเที่ยวไทยพบเจอ คือ ระบบคมนาคมขนส่งและการเดินทางในฝั่งมาเลเซียไม่เพียงพอ ไทยจึงหวังว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย (MOU on Cross Border Transport pf Passengers) จะสามารถเสร็จสมบูรณ์ได้ในเวลาอันใกล้ แต่ไทยยังมีการเข้าถึงที่จำกัด จึงขอให้ทางมาเลเซียช่วยพิจารณาอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งมาเลเซียยินดีรับนักท่องเที่ยวไทยอยู่แล้ว จะให้นักท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวเดินทาง เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
ด้านการเกษตร รัฐบาลไทยมีแผนจัดตั้ง “กรมฮาลาล” ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยจะมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของมาเลเซีย เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านอาหารฮาลาล รวมถึงการกำหนดมาตรฐานและความถูกต้องของสินค้าและอาหารฮาลาลด้วย โดยจะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งมาเลเซียพร้อมร่วมมือ เพราะอาหารฮาลาลเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร
ด้านความมั่นคงชายแดน ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาการค้าสัตว์ป่าเถื่อนข้ามชายแดนไทยและมาเลเซีย โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและมาเลเซีย เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือต่อสู้กับการลักลอบค้าสัตว์ป่า ดำเนินการอย่างเข้มข้น หยุดการลักลอบให้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ด้านโครงการก่อสร้างเชื่อมโยงชายแดน ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังให้มีโครงการเชื่อมโยงตามแนวชายแดน เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว ทั้งในส่วนของ 1) ถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และ 2) สะพานสุไหง โก-ลก จังหวัดนราธิวาส กับ รันเตาปันจัง แห่งที่ 2 รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยมาเลเซียจะช่วยเร่งรัดการก่อสร้างถนนฝั่งมาเลเซีย สำหรับการก่อสร้างสะพานสุไหง โก-ลก ไทยและมาเลเซียได้ตกลงแล้วทางด้านหลักการ ทั้งสองฝ่ายจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซียหวังว่า การหารือระหว่างกันในวันนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชายแดนของทั้งสองประเทศ
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซียได้เดินทางไปสำรวจจุดเชื่อมถนนเพื่อเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ณ โรงแรม Vista ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะเดินทางไปสำรวจด่านบูกิตกายูฮิตัมในฝั่งของมาเลเซีย
นายเศรษฐา ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวอีกครั้งว่า ในการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการครั้งที่ผ่านมา ผม และท่านนายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียเห็นตรงกันว่าทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพในการค้าขายระหว่างกันมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น การพบกันที่สงขลารอบนี้ ผมจึงตั้งใจผลักดันให้ตัวเลขการค้าระหว่างกันสูงขึ้นเพื่อไปให้ถึงเป้าที่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย
โดยรัฐบาลได้ Launch โครงการ One Stop Service CIQ ที่ด่านสะเดา จ.สงขลา เป็นจุดแรก พร้อมขอให้ฝ่ายมาเลเซียเร่งรัดโครงการความเชื่อมโยงบริเวณชายแดนให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน โดยกำหนดกรอบเวลา คือ
(1) ถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ จังหวัดสงขลา - ด่านบูกิตกายฮิตัม รัฐเคดาห์ ให้เสร็จในปี 2568 หากสร้างเสร็จ จะผันรถสินค้าจากมาเลเซียจากด่านเก่าไปยังด่านสะเดาใหม่ได้ทันที จะลดการจราจรที่แออัดบริเวณหน้าด่านลงได้
(2) สะพานสุไหง โก-ลก จังหวัดนราธิวาส - รันเตาปันยัง แห่งที่ 2 รัฐกลันตัน ให้เสร็จในปี 2569
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.