'คำนูณ'ค้านกู้เงินแจกดิจิทัลวอลเล็ต1หมื่นแนะปรับตัดทอนงบปี67แทน
ที่อาคารรัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.)และกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ภายหลังรัฐบาลแถลงความชัดเจนว่า อย่างน้อยก็มีความชัดเจนว่าจะใช้วิธีการ ออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กู้เงิน 500,000ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด เท่าที่ติดตามสว.ไม่ได้มีประเด็นที่จะขัดแย้งทางด้านหลักการ แต่มีความเป็นห่วงหากรัฐบาล ออกพ.ร.บ.กู้เงิน จะชอบด้วยกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา140 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง มาตรา53 ที่กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างชัดเจนว่าการจะออกว่าการจะออกพ.ร.บ.กู้เงิน จะทำได้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็น เร่งด่วน ต้อง ใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
แต่ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรในเดือนธันวาคมนี้ จึงเห็นในเบื้องต้นว่า การบรรจุเงินที่ใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ สามารถบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567ได้ เพราะจะปลอดภัยกว่า และยังอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ทัน
แต่หากออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงิน จะเป็นการเสี่ยง แต่ถ้าหากต้องใช้เงินในกรณีจำเป็นเร่งด่วนก็สามารถออกเป็นพ.ร.ก.ได้เช่นเดียวกับในสมัยรัฐบาลที่แล้วช่วงโควิด -19 อีกทั้งการออกพ.ร.บ.ใช้เวลานานเพราะต้องใช้ 2 สภา และไม่ใช่การใช้เงินอย่างต่อเนื่องได้เงินครั้งเดียวแต่โครงการนี้เป็นการใช้งานครั้งเดียว ที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกจ่ายให้กับประชาชนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป 50 ล้านคน คนละ 10,000 บาท ฉะนั้นการใช้เงินต่อเนื่องจึงไม่เข้าเงื่อนไข
ส่วนจะเป็นการนำเงินมาแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศหรือไม่ตนไม่ขอก้าวล่วง ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ชี้แจง แหล่งที่มาของเงินกับกกต. 4 ประการว่าเป็นเงินในงบประมาณ แต่ในการแถลงรายละเอียดโครงการล่าสุดเป็นหารใช้เงินนอกงบประมาณ แต่หากออกพ.ร.บ.กู้เงินแล้วเป็นไปตามกฎหมายตนก็ไม่มีปัญหา แต่ตนก็ยังเป็นห่วงว่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ดีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะไปขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา
ดังนั้น หน้าที่ตอนนี้คือต้องรอว่าคณะรัฐมนตรีจะถามคณะกฤษฎีกาว่าอย่างไร และคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตอบกลับมาว่าอย่างไร และคณะรัฐมนตรีจะมีมติอย่างไรที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.ต่อ ที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ หรือจะต้องนำร่างพ.ร.บ.มาดูกันต่อไปว่าถูกต้องตรงตามกฎหมายหรือไม่
การที่จะใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจะต้องเป็นไปตามมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ ใน5 ลักษณะคือ กฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี , กฎหมายวิธีการงบประมาณ กฎหมายโอนงบประมาณ , กฎหมายเงินคงคลัง และกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งในกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐมาตรา 53 ได้กำหนดเงื่อนไข ว่าไม่ใช่ทำได้ทุกกรณี ดังนั้นการออกพ.ร.บ.กู้เงิน หากถูกต้องตรงตามเงื่อนไขวินัยการเงินการคลังของรัฐ ก็แปลว่าทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา140 แต่หากทำไม่ถูกต้องในกฎหมายวินัยการเกิดการคลังของรัฐมาตรา 53 ก็จะขัดรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว
"ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ โดยมีการเพิ่มการจ่ายเงินแผ่นดิน ออกไปตามช่องทางกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ของรัฐเข้ามาอีกฉบับหนึ่ง และกฎหมายฉบับนี้พึ่งมีเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2561 ถามว่าออกกฎหมายกู้เงินได้ไหม ตอบว่า ออกได้ แต่เฉพาะ 4 เงื่อนไข เร่งด่วน ต่อเนื่อง แก้วิกฤตประเทศ และอยู่ในช่วง ไม่สามารถจัดตั้งงบประมาณได้ทัน ซึ่งเห็นว่า การที่ไม่สามารถตั้งงบประมาณได้คือส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะการจะทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ดังนั้นรัฐบาลสามารถปรับปรุงแก้ไข ตัดทอนรายจ่ายอื่น มาใช้ในโครงการนี้ได้ และสามารถอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้ เพราะในเจตนารมณ์กฎหมายการเงินการคลัง ต้องการให้การใช้จ่ายทุกประการของแผ่นดิน อยู่ภายใต้กรอบ ของกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้มากที่สุด ไม่ต้องการให้รัฐบาลใดๆก็ตาม ออกกฎหมายกู้เงิน มาใช้เป็นเงินนอกงบประมาณโดยปราศจากเงื่อนไข" นายคำนูณกล่าว
นายคำนูณ ยังกล่าวต่อว่า ขณะนี้องค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ตรวจเงินแผ่นดินและป.ป.ช. ก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบและมองว่า หากรัฐบาลยังจะใช้พ.ร.บ.กู้เงิน เรื่องนี้น่าจะต้องเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว ที่จะต้องดูกันต่อไปและมีรายละเอียดทุกขั้นตอน ซึ่งคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ยังมองในทัศนคติเชิงบวก ว่าเรื่องนี้ ทุกฝ่ายมีความหวังดีต่อประเทศชาติอยากทำให้เศรษฐกิจของชาติเจริญเติบโต แต่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ต้องศึกษาในเรื่องข้อกฎหมาย เรื่องกระบวนการทางนิติบัญญัติ ในขณะองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องทำตามหน้าที่ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
ส่วนจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่มองว่ายังอีกยาวเพราะตามกระบวนการต้องให้พ.ร.บ.ผ่านกระบวนการทั้งสองสภาก่อน และในระหว่างที่รอร่างขึ้นทูลเกล้า สมาชิกสภา ใดสภา 1 หรือทั้ง 2 สภาจำนวน 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาเพื่อยื่นต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ซึ่งขั้นตอนกระบวนการตรงนั้นอีกยาว พร้อมย้ำ ว่าขั้นตอนแรก เป็นขั้นตอนของกฤษฎีกา ก่อนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร 3 วาระ และวุฒิสภาอีก 3 วาระ แต่หากวุฒิสภาไม่รับหลักการในวาระแรกหรือ ไม่เห็นชอบ วาระที่ 3 ก็ไม่ใช่จุดชี้ขาด วุฒิสภาก็จะส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน สภาผู้แทนราษฎรก็จะสามารถยืนยันได้เมื่อพ้น 10 วัน ด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็ถือว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.