เปิดเบื้องลึก บอร์ดเงินดิจิทัล 10,000 บาท "เศรษฐา" หักดิบ เคาะกู้เงิน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติม เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน วันก่อน ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังจากที่ประชุมไฟเขียวรายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ของโครงการเสร็จสิ้น
ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะจับไมค์แถลงด้วยตัวเองยาว 30 นาที ไล่เรียงรายละเอียดของนโยบายชิ้นโบแดง “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ตั้งแต่เหตุผล ความจำเป็น หลักเกณฑ์ เงื่อนไข รวมไปถึงประเด็นใหญ่นั่นคือ “แหล่งเงิน” ที่จะนำมาใช้สำหรับขับเคลื่อนโครงการ
นายกฯ กล่าวถึงประเด็นเรื่องแหล่งเงินว่า โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีกรอบวงเงินกลม ๆ 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะจ่ายให้กับคนไทยมีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท โดยแหล่งเงินหลักจะใช้กลไกการออกพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 5 แสนล้านบาท
"การออก พ.ร.บ. เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออก พรบ. กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องการออก พ.ร.บ. จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา มั่นใจว่า ในที่สุดแล้วกฎหมายจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561"
พร้อมบอกอีกว่า พ.ร.บ.การกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด
“ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี” นายกฯ ย้ำอีกรอบ
สำหรับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน กว่า 5 แสนล้านบาท รอบนี้ ก่อนจะถึงเวลาที่นายกฯ ยืนแถลงต่อสื่อมวลชนในเวลา 14.00 น. ในการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งเริ่มประชุมเมื่อเวลาประมาณ 11.15 น. ได้มีการท้วงติงเรื่องการออกกฎหมายกู้เงินกันอย่างหนัก เพราะกรณีการออก พ.ร.บ.ขึ้นมานั้น ถือเป็นตัวเลือกสุดท้ายของการจัดหาแหล่งเงินมาเสิร์ฟโครงการ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในห้องประชุมว่า มีหน่วยงานที่แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนนั่นคือ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทักท้วงรายละเอียดของโครงการหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการออกพ.ร.บ.กู้เงิน โดยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการในลักษณะนี้จะขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 หรือไม่ เพราะต้องมีที่มาชัดเจน ไม่ใช่อยู่ ๆ จะเอาเงินเข้ามาใส่ โดยไม่มีสินทรัพย์ใดมารองรับ
ขณะเดียวกันหากออกพ.ร.บ.กู้เงินมากถึง 5 แสนล้านบาท อาจจะทำให้ในปีหน้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ธปท. ได้พยายามระมัดระวัง และเป็นห่วงมาโดยตลอด
ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน เป็นเรื่องใหญ่ ในทางปฏิบัติการจะออกกฎหมายฉบับใหญ่แบบนี้จะต้องมีการหารือกันให้ได้ข้อสรุปเสียก่อน เพื่อจะได้พิจารณา และรับฟ้องข้อคิดเห็น หรือข้อแนะนำต่าง ๆ แต่เมื่อทางฝ่ายนโยบายเลือกแนวทางนี้ออกมา ก็ได้เสนอแนะว่า อยากให้มีการไปหารืออีกครั้งให้เกิดความรอบคอบ และรัดกุมมากกว่านี้ เพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า ในการหารือยังมีการทักท้วงเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งได้ผ่านการหารือในคณะอนุกรรมการฯ มาแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายบางเรื่องกลับไม่ได้นำมาพิจารณา ทำให้เกิดการมองว่า การทำงานแบบนี้ไม่ให้เกียรติกับคณะอนุกรรมการฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ซึ่งนายกฯ เป็นคนตั้งเองมากับมือ
ตัวอย่างของเงื่อนไขที่ได้มีการหารือกันมาจนได้ข้อสรุปแล้ว เช่น การเสนอทางเลือกให้ที่ประชุมพิจารณาให้เงินดิจิทัลแบบเฉพาะกลุ่ม ซึ่งในที่ประชุมครั้งนี้ ธปท. และ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้หยิบยกขึ้นมาเสนอว่าควรจะให้แบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเดือดร้อน ที่มีอยู่ประมาณ 16 ล้านคน
แต่ท้ายที่สุดนายกฯ ได้ตัดสินใจจะให้เงินกับคนไทย 50 ล้านคน เพราะเชื่อว่าจะเกิดการใช้จ่ายและมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า และเมื่อมีการตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ ธปท. และสภาพัฒน์ จึงขอให้ที่ประชุมลงบันทึกไว้ในรายงานการประชุมด้วยว่า ทั้งสองหน่วยงานยืนยันหลักการว่าควรจ่ายให้กลุ่มเปราะบางมากกว่า
ด้าน ผู้ว่าฯ ธปท. เสริมอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการครั้งนี้ได้มีการพิจารณาวาระต่าง ๆ เร็วมาก ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที และเกรงว่า อาจจะทำให้บางเรื่องที่หารือไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างรัดกุมและรอบคอบ
แหล่งข่าว ระบุว่า ผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้บอกในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่า ข้อมูลที่เสนอมายังมีเหตุผลไม่เพียงพอ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยและไม่ขอร่วมพิจารณาในเรื่องนี้
แต่สุดท้ายในการประชุมนายกฯ ก็ได้ตัดสินใจเห็นชอบเงื่อนไขใหม่ คือ จ่ายให้กับคนไทยมีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท รวม 50 ล้านคน และจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ก่อนจะมาแถลงต่อสื่อมวลชน โดยตอนหนึ่งของการแถลงนายกรัฐมนตรี ระบุว่า
“นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล หรือ Partnership ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ ผมขอให้ประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายด้วยความภาคภูมิใจ โดยทุกคนล้วนเป็นผู้ร่วมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศของเรา”
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.