ประวัติศาสตร์บอก ประเทศที่ยิ่งใหญ่มักสร้างตัวขึ้นจากสงคราม!
หลายคนไม่เข้าใจว่าโตๆ กันป่านนี้ ประกาศกันปาวๆ ว่าโลกพัฒนาขึ้นเยอะแยะ ผนวกกับเอไอ รณรงค์สิทธิความหลากหลายและเท่าเทียม แต่กลับยิงถล่มแถมทำสงครามกันได้ อย่างกับว่าโลกจะพลิกตาลปัตรกลับไปช่วงเวลาในอดีต จนบางคนเกรงกลัวถึงขั้นว่าจะถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่!
ผลวิจัยชี้ชัด ประเทศพัฒนาแล้ว (บางประเทศ) รับทรัพย์ .. เอเชียสูญเสียมากที่สุด
International Security and Development center เคยได้ออกผลงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามกับเศรษฐกิจ และพบว่า สงครามส่วนใหญ่จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลงลงไปเฉลี่ยอยู่ที่ 12% (ในปี 2014) แต่สำหรับบางประเทศพวกเขาได้ประโยชน์จากความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า
ประเทศกำลังพัฒนานั้นได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากความขัดแย้งที่รุนแรง ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากการมีส่วนร่วมภายนอก
ประเทศที่ต่อสู้กับสงครามที่อยู่ห่างไกลจากประเทศของพวกเขาจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายทางทหาร ในขณะเดียวกันกลับไปสร้างความเสียหายให้กับดินแดนในต่างประเทศ
โดยระบุว่า ในปี 1970 - 2014 นั้น หากไม่มีสงคราม ทวีปเอเชียจะได้รับประโยชน์สูงสุด จากการไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรง ในขณะที่ทวีปอเมริกาเหนือจะต้องสูญเสียเงิน 0.9 ล้านล้านดอลลาห์สหรัฐหากไม่มีสงคราม ในขณะที่ประเทศอย่างอิรักหรืออัฟกานิสถานอาจจะสามารถมี GDP เติบโตได้เป็นสองเท่าหากไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรง
สงครามสร้างชาติ สงครามสร้างธุรกิจ?
นับตั้งแต่ยุคของชาวอัสซีเรีย หรืออาณาจักรในแถบจีบก็มักจะสร้างตัวจากการปราบปรามครั้งใหญ่อย่างรุนแรง การขยายแผ่นดินของเจงกีสข่าน ก็ทำให้เขามีอำนาจ และอำนาจนั้นก็มาพร้อมเงินทอง บริเตนสามารถสร้างอาณาจักรที่ใหญ่และรุ่งเรืองจากการไปล่าอาณานิคมต่างๆ ทั่วโลก ส่วนสหรัฐเองหากก็เคยใช้วิธีการเข้าไปรุกรานเม็กซิโกและมีชัยเหนือรัฐต่างๆ ที่ก่อให้เกิดสนธิสัญญาสันติภาพที่เพิ่มเนื้อที่ให้สหรัฐได้กว่า 2.3 ล้านตารางกิโลเมตร
แม้จะไม่ต้องพูดถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่การขยายดินแดนดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งความมั่งคั่งมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ในยุคต่อมา การแข่งขันกันไม่ใช่แต่เฉพาะในเชิงการขยายดินแดนออกไป ความร่ำรวยไม่ได้มาในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ อย่างเช่น ดินแดน น้ำมัน เหมือนทอง เท่านั้น พวกเขาไม่เข้าไปใช้กำลังในการพัฒนาดินแดนเหล่านั้นโดยตรง เพราะใช้ทรัพยากรมหาศาล แต่เป็นการเข้าไปมีอำนาจในเชิงการเมือง และดึงประโยชน์ออกมา โดยไม่ต้องรับรู้ถึงผลที่เกิดจากสงครามของประเทศที่ตนเข้าไปก่อสงครามด้วย
เฉกเช่นในอดีต จักรวรรดิญี่ปุ่นที่เมื่อสามารถเอาชนะเหนือจีนและรัสเซียได้ก็เรืองอำนาจอยูช่วงหนึ่ง เยอรมนีกลายเป็นผู้นำในยุคโรปหลังจากชนะจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามในช่วงศตวรรษให้หลัง สงครามมุ่งผลทางเศรษฐกิจมากขึ้น ถึงขั้นมีการพูดว่า 'สงครามคือการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง'
ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือสงครามที่เกิดขึ้นแถบตะวันออกกลาง
เริ่มจากสงครามอิรัก ซึ่งแน่นอนว่ามีการกล่าวถึงการได้รับผลประโยชน์ของบริษัทบริการน้ำมันรายหนึ่งของสหรัฐ ที่มีมูลค่ากว่า 39.5 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ช่วงสงครามอัฟกานิสถาน หุ้นภาคกลาโหมของสหรัฐทำได้ดีกว่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นถึงร้อยละ 58%
ล่าสุดหลังโลกต้องพบกับโควิด 19 ที่เอาเศรษฐกิจโลกผันผวนปั่นป่วน จนคนคงไม่คาดคิดว่าใครจะกล้าทำสงครามในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่ไม่ใช่ในสงครามยูเครน เพราะมีการรายงานในสื่อต่างประเทศพบว่ามีบริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ได้รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อรัสเซียลดราคาน้ำมัน อินเดีย หรือซาอุที่นำเข้าน้ำมันราคาถูกก็คงได้กำไรมหาศาล รวมไปถึงรัสเซียก็ได้มีการจัดหาก๊าซส่งสหภาพยุโรปซึ่งทำรายได้ 900 ล้านดอลลาร์ต่อวันในช่วงสองเดือนแรก ได้ให้รัสเซียมีรายได้กว่า 66.5 พันล้านดอลลาร์จากการส่งออกเชื้อเพลิงเหล่านี้!
ล่าสุดได้มีการเปิดเผยจากเว็ปไซต์สื่ออิสระอย่าง Proekt เมื่อวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พบว่าอย่างน้อย 81 รายชื่อของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 200 คนของรัสเซีย (ตามการจัดอันดับของ Forbes ในปี 2021 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรุกรานยูเครนของรัสเซียเพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวของกับผู้นำของชาติ
สอดคล้องกับผลวิจัยด้านบนที่ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะได้ประโยชน์จากสงคราม
สงครามอิสราเอล สาเหตุจากอะไร ใครได้ประโยชน์?
ในหนังสือ 21 Lesson for the 21st Century เขียนไว้ว่าประเทศต่างๆ นั้นหลีกเลี่ยงการทำสงครามในช่วงศตวรรษที่ 21 และมุ่งเน้นความรุ่งเรืองก้าวหน้าไปกับภาคเศรษฐกิจมากกว่า เพราะสงครามไม่ทำกำไรในคริสต์ศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป
สงครามยูเครน-รัสเซีย อาจไม่เห็นด้วยกับประโยชน์ดังกล่าวเท่าไหร่นัก แต่ไม่ใช่กับอิสราเอล
ช่วงศตวรรษที่ 21 ประเทศในตะวันออกกลางมีการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงในทุกทาง ส่วนอิสราเอลนั้นต่อให้ผ่านสงคราม ได้ครอบครองดินแดนอย่างใจฝัน แต่ว่าพวกเขากลับต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจอยู่ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ในปี 2018 มีการคาดการณ์ว่าหากกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลอยากที่จะเข้ายึดกาซาและคว่ำระบอบฮามาสก็คงจะทำได้ง่าย แต่อิสราเอลกลับหลีกเลี่ยงและปฏิเสธ เราไม่เห็นการเข้าไปทำสงครามเอาดินแดนฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จ ส่วนหนึ่งเพราะรู้ว่าจะได้ประโยชน์น้อยเหลือเกินจากการชนะสงคราม
แล้วทำไมครั้งนี้อิสราเอลถึงไม่ถอย?
ก่อนจะไปถึงคำถามนั้น ควรถามว่าทำไมฮามาสถึงสู้?
ตั้งแต่การเกิดสงครามเป็นต้นมา มีการเสนอถึงชนวนความขัดแย้งของกลุ่มฮามาสและอิสราเอล ซึ่งลากยาวไปหลายสิบปี ระหว่างทางนั้น หากเราดูก็จะพบว่า มีการโจมตีกันประปรายแต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงถล่มทลายเช่นวันที่ 7 ตุลาคมนี้ การทำสงครามของฮามาสหวังจะชนะอิสราเอลจริงหรือ? ในเมื่อก็รู้ว่าอิสราเอลนั้นมีพลังทางการทหารเพียงใด
และเมื่อพิจารณาชาติอาหรับอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มฮามาส เราจะพบว่าแต่ละประเทศก็ต้องเผชิญกับภาวะท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในของประเทศตัวเองอยู่ อย่างเช่นจอร์แดนก็มีกองกำลังทหารที่จำกัด ซีเรียยังคงติดอยู่กับสงครามกลางเมืองของตนเอง และอิรักก็ยังไม่มั่นคง ส่วนอิหร่านที่มีอำนาจมากที่สุด และมีความเป็นไปได้หากอยากจะสนับสนุนกลุ่มฮามาสแต่ก็ทำได้เพียงการโจมตีด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล และอาจถูกตอบโต้กลับจากอิสราเอลที่มีเทคโนโลยีทางการทหารสูงกว่ามาก ซึ่งหากอิหร่านเคลื่อนไหว ก็จะเท่ากับว่ากลุ่มรัฐอาหรับจะพุ่งเป้าไปยังอิหร่านเสียมากกว่า
นี่จึงเป็นคำถามสำคัญ ที่ติดอยู่ในใจตลอดการเกิดสงครามว่า ทำไมฮามาสถึงเลือกที่จะสู้? ในเมื่อรูปการณ์ก็รู้ว่าอาจจะแพ้
ในฉนวนกาซาเปรียบเหมือนคุกโล่งแจ้ง มีประชากรหนาแน่นกว่า 2.3 ล้านคน แต่มีพื้นที่เล็กกว่าจังหวัดสมุทรสงครามบ้านเราเล็กน้อย ซึ่งประชากรในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีเพียงประมาณ 190,000 คน ต่างกัน 10 เท่า การสาธารณสุขจำกัด เด็กโตมากับความรุนแรง พวกเขามีที่พึ่งจิตใจเพียงสิ่งเดียวคือศาสนา หลายคนจึงคาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มัสยิดอัล-อักซอในกรุงเยรูซาเลมเป็นชนวนเหตุหนึ่งที่สำคัญ รวมไปถึงการขยายตัวด้านการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลที่เขยิบเข้ามาทุกที และการปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ที่สั่งสมเป็นเวลานาน
สิ่งหนึ่งที่ฮามาสทำได้ดีในสงครามนี้คือ 'บอกให้ชาวโลกได้รู้ถึงสิ่งที่พวกเขาเจอมาตลอดหลายสิบปี' เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพของชาวปาเลสไตน์ในความรู้สึกของชาวโลกก่อนหน้านี้ถูกบิดเบือนจากสิ่งที่พวกเขาต้องการนำเสนอ ส่วนใหญ่จะมีก็แต่ภาพของการเป็นผู้ก่อการร้าย แต่สงครามครั้งนี้ทำให้โลกโซเชียลขุดคุ้ยประเด็นขึ้นมาและถกกัน จนเกิดการเดินขบวนสนับสนุนกลุ่มฮามาสในบางประเทศด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ยังทำให้ระบบการเมืองของรัฐบาลอิสราเอล ซึ่งตอนนี้ประชาชนอิสราเอลก็เกิดการตั้งคำถามกับรัฐบาลถึงความล้มเหลวของหน่วยข่าวกรองที่ได้ขึ้นชื่อว่าเก่งและยอดเยี่ยมที่สุดในโลก กลับผิดพลาดกับการโจมตีครั้งใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร และพลาดโอกาสที่จะป้องกันการโจมตีที่ควรจะทำได้จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝั่งเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงความปลอดภัยภายใต้การปกครองของรัฐบาลชุดนี้จะยังคงเป็นไปได้อีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การโจมตีของฮามาส มาจากผลประโยชน์เพียงเท่านี้จริง?
จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครตอบได้ว่าทำไมอิสราเอลกับฮามาสต้องรบกันตอนนี้ และใครกันคือผู้ที่จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง?
ชนวนของสงครามและความเป็นจริงจะปรากฎแจ่มชัด เมื่อสงครามจบแล้วและใครร่ำรวยขึ้นผิดวิสัยหรือได้ประโยชน์หลังจากนั้นนั่นแล.
ที่มา
https://isdc.org/economic-burden-of-conflict/
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.