เปิดนโยบาย ‘วราวุธ’ ทำอย่างไรให้คนพิการคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเท่าเทียม?
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยตัวเลขรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ว่า ตัวเลขผู้พิการทั่วประเทศมีกว่า 2,204,207 คน คิดเป็นเพศหญิง 1,053,353 คน เพศชาย 1,147,854 คน
เมื่อจำแนกตามอายุพบว่า ผู้พิการที่อยู่ในช่วงปฐมวัย (0-6 ปี) ผู้พิการในวัยเรียน (6-14 ปี) ผู้พิการที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น (16-21ปี) มีความพิการด้านสติปัญญาสูงที่สุด ส่วนผู้พิการวัยทำงาน (15-59ปี) มีความพิการทางด้านการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะพบกับปัญหาทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบจำนวนแล้วพบว่าผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ต้องเผชิญกับภาวะพิการมากที่สุดถึง 55.6%
ปัญหาที่เกิดขึ้นและสำคัญคือผู้พิการนั้นอยู่ในวัยทำงานทั้งหมดกว่า 859,555 คน ซึ่งบางคนต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว
อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์กับปีที่แล้วในไตรมาสเดียวกันพบว่า คนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการในปีที่แล้วมี 2,116,751 คน จึงนับได้ว่ามีจำนวนผู้พิการมากขึ้นเกือบ 90,000 คนภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี..
นำมาซึ่งการต่อสายสัมภาษณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เพิ่งจะมากุมบังเหียนร้อนได้เพียง 1 เดือน! ถึงมุมมอง นโยบาย และสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ในอนาคตอันใกล้!
ไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นหน่วยงานที่ทำให้ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
เราเริ่มเปิดบทสนทนาจากสถิติผู้พิการปี 2566 ข้างต้น ...
‘น่าตกใจมั้ยครับ เพราะเยอะมาก แต่ในขณะเดียวกันตัวผมเองก็ไม่ได้มองว่าคนเหล่านี้คือคนด้อยโอกาส’ รมว.พม. เสนอมุมมองการขับเคลื่อนกระทรวงที่มีต่อกลุ่มคนพิการ
‘ ถ้าดูตามจำนวนคนพิการที่เห็นอยู่ตอนนี้ จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้สูงอายุทั้งนั้นเลยนะครับ ทีนี้วันนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะด้วยเทคโนโลยีการแพทย์และการรักษาพยาบาล ทำให้สุขภาพของคนเราดีขึ้น แก่ช้าลง แปลว่า 60 ปีขึ้นไปเขาไม่ได้แก่อีกแล้ว ยังมีศักยภาพอีกมากมาย หากพูดแค่ประเด็นผู้สูงอายุ เขายังเป็นกำลังให้สังคมไทยได้อยู่ และถ้าพูดในประเด็นคนพิการ ผมไม่เคยคิดว่าคนพิการเป็นคนด้อยโอกาสนะ เพียงแต่หน่วยงานของรัฐและเอกชนบางแห่ง ไม่ให้สิทธิที่เขาควรจะได้
อย่างก่อนหน้านี้มีการใช้ภาษามือในการประชุมต่างๆ ทีวีบางช่องมีการใช้ภาษามือตลอด ซึ่งการให้บริการเหล่านี้เป็นมาตรฐานที่คนพิการควรได้รับ พอเขาไม่มีคือเขาเสียโอกาส ไม่ใช่ด้อยโอกาสนะ แต่เสียโอกาส หมายถึง โอกาสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐและบางฝ่ายไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อรองรับความพิการที่เขามี' รมว.พม.เปิดประเด็นถึงมุมมองต่อผู้พิการในประเทศไทย อันนำมาซึ่งนโยบายและสิ่งที่จะขับเคลื่อนในอนาคต
' สิ่งที่กระทรวงพม. อยากจะทำคือ เราอยากจะดึงศักยภาพของผู้พิการออกมา เพราะว่าคนพิการไม่ใช่คนไร้ศักยภาพ คนพิการเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถมากมาย
ยกตัวอย่างเช่น คนตาบอดจะมีประสาทการได้ยินดีกว่าคนธรรมดา ก็เป็นที่มาว่าอย่างวันนี้ กระทรวงพม. มีศูนย์ Hot Line ก็ขอให้ท่านปลัดกระทรวงนำคนตาบอดมาทำหน้าที่รับสาย เพราะอะไร เพราะเวลาฟังโทรศัพท์ คนตาบอดหูเขาจะฟังน้ำเสียง ฟังเสียงคนโทรมา เขาสามารถแยกแยะได้ และบอกได้ว่ามีอะไรผิดปกติมั้ย เพราะการได้ยินของคนตาบอดดีกว่าคนทั่วไป นี่เป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างที่ว่า คนพิการไม่ได้แปลว่าไม่มีศักยภาพ เขามีศักยภาพมากมาย แต่ไม่ได้มีการดึงศักภาพมาใช้
ดังนั้น แนวทางของพม. ต่อไปคือเราไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นหน่วยงานที่ดึงเอาศักยภาพของคนทุกกลุ่มออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้มีที่ยืนในสังคม และสามารถใช้ชีวิตในสังคมด้วยความเท่าเทียม และด้วยศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน’
นอกจากนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา ยังได้พูดถึงโครงการในเชิงรูปธรรมที่ทางกระทรวงจะขับเคลื่อนให้มากขึ้น นั่นก็คือ การจ้างงานคนพิการ โดยมองว่าภาครัฐต้องทำให้เป็นตัวอย่าง
‘ ภาครัฐยิ่งสำคัญ เราต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ให้มีการจ้างงานคนพิการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความพิการด้านใดก็แล้วแต่ เพื่อให้เห็นว่าพวกเขามีศักยภาพที่ทำอะไรได้ แม้แต่คนที่เป็นออทิสติกเอง วันก่อนผมไปตรวจราชการที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ยังเห็นว่าพวกเขาทำเบเกอรีขายได้ ดังนั้นคนเราทุกคน ถ้าหากฝึกฝนให้ถูกต้องในกรอบการฝึกที่ถูกวิธี ก็สามารถดึงศักยภาพของคนทุกกลุ่มให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมไทยครับ’
เพิ่มงบประมาณการดูแลผู้พิการให้แก่ครอบครัว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่
จากสถิติเราจะพบว่าอันดับหนึ่งของผู้พิการในประเทศไทยนั้นมีปัญหาเรื่องความพิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหวกว่าร้อยละ 50 หรืออยู่ที่ 1,130,067 คน รองลงมาคือการพิการทางการได้ยิน และการพิการทางการมองเห็น ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ถูกพูดถึงตลอดมาคือ เมืองจะรองรับความเป็นอยู่ที่ดีของกลุ่มคนพิการอย่างไร?
‘แนวทางนโยบายของกระทรวงในปี 67 เราจะพยายามส่งเสริมในการหางบประมาณ เช่น จะเพิ่มวงเงินให้แต่ละครอบครัวได้ประมาณ 1 แสนบาท ในการปรับปรุงที่อยู่ให้แก่ผู้พิการและครอบครัว การทำทางลาด การปรับปรุงห้องน้ำ และขยายผลไปถึงผู้ที่ดูแลคนพิการ รวมไปถึงค่าอุปโภคบริโภค เราอยากจะให้เงินเพิ่มขึ้น ซื้อสิ่งของเครื่องใช้สำหรับผู้พิการเดือนหนึ่งให้ได้เงิน 2,000 บาท และหนึ่งในนโยบายของเราคือการสนับสนุนค่าอุปการะคนพิการ ให้กับคนมีอาชีพ หรือมีหน้าที่การดูแลคนพิการเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนเหล่านั้น ซึ่งทุกวันนี้เริ่มเป็นอาชีพที่สำคัญขึ้น การสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยทางด้านจิตใจกับนักจิตวิทยา ก็จะบรรเทาความรุนแรงทางใจของปัญหาได้ ซึ่งการอำนวยความสะดวกเหล่านี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการไม่ได้เป็นภาระจนเกินไป ครอบครัวสามารถดูแลคนพิการในครอบครัวด้วยกันเองได้ด้วย ’
มาตรการเชิงรุก ป้องกันก่อนการเกิดความพิการ
เมื่อดูจากสถิติจะพบว่า ในช่วงเด็ก-วัยรุ่นผู้พิการจะเป็นผู้พิการทางด้านสติปัญญาส่วนใหญ่ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงานอัตราของผู้พิการที่เกิดความพิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหวกลับพุ่งสุงขึ้นแซงทุกปัจจัยอย่างสูงลิ่ว
‘อาจเป็นไปได้จากอุบัติเหตุทางถนน สถานที่ทำงาน และเกิดจากการประกอบอาชีพ ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ หรือแม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับกฎจราจร เพราะประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนและเกิดการพิการสูงมาก’
รมว.พม. ยังอธิบายต่อไปว่า หากเป็นมาตรการเชิงรุกในเรื่องของการป้องกันการเกิดความพิการ ในกรณีความพิการทางร่างกายที่เกิดจากอุบัติทางท้องถนน หรือจากการทำงาน อาจจะเกินขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพม.
'แต่ความพิการบางชนิดอย่างเช่น ความพิการทางการเรียนรู้ เชื่อว่าสามารถป้องกันได้ ด้วยการทำให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น พ่อแม่มีความใส่ใจกับการเรียนรู้ของลูกในแต่ละช่วงวัย เพราะการสร้างสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของกระทรวง’
ทั้งนี้ ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมีนัดประชุมกับคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 30 ตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะ ความคิด และแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็นของการทำงาน และหนึ่งในเนื้อหาที่คุย คือ ประเด็นยุทธศาสตร์และนโยบาย ที่เน้นการทำให้ทุกคนในสังคมมีจุดยืนอย่างเท่าเทียมกัน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยจะหยิบยกประเด็นเรื่องของการจ้างงาน และการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเข้าร่วมในการหารือครั้งนี้ด้วย .. โดยทางกระทรวงตั้งเป้าจะทำโครงการดังกล่าวในงบประมาณปี 2567 ที่จะถึงนี้.
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.