ภาพรายละเอียดสูงของ “THEOS-2” ช่วยจัดการเรื่องน้ำท่วมได้อย่างไร
THEOS-2 รายละเอียดภาพ 50 เซนติเมตร แน่นอนว่ามันเป็นภาพที่ชัดมากๆ เมื่อถ่ายจากอวกาศ และชัดเพียงพอที่นักวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมจะสามารถแยกแยะประเภทของวัตถุในภาพได้
เช่น แยกแยะประเภทของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นตึก บ้านชั้นเดียว บ้านสองชั้น ทาว์นเฮาส์ เป็นต้น และนอกจากนั้นด้วยรายละเอียดสูงยังสามารถมองเห็นสภาพของอาคารแต่ละหลังได้อีกด้วย เช่น สภาพสมบูรณ์ สภาพเสียหาย หรืออาคารที่ถูกรายล้อมด้วยมวลน้ำ เป็นต้น
นอกจากตัวอาคารที่ว่าชัดแล้ว ในสถานการณ์น้ำท่วม ภาพรายละเอียดสูงมากจาก THEOS-2 ก็สามารถให้รายละเอียดถนนหรือซอยที่กำลังถูกน้ำท่วมได้อย่างชัดเจนเช่นกัน รวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางน้ำ
นั่นหมายถึงนักวิเคราะห์ฯจะสามารถสกัดข้อมูลขอบเขตของพื้นที่น้ำท่วมได้ถูกต้องและละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเขตเมือง หมู่บ้าน หรือชุมชน แม้กระทั่งการระบุหรือนับจำนวนหลังคาเรือนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องและชัดเจนทั้งนี้ก็เพื่อการเยียวยาที่เป็นธรรม
ว่าแต่ แล้วถ้าภาพรายละเอียดสูงมันเห็นชัดและดีขนาดนี้ ทำไมไม่เอามาใช้ตั้งแต่แรก ซึ่งสามารถตอบได้ทันทีเลยว่า มันแพงมาก! ราคาต่อตารางกิโลเมตรของภาพรายละเอียดสูงระดับนี้ ค่อนข้างสูงมากและต้องสั่งจากต่างประเทศ เมื่อเทียบกับพื้นน้ำท่วมในเขตเมืองทั่วประเทศแล้ว จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล
ในช่วงน้ำท่วมปี 2564 และ 2565 ประเทศไทยเคยได้รับการสนับสนุนภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูงจากหน่วยงานต่างประเทศพื้นที่ละประมาณ 2-3 ภาพ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับความเข้าใจภาพรวมของสถานะการณ์น้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ เพราะภาพที่ได้มาไม่ใช่วันที่น้ำท่วมสูงสุดเสมอไป ทำให้บางพื้นที่ที่น้ำเข้าท่วมก่อนหรือหลังดาวเทียมถ่ายภาพอาจจะตกหล่นไปจากฐานข้อมูลความเสียหายได้
ด้วยศักยภาพของดาวเทียม THEOS-2 ที่มีรายละเอียดของภาพที่ดีขึ้น พื้นที่ครอบคลุมต่อหนึ่งภาพที่ค่อนข้างกว้างและรอบการถ่ายภาพที่ไม่จำกัดเพราะเป็นดาวเทียมของเราเองนั้น จะช่วยทำให้ประเทศไทยเรามีข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมอย่างละเอียดหรือจำนวนหลังคาเรือนที่ได้รับผลกระทบ ถูกบันทึกไว้โดยดาวเทียม THEOS-2 เพื่อการติดตามสถานะการณ์น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง การเข้าพื้นที่เพื่อการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที และที่สำคัญที่สุดก็เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับภารกิจการฟื้นฟู เยี่ยวยา และการป้องกันที่เป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน
“ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง”
บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นยังไง แต่ถ้าบอกว่า ภาพดาวเทียมจากกูเกิ้ลแมพ ภาพที่ทำให้เราเห็นหลังคาบ้านได้ชัดเจน เชื่อว่าหลายคนก็จะเข้าใจตรงกันถึงลักษณะของข้อมูล ซึ่งประโยชน์ของมันมีมากกว่าใช้เพื่อการนำทาง ส่องหลังคา ตรวจหาวัตถุลึกลับ
เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันมันเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญสำหรับทุกๆคน ไปจนถึงระดับประเทศกันเลยทีเดียว
หนึ่งในคุณสมบัติที่แตกต่างกันของภาพถ่ายจากดาวเทียมของแต่ละดวงนั่นก็คือ รายละเอียดจุดภาพ หรือ Spatial Resolution สิ่งนี้ทำให้เราสามารถแบ่งประเภทของภาพถ่ายจากดาวเทียมออกเป็น รายละเอียดสูง รายละเอียดปานกลาง และรายละเอียดต่ำ เช่น ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม WorldView-2 มีรายละเอียดจุดภาพ 50 เซนติเมตรภาพถ่ายของดาวเทียมไทยโชตมีรายละเอียดจุดภาพ 2 เมตรจัดอยู่ในกลุ่มภาพรายละเอียดสูง ส่วนภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat มีรายละเอียดจุดภาพ 30 เมตรจัดอยู่ในกลุ่มภาพรายละเอียดปานกลาง เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีการนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป
รายละเอียดจุดภาพ 50 เซนติเมตร ความหมายของมันก็คือ 1 จุดภาพ หรือ 1 พิกเซล จะมีขนาดพื้นที่เท่ากับ 50 x 50 เซนติเมตรบนพื้นที่จริง หรือหากลองคิดกลับกัน วัตถุบนพื้นโลกที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 x 50 เซนติเมตร ก็จะสามารถมองเห็นได้ในภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง เช่น รถยนต์ที่กำลังวิ่งอยู่บนท้องถนน เรือที่กำลังแล่นกลางมหาสมุทรหรือแม้กระทั่งแคมปิ้งบนลานกลางเต็นท์ เป็นต้น
ข้อมูลจาก:
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.