เปิดที่มา หาสาเหตุ ว่าด้วยเรื่อง “พื้นที่” กรุงเทพเสี่ยงน้ำท่วม เพราะ?

พอเข้าเดือนสิบ ฝนก็ตก และก็ตกเวลาเลิกงานซะด้วย รถก็ติด จนเป็นเรื่องที่รู้สึกชินมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะสำหรับคนในสังคมเมืองหลวงอย่างกรุงเทพเมืองฟ้าอมรของเรา แม้ว่าจะผ่านมาหลายยุคหลายสมัยแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เด็ดขาด หรือว่าแก้ไขไม่ตรงจุด?

หรือว่าการแก้ไขนั้นตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ดูเหมือนจะมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากโลกร้อน โลกรวน มาถึงโลกเดือด ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเพื่อการพัฒนาของสังคมเมือง ศูนย์การค้า ถนน เครือข่ายขนส่งมวลชน โครงการที่พักอาศัย มีการศึกษาและทำแผนที่ความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครนั้น เปิดเผยว่า 

 

"การใช้พื้นที่" เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยยะสำคัญที่สุดในการเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครจากพื้นที่เก็บกักน้ำกลายเป็นตึกสูง ถนนที่สูงกว่าบ้าน ท่อระบายน้ำที่มีขนาดเท่าเดิมเมื่อ 30 - 40 ปีก่อน แต่ต้องรับปริมาณน้ำมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง 

 

ลองมาดูกันดีกว่าว่า พื้นที่เสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครอยู่ตรงไหนบ้าง

 

 

 

จากการแผนที่เสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยวิธีการซ้อนทับข้อมูลจาก 8 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การใช้พื้นที่ ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำทะเล ดินทรุด ความลาดเอียง ความหนาแน่นของถนน ความหนาแน่นของคลองและน้ำท่วมในอดีตนั้น ได้จำแนกความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 50 เขต รวมพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร เป็น 3 ระดับ คือ ความเสี่ยงสูง กลาง และต่ำ  

 

เห็นได้ว่า พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง คิดเป็น 50% ของพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือ 784.089 ตารางกิโลเมตร เขตที่ติดอันดับความเสี่ยงสูงได้แก่ เขตราชเทวี ดินแดง พญาไท วังทองหลาง จตุจักร ตามมาด้วย พื้นที่ที่มีความเสี่ยงกลาง คิดเป็น 35% ของพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร หรือ551.815 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ เขตจอมทอง สาทร บางกอกใหญ่ และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ คิดเป็นเพียง 14% ของพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือ 222.360 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ เขตบางขุนเทียน บางคอแหลม ทุ่งครุ ทวีวัฒนา

 

จากแผนที่ความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม สามารถกล่าวกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมได้สูง และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพื้นที่ชั้นใน เปรียบเหมือนเป็นไข่แดงของกรุงเทพมหานคร ที่มีความหนาแน่นของธุรกิจ การค้า หน่วยราชการ สถานศึกษา และที่พักอาศัยในขณะที่พื้นที่ความเสี่ยงกลาง เป็นพื้นที่ไข่ขาว ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก โกดังสินค้า และที่พักอาศัย 

และสุดท้ายคือพื้นที่เสี่ยงต่ำ เป็นพื้นที่ที่อยู่รอบนอกของกรุงเทพมหานคร ยังมีการทำเกษตรกรรม และเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล


รู้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่ได้จะทำให้ตกใจ หรือต้องย้ายออกจากพื้นที่ แต่เป็นการเตือนให้เตรียมความพร้อมว่า พื้นที่ที่อยู่ในระดับความเสี่ยงต่าง ๆ ต้องเตรียมตัวอย่างไรต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนที่จะถึงหน้าฝนศึกษาเส้นทางการอพยพกรณีมีเหตุภัยพิบัติฉุกเฉิน โรงพยาบาลหรือสถานีบริการสุขภาพมีอยู่ตรงไหนบ้าง เบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่สำคัญต้องรู้ และที่สำคัญคือ ต้องมีการจัดการขยะ ทิ้งขยะให้ถูกที่ เพื่อไม่ให้เกิดการอุดตัน ขวางทางระบายน้ำขณะเกิดฝนตกและน้ำท่วมขัง ซึ่งนี่อาจจะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมขังของสังคมเมืองก็เป็นได้ ถ้าทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน คนละไม้คนละมือ ปัญหาน้ำรอการระบายในกรุงเทพมหานครที่สะสมมานานของเรานั้น ก็จะระบายได้เร็วขึ้น  ท่อระบายน้ำก็ได้ทำงานอย่างเต็มกำลังและมีประสิทธิภาพ และรถก็จะติดน้อยลง

 

 

ดร ฉันฑิต สว่างเนตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมวิทยา

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.