เรียนสายไหนก็สอบหมอได้ กสพท เปลี่ยนหลักเกณฑ์ปี 67
ช่วงมัธยมปลาย เป็นช่วงที่เด็ก ๆ หลายคนต้องเลือก “แผนการเรียน” ว่าจะเรียนอะไรดีระหว่าง “สายวิทย์” หรือ “สายศิลป์” ซึ่งในช่วงของการเลือกแผนการเรียนและช่วงของการใช้เวลาอยู่ในแผนการเรียนที่เลือกเป็นเวลา 3 ปีนี้ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการตัดสินอนาคตของพวกเขาว่าจะได้เดินตามความฝันของตัวเองหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นอนาคตของเด็ก ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านมักจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตการเรียนของลูก ๆ ด้วย และบางท่านอาจหนักถึงขั้นตัดสินใจให้เองเลยว่าลูกควรเรียนสายใด
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ปกครองมักจะเลือกหรือเกลี้ยกล่อมให้เด็กเลือกเข้าเรียนแผนการเรียน “วิทย์-คณิต” เป็นลำดับแรก เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าจบม.ปลายสายวิทย์ จะมีโอกาสในการเลือกเรียนคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยได้มากกว่าเรียนจบสายศิลป์ พูดง่าย ๆ ก็คือ สามารถปูทางไปสู่อนาคตที่ดีได้เนื่องจากมีตัวเลือกเยอะ จะเข้าคณะสายวิทย์แบบที่เรียนเน้นมาตั้งแต่ม.ปลายก็ได้ หรือจะฉีกไปเรียนคณะสายศิลป์ก็ได้ ในคณะที่เด็กที่เรียนจบม.ปลายสายศิลป์มาจะมีตัวเลือกน้อยกว่าในการเลือกคณะในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะคณะที่เป็นสายวิทย์วิชาชีพโดยตรง ที่มักจะไม่เปิดรับเด็กที่จบสายศิลป์ เนื่องจากพื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์ไม่เข้มข้นมากพอ ที่เห็นชัดที่สุดคือ หลักสูตรแพทยศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ข้อจำกัดดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนแล้ว สำหรับปีการศึกษา 2567 กสพท ได้เปลี่ยนเกณฑ์การรับสมัครสอบนักศึกษากลุ่มคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสัตวศาสตร์ ใหม่ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกสายสามารถสมัครสอบกลุ่มคณะแพทย์รอบ กสพท ได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเด็กที่เรียนจบสายวิทย์-คณิตเท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เด็กม.ปลายที่เรียนสายศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นศิลป์-คำนวณ หรือศิลป์-ภาษา แต่มีความใฝ่ฝันอยากที่จะเป็นหมอ หมอฟัน หมอสัตว์ หรือหมอยา ได้มีโอกาสที่จะเริ่มต้นเดินตามความฝันของตัวเองที่เคยเลือนหายไปเมื่อครั้งที่ไม่ได้เข้าเรียนสายวิทย์อีกครั้งหนึ่ง
โอกาสใหม่ที่ทำลายข้อจำกัดเดิม ๆ
แน่นอนว่าการเปลี่ยนเกณฑ์การรับสมัครสอบนักศึกษากลุ่มคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสัตวศาสตร์ ใหม่นี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับใครหลายคนที่เคยพับความฝันที่จะเป็นหมอเก็บไปแล้วเมื่อตอนที่ไม่สามารถเข้าเรียนแผนการเรียนวิทย์-คณิตได้ (ตอนม.ต้นอาจจะเกรดไม่ถึง) หรือตัดสินใจผิดที่จะไม่เรียนวิทย์-คณิต สามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งกับการเตรียมสอบเข้าคณะกลุ่มแพทย์ ที่จะไม่ใช้แผนการเรียนของเด็กมาเป็นเกณฑ์อีกต่อไป ข้อเท็จจริงคือมีเด็กสายศิลป์จำนวนไม่น้อยที่หัวดี เรียนหนังสือเก่ง แต่ไม่ได้เลือกเรียนสายวิทย์ กับอีกกลุ่มที่อยากเรียนสายวิทย์ แต่คะแนนตอนม.ต้นทำให้ไม่สามารถไปต่อในสายการเรียนนี้ได้ จึงต้องเบนมาเรียนสายศิลป์แทน
นับว่าเป็นการทำลายข้อจำกัดเดิม ๆ ของเด็กที่มีใจอยากเรียนคณะกลุ่มแพทย์ แต่ติดที่คุณสมบัติเรื่องแผนการเรียนม.ปลาย ที่ทำให้ไม่สามารถเรียนได้ ที่แม้แต่จะลองสมัครสอบดูยังเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งที่หัวของเด็กหลาย ๆ คนบวกกับความพยายามและความตั้งใจที่มี อาจทำให้พวกเขาไปไหวจนสามารถเรียนจบออกมาได้ในที่สุด ดังนั้น เกณฑ์ใหม่ในปีการศึกษา 2567 ที่การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ผ่านระบบรับตรงของ กสพท จะสู้กันที่คะแนนในการสอบ ซึ่งคะแนนก็มาจากวิชาเฉพาะ กสพท (TPAT1) 30% และ A-Level 70%
นั่นหมายความว่า ถ้าเด็กสายศิลป์คนใดที่สามารถทำคะแนนสอบได้ดี ถึงเกณฑ์ที่สามารถติดอันดับร่วมกับเด็กสายวิทย์ได้ ก็จะมีโอกาสที่จะได้เข้าเรียนคณะกลุ่มแพทย์ตามที่ปรารถนา แผนการเรียนตอนม.ปลาย จะไม่ใช่ข้อจำกัดในการกีดกันเด็กสายศิลป์ให้ไม่มีโอกาสจะเรียนคณะกลุ่มแพทย์แล้ว เพราะจะสู้กันที่คะแนนในการสอบ กสพท เท่านั้น ถึงอย่างนั้น การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าวกลับมีเสียงจากเด็กสายวิทย์จำนวนหนึ่งที่มองว่าการเปิดโอกาสให้เด็กทุกแผนการเรียนสามารถสมัครสอบคณะกลุ่มแพทย์ได้นั้นไม่ค่อยยุติธรรมกับเด็กสายวิทย์เท่าไร
นี่จึงเป็นที่มาของเรื่องดราม่าขนาดย่อม ๆ หลังจากที่ กสพท เปิดโอกาสให้เด็กจากทุกสายการเรียนสามารถสอบ กสพท เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรกลุ่มแพทย์ได้ เด็กสายวิทย์บางคนที่คิดว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขา มีคำอธิบายในเชิงที่ว่าตอนม.ปลาย เด็กสายศิลป์จะเรียนวิชาวิทยาศาสตร์แค่พื้นฐานเท่านั้น แตกต่างจากเด็กสายวิทย์ที่ต้องเรียนวิทยาศาสตร์เข้มข้นมาก ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ เด็กสายศิลป์-คำนวณ จะได้เรียนคณิตศาสตร์เข้มข้นแบบเดียวกับที่เด็กสายวิทย์เรียน ในขณะที่เด็กสายศิลป์-ภาษา จะเรียนแค่วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์พื้นฐานทั้ง 2 วิชา
สิ่งที่เด็กสายวิทย์บางคนรู้สึกไม่ยุติธรรมก็คือ เด็กสายศิลป์ได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ (เด็กศิลป์-คำนวณ) และวิชาคณิตศาสตร์ (เด็กศิลป์-ภาษา) ง่ายกว่าพวกเขา จึงมีโอกาสที่จะเก็บเกรดเฉลี่ย (GPAX) ของชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ง่ายกว่า เมื่อนำไปใช้คิดคะแนนในระบบ TCAS จะทำให้เด็กสายศิลป์มีโอกาสได้คะแนนสูงกว่า จึงมีโอกาสที่จะสอบติดคณะที่เลือกได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ดี การสอบในรอบ กสพท เป็นรอบสอบตรงที่ไม่ได้ใช้คะแนนจากเกรดเฉลี่ยเข้ามาเป็นเกณฑ์ แต่จะใช้เพียงคะแนน วิชาเฉพาะ กสพท (TPAT1) ในสัดส่วน 30% และคะแนน A-Level ในสัดส่วน 70%
คะแนนวิชา TPAT1 (การทดสอบศักยภาพในการเรียนรู้ ได้แก่ ความสามารถในการจับใจความ คิดวิเคราะห์สังเคราะห์ เชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผล และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กับการประเมินแนวคิดทางจริยธรรม) สัดส่วนคะแนน 30%
คะแนน A-Level 7 วิชาหลัก สัดส่วนคะแนน 70% (มีขั้นต่ำของแต่ละกลุ่มวิชา = 30%) แบ่งเป็น
- วิทยาศาสตร์ (คิดคะแนนรวมฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) สัดส่วนคะแนน 40%
- คณิตศาสตร์ 1 สัดส่วนคะแนน 20%
- ภาษาอังกฤษ สัดส่วนคะแนน 20%
- ภาษาไทย สัดส่วนคะแนน 10%
- สังคมศึกษา สัดส่วนคะแนน 10%
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของการสอบตรงรอบ กสพท ต้องไม่ลืมว่าเด็กวิทย์ที่เรียนวิทยาศาสตร์มาเข้มข้นกว่าย่อมได้เปรียบกว่าเด็กศิลป์อยู่แล้ว เพราะได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาเข้มข้นกว่าเด็กสายศิลป์นั่นเอง ซึ่งถ้าเด็กสายศิลป์อยากจะสอบให้ติดทั้งที่ได้เรียนมาแค่วิทยาศาสตร์ (และ) คณิตศาสตร์พื้นฐาน พวกเขาก็ต้องดิ้นรนเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ ต้องจัดหนักวิชาหนัก ๆ เข้าหัวให้ทันก่อนที่จะเข้าห้องสอบ และที่สำคัญ การสอบรอบ กสพท ไม่ได้ใช้เกรดตอนเรียนม.ปลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือก ที่มองว่าเด็กสายศิลป์เก็บเกรดวิชาต่าง ๆ ตอนเรียนม.ปลายง่ายกว่า ทำให้อาจมีคะแนนสูงกว่าจึงใช้ไม่ได้
ถึงจะสอบเข้าได้ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่มาก
แต่ไหนแต่ไรมา ดูเหมือนว่าสังคมบ้านเราจะให้ค่ากับเด็กเรียนสายวิทย์-คณิตมากกว่าสายศิลป์ ไม่ว่าจะศิลป์-ภาษา สายศิลป์-คำนวณ หรือสายอื่น ๆ เนื่องจากมีความคิดและความเชื่อว่าเด็กสายวิทย์-คณิตนั้นเก่งกว่า เรียนหนักกว่า มีโอกาสเข้าเรียนในคณะต่าง ๆ มากกว่า จนกระทั่งไปถึงได้อาชีพที่มั่นคงมากกว่า ทำให้เด็กจำนวนมากจำเป็นต้องเลือกเรียนแผนการเรียนวิทย์-คณิตตอนม.ปลาย เพื่อให้ตนเองได้มีโอกาสที่ว่าตอนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย รวมไปถึงผู้ปกครองหลาย ๆ คนก็ถึงขั้นมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตการเรียนของลูกว่าลูกต้องเรียนสายวิทย์-คณิตเท่านั้น ไม่ว่าลูกจะชอบหรือไม่ชอบ และไม่ว่าลูกจะเรียนไหวหรือไม่ไหวก็ตาม แค่เป็นวิทย์-คณิตไว้ก่อน อนาคตจะสบาย
ทว่าหลัง ๆ มา ผู้ปกครองรุ่นใหม่เปิดกว้างมากขึ้น และให้โอกาสลูก ๆ ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและสนใจด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ก้าวไปสู่อาชีพเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ เด็ก ๆ จึงไม่ได้ถูกบังคับมากเหมือนแต่ก่อน ทำให้พวกเขาเทใจไปเรียนสายศิลป์กันมากขึ้น ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนมากขึ้น ขณะที่บางคนรู้ตัวว่าหากเรียนสายวิทย์ก็คงไปไม่รอด เพราะเรียนหนักกว่าและยากกว่า จึงเลือกมาทางสายศิลป์แทน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของความชอบส่วนตัว
แต่อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน และความฝันก็เปลี่ยนแปลงได้เสมอ เด็กหลายคนที่เลือกเรียนสายศิลป์ในวันนั้นด้วยความชอบและความสนใจ อาจจะเปลี่ยนใจอยากที่จะเข้าเรียนคณะของสายวิทย์ตอนมหาวิทยาลัยก็เป็นได้ เพราะเด็กส่วนหนึ่งเรียนสายศิลป์ด้วยความสนใจ ไม่เกี่ยวกับว่าพวกเขาเรียนไม่ไหวแต่อย่างใด พวกเขาจึงคิดที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่พวกเขาก็มาเจอกับข้อจำกัดที่ว่าคณะของสายวิทย์ส่วนใหญ่ไม่รับเด็กสายศิลป์เข้าศึกษา เนื่องจากพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ไม่มากพอจะเรียนไม่ทันเพื่อน หรืออาจจะเรียนไม่ไหวในอนาคต มันก็จะเป็นอุปสรรคต่อตัวเด็กเอง
การที่เด็กสายศิลป์มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนสายการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จำเป็นต้องใช้ทั้งความพยายาม ความขยัน ความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่มากกว่าเดิม พวกเขาต้องวางแผนชีวิตใหม่ทั้งหมด ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กับการปรับพื้นฐานตัวเองที่มีพื้นฐานสายวิทย์น้อยกว่าเพื่อนร่วมชั้น เพื่อให้ตัวเองเรียนไหว เพื่อให้เรียนทันเพื่อนคนอื่น ๆ และเพื่อที่จะได้ไม่ล้มเหลวไปก่อนที่จะทำตามความฝันให้ประสบความสำเร็จ ช่วงระหว่างการเรียนในหลักสูตรกลุ่มการแพทย์จำนวน 6 ปี ยังมีอีกหลายสิ่งที่พวกเขาต้องพิสูจน์ความสามารถตัวเอง
เพราะการที่พวกเขาสามารถสอบติดคณะกลุ่มแพทย์ได้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเรียนได้จนจบ (ไม่ใช่แค่เด็กสายศิลป์ที่สอบติด เด็กวิทย์ก็เช่นกัน) ระหว่างทางยังมีอุปสรรคอะไรอีกหลายอย่างที่พวกเขาต้องฝ่าฟันไปให้ได้ และต้องไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน ยิ่งกับคนที่รู้ตัวดีว่าพื้นฐานของตนเองไม่เหมือนกับคนอื่นก็ยิ่งต้องมุ่งมั่นและมีความพยายามมากกว่าเดิม เด็กสายศิลป์สอบติดหมออาจจะเก่งก็จริง แต่จะแน่กว่าคือต้องเรียนจนจบได้และพาตัวเองเข้าสู่สายวิชาชีพแพทย์ได้ในอนาคต เพราะกว่าจะจบหมอไม่ได้จบกันได้ง่าย ๆ แค่ไม่ปิดโอกาสเด็กที่เรียนสายการเรียนอื่นมาก็พอ
การที่ กสพท เปลี่ยนเกณฑ์การรับสมัครสอบนักศึกษากลุ่มคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสัตวศาสตร์ ถือเป็น “โอกาส” ให้กับเด็กนักเรียนทุกสายการเรียนที่มีความตั้งใจที่จะเข้าเรียนคณะกลุ่มแพทย์ ได้เดินตามความฝันของตัวเองอีกครั้ง ความฝันที่อาจจะไม่ได้มีแรงผลักดันในช่วงเลือกแผนการเรียนม.ปลาย ความฝันที่ยังไม่ฉายชัดเพราะยังตามหาตัวเองไม่เจอ โดยเฉพาะเด็กสายศิลป์และเด็กสายการเรียนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เน้นเรียนวิทยาศาสตร์มา จบแผนการเรียนอะไรมาก็ไม่สำคัญ เพราะความมุ่งมั่นและความตั้งใจต่างหากที่สำคัญกว่า มันคือแรงผลักดันที่จะทำให้เราพยายามจนถึงที่สุดไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็ตาม หากคิดที่จะทำตามความฝันของตนเองให้สำเร็จ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.