‘นางิโจ’ หมู่บ้านที่พิสูจน์ว่า ‘มีลูกเมื่อพร้อม’ รัฐต้องพร้อมด้วย!!
สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนอยากมีลูก
อย่างที่เราทราบกันว่าประเทศญี่ปุ่น เผชิญกับปัญหาสภาพสังคมที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อันนำมาซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แรงงานจนไม่สามารถเลี้ยงดูผู้สูงอายุของประเทศเมื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้อีกต่อไป ... บางหมู่บ้านในญี่ปุ่นปิดตัวลง คนอพยพเข้าไปอยู่ในเมืองมากขึ้น โรงเรียนถูกปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก .. โดยเป้าหมายของประเทศญีปุ่นเพื่อที่จะพยุงวิกฤตประชากรคือต้องมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 2.1 เท่า ทำให้ที่หมู่บ้านนางิซึ่งมีประชากรอยู่ 6,000 คน มีเปอร์เซนต์การมีบุตรสูงถึง 2.95 มากกว่าค่าเฉลี่ยที่ตั้งไว้ และหากเทียบกับเมืองอื่นๆ ในปัจจุบันนั้นก็สูงกว่าถึง 2 เท่า ( โตเกียวมีเปอร์เซนต์การมีบุตรเพียง 1.15 )
ที่นี่จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ ข้าราชการ นักการเมือง ต้องเดินทางมาจากทุกหนแห่งเพื่อมาไขความลับของ ‘หมู่บ้านปาฎิหาริย์’ แห่งนี้ เพราะไม่ใช่แค่สัดส่วนที่สูงกว่าที่อื่น แต่พวกเขาสามารถทำมาได้กว่า 15 ปี และมีคุณแม่บางคนที่มีลูกมากถึง 4 คน ซึ่งแทบจะเป็นไปได้ยากในประเทศที่ภาษีอัตราสูง และค่าครองชีพสูงขนาดนี้ จนทุกคนในประเทศญี่ปุ่นตั้งข้อสงสัยว่า หมู่บ้านนี้มีอะไรดี? คนถึงอยากจะมีลูกกันนัก!
.
.
คำตอบคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนอยากมีลูก
ปัจจัยการมีบุตรโดยทั่วไปแล้วเกิดจากสองปัจจัยหลักคือ ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพ อาชีพ รายได้เฉี่ยต่อเดือน สถานะการมีบุตร ส่วนปัจจัยที่สองคือปัจจัยอิทธิพลภายนอก ได้แก่ ทัศนคติต่อความสำคัญและคุณค่าของบุตร ค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตร สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงนโยบายและการสนับสนุนจากรัฐบาล
ความโดดเด่นของหมู่บ้านนางิที่เห็นได้อย่างเด่นชัด ข้อแรกคือ การสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหมู่บ้านของพวกเขา โดยพบว่าเริ่มต้นหมู่บ้านแห่งนี้ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารเมืองและทุ่มให้กับการสนับสนุนความเป็นอยู่ของประชากร ผลประโยชน์ที่ผู้ปกครองจะได้รับจากการย้ายมาอาศัยในเมืองนี้มีอยู่หลายประกอบ อาทิเช่น
- ครอบครัวจะได้รับเงินกว่า 100,000 เยนสำหรับลูกคนแรก และได้รับเงินอีก 150,000 เยนสำหรับลูกคนที่สอง หรือหากมีลูกถึงห้าคนจะได้รับเงิน 400,000 เยน
- ได้รับเงินอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัย เพื่อให้ครอบครัวสามารถมีบ้านที่มีพื้นที่ให้สามารถเลี้ยงดูบุตรได้
- ฉีดวัคซีนฟรี
- ได้รับเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนเด็ก และค่าใช้จ่ายสำหรับสถานรับเลี้ยงเด็ก
- ได้รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น
- ได้รับเงินอุดหนุนค่าเดินทางของเด็กชั้นมัธยมปลาย
- สื่อการเรียนรู้แจกฟรี
- สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ฟรีจนถึงระดับชั้นมัธยมปลาย
ฯลฯ
รวมไปถึงหากพ่อ-แม่คนไหนมีบุตรยาก ที่นี่ยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมการรักษาภาวะมีบุตรยากซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากอีกด้วย
นอกจากการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว สิ่งที่โดดเด่นและสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายที่เข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อ-แม่ ที่แท้จริง .. เพราะผู้ปกครองที่นี่มีสังคมที่สามารถแชร์เรื่องราวการเลี้ยงดูลูกแก่กัน มีกิจกรรมจากทางเมืองที่สนับสนุนและลดความเครียดต่อการเลี้ยงลูก รวมไปถึงสถานที่รับฝากเด็กทั้งจากทางการ และภายในชุมชนเองที่สามารถพูดคุยกันได้ .. โดยคุณแม่หลายคนที่นี่บอกว่า 'เด็กที่เมืองนางิ ไม่ได้มีแม่แค่คนเดียว' แต่คนในชุมชนต่างช่วยกันดูแลเด็กๆ ของพวกเขา ทำให้พ่อแม่มือใหม่ไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวและหนักใจต่อการเลี้ยงดูบุตรมากนัก ...
จากเด็กสู่วัยชรา
ที่เมืองนางิโจ พวกเขาไม่ได้มองผลลัพธ์ของการเพิ่มขึ้นของประชากรในมิติของเศรษฐกิจเท่านั้น .. ผลที่ตามมาจากการทำนโยบายดังกล่าวของหมู่บ้านนางิโจคือ พวกเขาสามารถสร้างเมืองที่ให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับผู้สูงอายุในเวลาเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการสนับสนุนค่าเดินทางของเด็กชั้นมัธยมปลาย พวกเขาเลือกที่จะสนับสนุนค่าเดินทางโดยรถสาธารณะ ทำให้เด็กชั้นมัธยมปลายยังต้องใช้รถสาธารณะในการเดินทางไปเรียนทั้งภายในเมืองหรือนอกเมือง ส่งผลให้ระบบขนส่งสาธารณะยังคงมีความจำเป็น และผู้สูงอายุที่ไม่มีรถยนต์สามารถเดินทางไปยังที่ต่างๆ รวมถึงโรงพยาบาลได้ด้วย .. ซึ่งต่างจากหมู่บ้านที่เกือบร้างในท้องถิ่นอื่นๆ ของญี่ปุ่นที่ต้องหยุดการให้บริการรถสาธารณะไป
รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่ผู้สูงอายุยังคงได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกหลาน มีหลายครอบครัวที่หมู่บ้านแห่งนี้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ โดยการใช้ประโยชน์จากเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยของภาครัฐ เพื่อให้ได้บ้านหลังใหญ่และมีพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตมากขึ้น อีกทั้งการลงทุนเงินสำหรับการเลี้้ยงลูก ย่อมจะทำให้พ่อ-แม่ ที่จะกลายเป็นผู้สูงวัยในอนาคต มีทุนทรัพย์เพียงพอและสามารถใช้ชีวิตอย่างไม่ขัดสนในภายภาคหน้าอีกด้วย
หมู่บ้านนางิโจทำให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรภายในเมืองไม่ใช่ ‘ปาฏิหาริย์’
การเพิ่มของเด็ก ไม่ใช่แค่การเพิ่มจำนวนแรงงานให้แก่ภาคเศรษฐกิจ
แต่คือการเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่ม ‘ชีวิต’ ให้แก่เมืองแห่งนี้
ซึ่งต้องแก้ไขและวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะกว่าจะสำเร็จใช้เวลานานกว่า 10 ปี และการวางแผนนั้นต้องมุ่งให้เกิดผลเชิงโครงสร้างอีกด้วย
นางิโจ โมเดลการเพิ่มประชากรของเมืองใหญ่
ไม่ใช่แค่คนที่เกิดที่หมู่บ้านนางิเท่านั้นที่อาศัยในเมืองแห่งนี้ มีหลายครอบครัวที่อพยพและย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองใหญ่ๆ มากมาย ด้วยเหตุผลที่ว่าเมืองใหญ่ๆ ไม่ตอบโจทย์พวกเขาหากอยากจะสร้างครอบครัวและมีลูก
อย่างไรก็ตามคนเหล่านี้มีค่านิยมที่เหมือนกันคือ พวกเขาคือหนุ่มสาวที่ใฝ่ฝันอยากจะสร้างครอบครัวและมีลูก
โดยเฉพาะคนเป็นแม่ ... สิ่งหนึ่งที่พวกเธอยอมรับคือ การมาอยู่หมู่บ้านที่ห่างไกลอย่าง ‘นางิโจ’ นั้น พวกเธอต้องละความเป็นไปได้ที่จะไต่เต้าหาตำแหน่งหน้าที่การงานในระดับใหญ่ๆ หรือการสร้างชื่อเสียงและเติบใหญ่ในหน้าที่การงาน
ในขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นก็สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานตามแผนการณ์ Womenomics ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมาอัตราส่วนของคุณแม่ที่กลับเข้ามาทำงานสูงขึ้นจาก 50% เป็น 75% แต่กลับพบว่าการกลับไปทำงานนั้นหลายคนต้องยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่า หรือเปลี่ยนอาชีพให้ไม่กระทบกับการเลี้ยงดูบุตร
ทำให้ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่ ลังเลและไม่อยากมีบุตร ..
เพราะฉะนั้นจึงเป็นการบ้านสำหรับนักการเมือง ข้าราชการต่างๆ ที่จะเรียนรู้โมเดลของเมืองนางิโจและไปปรับใช้กับเมืองของตนเอง .. เพื่อให้สามารถคงสภาพของแรงงานผู้หญิงที่ยังคงทำงานไว้ได้ และทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของประชากรไปในเวลาเดียวกัน และไม่ใช่แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
ประเด็นของ 'หมู่บ้านปาฎิหาริย์นางิ' ที่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้มากเป็นสองเท่านี้ กลายเป็นโมเดลที่ดึงดูดผู้บริหาร และผู้ใช้อำนาจรัฐให้เข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก เพราะหลายประเทศต่างเข้าสู่วิกฤตด้านประชากรไม่ต่างจากประเทศญี่ปุ่น ..
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย อัตราเด็กเกิดใหม่ ปี 2556 อยู่ที่ 780,000 คน ในปี 2563 พบว่าอยู่ที่ 569,338 คน อัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) อยู่ที่ 1.24 และมีแนวโน้มจะลดลงไปอีก โดยมาจากเหตุผลมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ความคาดหวังต่อคุณภาพของเด็กซึ่งสร้างความกังวลต่อบทบาทของพ่อแม่ คนรุ่นใหม่มีค่านิยมอยู่เป็นโสดหรือมองว่าการมีบุตรนั้นเป็นภาระ รวมไปถึงแต่งงานช้าทำให้มีบุตรยาก .. ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนความคิดของประชาชนที่ว่า ประเทศไทยไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตร และพวกเขากลัวภาระจะตกอยู่แค่ที่พ่อ-แม่ นั่นเอง.
ที่มา
https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1047955#
https://www.asahi.com/ajw/articles/14730746
https://royumi.com/en/blogs/blog-de-japon/la-ciudad-de-nagi-revela-un-secreto-para-tener-mas-bebes-en-japon
https://www.gov-online.go.jp/eng/publicity/book/hlj/html/201905/201905_06_en.html
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.