Deep Talk ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างไร
คุณเคยรู้สึกว่า “ชอบ” และ “สบายใจ” ที่จะพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กับใครสักคนหนึ่งบ้างหรือเปล่า? ใครสักคนที่ทำให้รู้สึกว่าเราสามารถเข้าถึงใจของเขาได้เวลาที่ได้สนทนากัน ในขณะที่เขาก็สามารถเข้าถึงใจเราด้วยเช่นกัน และยิ่งคุยกันได้ลึกซึ้งมากขึ้นเท่าไร เราก็รู้สึกว่าความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่สามารถไปต่อได้อย่างสนิทสนมและแน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าเดิมอีก และทำให้เราอยากมีสัมพันธภาพที่ดีและยาวนานกับคนผู้นี้
ปกติแล้ว เวลาที่เราได้คุยกับคนที่รู้จักกันและสนิทสนมกันประมาณหนึ่งแบบสั้น ๆ แค่ทักทายแล้วแยกย้าย มันแอบรู้สึกแปลก ๆ อยู่ไม่น้อยเลยว่าไหม รู้สึกได้ถึงความห้วนและแห้งเหือดในความสัมพันธ์ ทั้งที่เราคุ้นเคยกันในระดับหนึ่ง แต่กลับทำได้เพียงพูดคุยแบบถามคำตอบคำ มันจึงมีความกระอักกระอ่วนใจอยู่บ้าง ถ้าอย่างนั้น เราลองมาชวนเขาพูดคุยเชิงลึก แบบที่มีทั้งความหมายและมีแก่นสารดูบ้างไหม ด้วยลักษณะการพูดคุยที่เรียกว่า Deep Talk
Deep Talk คืออะไร
Deep Talk หรือ Meaningful Conversation หมายถึง การพูดคุยในเชิงลึกที่มีความหมายและมีสาระแก่นสาร โดยจะแตกต่างจาก Small Talk ซึ่งเป็นการชวนพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องสัพเหระสั้น ๆ เพื่อแสดงออกถึงมิตรภาพ ในขณะที่ Deep Talk จะเข้าถึงประเด็นเรื่องที่พูดคุยอย่างละเอียดและลึกมาก ๆ คู่สนทนามีความผูกพันทางอารมณ์ ปรากฏความไว้วางใจและความสนิทสนม รวมถึงทำให้เกิดความเข้าใจ และการเอาใจใส่ใจในความสัมพันธ์มากขึ้น จึงนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มีความแนบแน่นและใกล้ชิดสนิทสนมกว่าเดิม
Deep Talk แม้ว่าจะเป็นการพูดคุยที่ “ลึกซึ้ง” แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องชวนกันคุยในหัวข้อที่เครียด ขึงขัง จริงจัง หรือมีเนื้อหาเชิงวิชาการอะไรแบบนั้น เพราะจริง ๆ แล้ว Deep Talk จะเป็นหัวข้ออะไรก็ได้ที่นำไปสู่การพูดคุยกันในเชิงลึกที่เค้นให้คู่สนทนาต้องขุดเอาข้อมูลทุกอย่างที่ตัวเองมีทั้งหมดออกมากาง แสดงอารมณ์ร่วมอย่างมีอรรถรส มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง ประสบการณ์ รวมถึงการเปิดใจเปิดเผยตัวตนของตัวเองผ่านทัศนคติในการสนทนา หรือเอาเข้าจริง มันก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับ “เม้าท์มอย” กับเพื่อนเลย บรรยากาศแบบในวงเม้าท์มอยนี่แหละก็เป็น Deep Talk ได้ ทั้งที่ปกติเราก็คุยแต่เรื่องไม่ค่อยมีสาระกันมากกว่า ถูกไหม?
ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการ Deep Talk
ทักษะที่จะช่วยให้เรามี Deep Talk ได้ดีคือทักษะ Active Listening หรือ “ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ” ฟังที่ไม่ใช่แค่ฟัง แต่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการฟัง ฟังอย่างมีสมาธิ เพื่อให้สามารถรับสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งวัจนภาษา อวัจนภาษา อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงความต้องการของผู้พูด ซึ่งมันจะมีเรื่องของการใส่ใจ การทวนประโยค และการสะท้อน
- การใส่ใจ สิ่งสำคัญคือการสบตาและอวัจนภาษาที่แสดงให้เห็นว่าเรากำลังตั้งใจฟังเขาอยู่ และมีอารมณ์ร่วมไปกับเขา ใช้วัจนภาษาที่เน้นการโต้ตอบเป็นพัก ๆ
- การทวนประโยค เวลาที่เรานั่งฟังอะไรนาน ๆ เป็นไปได้ที่เราจะเสียสมาธิ วิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราได้เรียกสติตัวเองกลับมา ไปพร้อม ๆ กับการแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเรายังจดจ่ออยู่กับการสนทนา คือการทวนประโยค ทวนสิ่งที่เขาพูดมาอีกรอบ ช่วยให้เข้าถึงและลงรายละเอียดได้ลึกในเรื่องนั้น ๆ
- การสะท้อน เป็นการสะท้อนทั้งความรู้สึกและประสบการณ์ของตนเอง หลังจากที่ได้รับฟังเรื่องราวจากอีกฝ่าย ให้คู่สนทนารู้ว่าเรามีความรู้สึกและมีอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งที่เขาพูด รวมถึงแชร์ประสบการณ์ของตนเองที่เคยมีจุดร่วมในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เห็นว่าเราสามารถเข้าใจเรื่องราวของเขาได้อย่างถ่องแท้
ข้อดีของการพูดคุยแบบ Deep Talk
1. มีความผูกพันทางอารมณ์ หลาย ๆ คนน่าจะเคยมีใครสักคนที่เรารู้สึกว่าคุยกับเขาแล้วถูกคอ คุยกันได้เรื่อย ๆ แบบที่ไม่สะดุด มีความสนุกและได้อะไรเป็นข้อคิดเสมอหลังจากที่คุยกับเขา ซึ่งเราก็ชอบที่จะคุยกับเขาด้วย มันคือความผูกพันทางอารมณ์ที่ได้จากการแบ่งปันความคิด มุมมอง ความรู้สึก หรือแม้แต่บาดแผลในใจ มีส่วนให้คนทั้งคู่มีความผูกพันในระดับที่ลึก เข้าใจปัญหาของกันและกัน และสามารถให้คำปรึกษาหรือสนับสนุนทางอารมณ์ให้แก่กันและกัน
2. ส่งเสริมให้เกิดความสนิทสนมและความไว้วางใจ คนเราไม่ได้พูดคุยกับใครแล้วจะรู้สึกสบายใจกับทุกคน บางคนเรารู้สึกว่าไม่สามารถที่จะเปิดใจ เปิดอกพูดคุยเรื่องส่วนตัวกับเขาได้ด้วยซ้ำ แต่จะมีแค่ไม่กี่คนที่เรารู้สึกว่าเราสามารถพูดคุยกับเขาได้ทุกเรื่องอย่างสบายใจจริง ๆ ก็เนื่องมาจากการได้เรียนรู้ทัศนคติของกันและกันในตอนที่พูดคุยนั่นเอง เราจะรู้ว่าทัศนคติของผู้ฟังแบบไหนที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ให้กับเราได้ จนกระทั่งกล้าที่จะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว ค่านิยม ความเชื่อ หรือแม้แต่ความเปราะบางทางจิตใจให้กับพวกเขาฟัง
3. สร้างความเข้าใจและการเอาใจใส่ในความสัมพันธ์ เนื่องจากการพูดคุยแบบ Deep Talk สามารถทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ง่ายขึ้น สามารถที่จะฟังอย่างตั้งใจ เพื่อให้เข้าใจจริง ๆ และไม่ตัดสิน มันทำให้เราได้รู้จักว่าคู่สนทนาของเราเป็นคนแบบไหน พบเจออะไรมา ต้องการอะไร จึงนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดความเคารพและความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
4. เปิดใจแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์ไหน หากมีปัญหาที่ไม่เข้าใจกัน การเงียบไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่การเแปิดใจสื่อสารกันต่างหากที่จะช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดกันได้ อย่างที่บอกว่า Deep Talk มันทำให้เราเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ง่ายขึ้น เอาใจเขามาใส่ใจเราได้ดีขึ้น ยอมที่จะฟังเรื่องราวจากคู่กรณีโดยไม่มีอคติได้ง่ายขึ้น จึงมีประโยชน์มากสำหรับการแก้ไขความขัดแย้งและความไม่ลงรอยกัน กล้าที่จะพูดคุยประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ช่วยให้ทั้งคู่หาแนวทางในการจัดการความขัดแย้ง และความขุ่นเคืองใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
5. การเติบโตไปด้วยกัน เนื่องจาก Deep Talk ช่วยกระชับความสัมพันธ์ มันสำรวจเป้าหมายในอนาคต แรงบันดาลใจ และค่านิยมของทั้งคู่ว่าตรงกันไหม สามารถไปด้วยกันได้หรือไม่ ถ้าไม่ตรงกัน จะปรับจูนให้เข้ากันได้อย่างไรบ้าง
การสนทนาแบบ Deep Talk ช่วยกระชับความสัมพันธ์ได้อย่างไร
ปกติแล้ว “การสนทนา” เป็นช่องทางหนึ่งที่เรามักใช้ในการทำความรู้จักและสานสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ซึ่งการสนทนาที่เราสามารถใช้เวลานานร่วมครึ่งชั่วโมงไปจนถึงหลายชั่วโมงได้นั้น มันย่อมเป็นการสนทนาที่ไม่ธรรมดา ถ้าให้พูดตรง ๆ ก็คือ มันเป็นการสนทนาที่ให้ความรู้สึกได้ว่า “จะคุยอะไรกันนักกันหนา” เพราะมันยากที่จะ “จบให้ลง” ยิ่งพูดคุยก็ยิ่งรับความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ พร้อม ๆ กันนั้น ยังด่ำดิ่งเข้าถึงประเด็นเรื่องที่พูดคุยได้อย่างละเอียดและลึกมาก ๆ ลึกจนทำให้บรรยายกาศในการพูดคุยกันมันไม่เหมือนกับการพูดคุยทั่วไป มันให้ความรู้สึกเหมือนการแบ่งปันบางอย่าง การได้แชร์ประสบการณ์ร่วมกันผ่านความคิดรู้สึกเหมือนเชื่อมโยงกัน และรู้สึกว่าเข้าถึงใจของคู่สนทนาได้มาก ๆ
บรรยากาศที่ “เป็นกันเอง” “คุยถูกคอ” และ “เข้าถึงใจกัน” แบบนี้เองที่กลายเป็นพื้นที่ในการกระชับความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี การที่เราสามารถเข้าถึงใจของอีกฝ่ายได้นี้ ถูกเรียกว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราสามารถรับรู้ความรู้สึกของจิตใจอีกฝ่ายได้ แบบที่ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” แน่นอนว่าเมื่อคู่สนทนาสามารถเข้าถึงใจของกันและกันได้มากขึ้น มันเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม ซึ่งการที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นจากการสนทนา ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์ใดก็ตาม มันสามารถเชื่อมโยงไปถึง “ความสุข” ที่เพิ่มพูนขึ้นด้วย เพราะคนเรามักแสวงหาความหมายให้กับชีวิตของตัวเองอยู่ตลอด และ Deep Talk ก็สามารถช่วยเติมเต็มตรงจุดนี้ได้
ดังนั้น การสนทนาแบบ Deep Talk ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์ใดก็ตาม สามารถนำไปสู่กันขยับความสัมพันธ์ให้ได้รู้จักกันแบบแนบแน่นและสนิทใจกว่าเดิม มันมาจากการที่เราคุยกัน “ถูกคอ” และ “สนิทใจ” นั่นเอง ซึ่งหากเราสามารถคุยกับใครแบบลึกซึ้งจนรู้สึกถึงการถูกเติมเต็ม มันถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เราพบเจอจะสามารถทำให้เราพูดคุยกันในรูปแบบ Deep Talk ที่สามารถพาเราดำดิ่งไปกับการพูดคุยกันอย่างสบายใจและมีความสุขได้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.