เกิดอะไรขึ้น? เมื่อต่างชาติซื้อบ้านมือสองที่ญี่ปุ่นได้ในราคาเพียงสองแสน
รู้จัก Akiya House บ้านร้างราคางาม
บ้านที่ถูกพูดถึงนี้รู้จักกันในชื่อ Akiya House (อะกิยะเฮ้าส์) คำว่า ‘Akiya’ แปลว่าบ้านที่ว่างเปล่า ประเทศญี่ปุ่นใช้เรียกบ้านที่ถูกทิ้งร้าง และต่อมานำมาขายเป็นบ้านมือสองในราคาที่ต่ำมากตั้งแต่ 5,000 ดอลลาห์สหรัฐ หรือประมาณสองแสนบาทขึ้นไป บางหลังมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับสภาพของบ้านหลังดังกล่าว โดยสามารถเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ของ akiyabanks.com ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้โครงการของกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น( MLIT )
โดยชาวต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นเจ้าของบ้านเหล่านี้ได้เช่นกัน และพบว่าบางคนได้รับเงินช่วยเหลือและสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นในการซ่อมแซมและรีโนเวทอีกด้วย อย่างไรก็ตามการเข้ามาเป็นเจ้าของบ้านดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการได้รับวีซ่าการอยู่อาศัยถาวรแต่อย่างใด
ชาวต่างชาติบางคนถึงกับมารีวิวการเข้าไปอยู่ใน Akiya House และพบว่าในปัจจุบันทางการญี่ปุ่นได้รับการติดต่อจากชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาจับจองบ้านในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก บางคนมองแค่เป็นบ้านพักตากอากาศเพราะหลงใหลในทิวทัศน์ของประเทศญี่ปุ่น ส่วนบางคนตั้งใจซื้อไว้เพื่อลงทุนสร้างเป็นที่พักต่างๆ แล้วแต่วัตถุประสงค์
อย่างไรก็ตามหากจะมาลงทุนก็ต้องศึกษาให้ดีก่อน แม้จะซื้อบ้านในราคาที่ต่ำได้ แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายจากการซ่อมแซมซ่อนอยู่ เพราะบ้านบางหลังนั้นมีอายุมากกว่า 20-30 ปี รวมไปถึงหากใครอยากจะมาลงทุน การเปิดที่พักในญี่ปุ่นนั้นมีกฎระเบียบต่างๆ มากมาย ไม่ใช่ว่าจะเปิดได้ง่ายๆ .. อีกทั้งบ้านบางหลังห่างไกลจากชุมชนขนาดใหญ่ ก็ต้องเข้าไปอยู่ เรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่มีการจัดการที่เป็นระเบียบแบบแผนแบบญี่ปุ่น รวมไปถึงการจ่ายภาษี!
มีหลายหลังที่ระบุรายละเอียดของบุคคลที่จะมาซื้อ อย่างเช่นว่าคนซื้อต้องมาอยู่ถาวรเท่านั้น บางหลังระบุอายุของผู้เข้ามาอาศัย เพราะแม้ว่าผู้ขายจะไม่ได้อยู่แล้ว แต่คนญี่ปุ่นมีนิสัยรับผิดชอบต่อชุมชนที่พวกเขา หรือบรรพบุรุษของเขาเคยอยู่!
เพราะฉะนั้นเมื่อมองเผินๆ อาจจะเป็นระบบของการขายบ้านมือสองที่เข้ามาดำเนินการและอำนวยความสะดวกโดยภาครัฐ
.
.
แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือการแก้ไขปัญหาที่ใหญ่มากกว่านั้น!
ปัญหาจนมาเป็น Akiya
แม้ปัจจุบัน Akiya House จะเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ แต่จุดมุ่งหมายแต่เดิมของรัฐบาลนั้นก็เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กระจายตัวมาอยู่ตามชนบท โดยเฉพาะในเมืองที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็น Ghost Village คำว่า Ghost Village ไม่ได้หมายถึงแค่หมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างเท่านั้น แต่รวมถึงหมู่บ้านที่ไร้ชีวิตชีวา มีหลายเมืองในญี่ปุ่นที่โรงเรียนถูกปิดตัวลง ไม่มีเสียงเด็กเล็กๆ คนรุ่นใหม่อพยพไปอยู่ในเมืองด้วยว่าเพื่อหน้าที่การงานและโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่า
หากเทียบราคาการเป็นเจ้าของทรัพย์สินในเมืองใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น บางคนทำงานทั้งชีวิตก็มีได้แค่ห้องขนาดไม่ใหญ่มาก ในทางตรงกันข้ามประชาชนสามารถมีบ้านที่มีอาณาบริเวณได้จากการใช้บริการ Akiya House โดยรัฐบาลมองว่าการเข้ามาอยู่บ้านเหล่านี้ของผู้คน ก็เท่ากับว่าพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างจะได้มีชีวิตชีวา เศรษฐกิจมีการไหลเวียนในบริเวณนั้น มีการดูแลและจัดการทรัพยากร และไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่
อย่างไรก็ตามในปี 2023 ประเทศญี่ปุ่นมีบ้านที่ไม่มีคนอยู่อาศัยมาถึง 8.49 ล้านหลัง ซึ่งนับเป็น 13.6% ของปริมาณบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น แต่มีการคาดการณ์ว่าจำนวนแท้จริงอาจอยู่ที่ 11 ล้านหลัง และคาดการณ์ว่าจะพุ่งสูงขึ้นอีกจาก 13.6% เป็น 30% หรือมากกว่า 2 เท่าในอีกเพียงแค่ 10 ปีข้างหน้า
นอกจากสาเหตุเรื่องการอพยพของคนรุ่นใหม่เข้าไปใช้ชีวิตในตัวเมืองแล้ว ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการสร้างแบรนด์ Akiya ขึ้นมา ก็เพราะปัญหาจากค่าใช้จ่าย สำหรับประเทศไทยที่ดินซึ่งมีบ้านสร้างอยู่มีราคามากกว่าที่ดินเปล่า แต่ตรงกันข้ามกับประเทศญี่ปุ่น เพราะที่ดินซึ่งมีบ้านทิ้งร้างไว้นั้นเป็นหายนะอันดับหนึ่ง และมีราคาต่ำกว่าที่ดินว่างเปล่าด้วยซ้ำ เนื่องจากค่าดำเนินการทั้งการรื้อถอนหรือการซ่อมแซมในญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายสูง! และคาดการณ์ว่าในอนาคตรัฐบาลญี่ปุ่นจะเพิ่มมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินซึ่งมีบ้านทิ้งร้างในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
ผลคือบ้านที่ผู้เฒ่าผู้แก่ล้มหายตายจากและตกเป็นมรดกของลูกๆ ให้ดูแล แต่ลูกหลานกลับไม่อยากได้สิ่งนี้ เพราะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่หนักหนาในอนาคต!
ในปี 2021 ศาลญี่ปุ่นได้ดำเนินคดีประมาณ 250,000 คดีด้วยเรื่องการสละสิทธิในการรับมรดกในบ้าน ซึ่งคิดเป็น 1.5 เท่าของตัวเลขเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งเมื่อสละทรัพย์สินแล้ว หน่วยงานท้องถิ่นสามารถขายทรัพย์สินดังกล่าวผ่านกลไกต่างๆ ได้
นอกจากนี้ สาเหตุใหญ่ที่สุดนั่นคือ ประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงวัยแบบสุดยอด เป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยรวดเร็วมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก! เมื่อประชากรลดลง แล้วใครจะมาครอบครองทรัพย์สินเหล่านั้น จนทำให้กลายเป็นขยะ สร้างทัศนียภาพที่ไม่ดีต่อเมือง และเป็นภาระในการรื้อถอนให้แก่ภาครัฐซึ่งตามมาด้วยค่าใช้จ่าย นั่นคือปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิด Akiya House
มองสังคมไทยในอนาคต เมื่อประเทศจะก้าวไปสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดเท่าญี่ปุ่นในอีก 7 ปีข้างหน้า
ประเทศญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบสุดยอดในปี 2551 นับเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว และแม้ญี่ปุ่นจะเพิ่มมาตรการใดๆ ก็ตามเพื่อกระตุ้นอัตราการเกิด แต่จากสถิติปี 2565 พบว่า 47 จังหวัดในประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรลดลง .. มีอัตราการตายอยู่ที่ 1.56 ล้านคน ในขณะที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำว่า 800,000 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนตัวเลขที่ลดลงเกือบ 50%
ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของประชากรไทย และตั้งแต่ปี 2564 อัตราการเกิดของประชากรต่ำกว่าอัตราการตาย จนทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรติดลบ และมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2030 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือระดับเดียวกับประเทศญี่ปุ่น และมีแนวโน้มการขยับตัวรวดเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำ
แม้ว่าประเทศไทยจะมีรายจ่ายด้านภาษีที่ดินต่ำในปัจจุบัน คือเก็บภาษีที่ดินสำหรับผู้เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไปในอัตราที่ 0.02%-0.1% เท่านั้น แต่หากในอนาคต อัตราการลดลงของประชากรเพิ่มสูงขึ้นดังเช่นในญี่ปุ่น ก็ไม่แน่ว่ามาตราการดังกล่าวจะมีการขยับหรือไม่ เพื่อหารายได้ให้ทันกับรายจ่าย ที่ต้องจ่ายให้กับประชากรสูงอายุ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มแรงงานอีกต่อไป
นี่อาจจะเป็นแค่จุดเล็กๆ เท่านั้นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ... หากไม่มีเคสของ Akiya House จากญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ เราอาจไม่รู้เลยว่าบ้านที่ถูกทิ้งร้างเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาสำหรับเมืองและประเทศอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้คือ ‘ปัญหาที่มองไม่เห็น’ แต่กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ และเราจะรู้ได้ต่อเมื่อเรียนรู้จากประเทศที่ผ่านมาก่อนอย่างประเทศญี่ปุ่น
เมื่อมองไปในภาพกว้างของประเทศไทย ขณะที่มีการป่าวประกาศถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แต่เหมือนว่าทั้งภาคสังคม และรัฐบาลแทบจะไม่ขยับไปได้ช้ามาก .. ทั้งนโยบายด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ ภาคแรงงาน ด้านสังคม รวมไปถึงมาตรการและงบประมาณที่จะมารองรับจุดนี้ ... เพราะแม้แต่ญี่ปุ่นที่เตรียมการเรื่องนี้มาแล้ว และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดขั้วมานานกว่า 15 ปี ยังไม่สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้อย่างชะงัด แล้วประเทศไทยจะต้องเผชิญกับสิ่งใดในอนาคต?
เรื่องของสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องเชยๆ ปัญหานี้ซับซ้อนและต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และกระทบกับหลายฝ่าย หากปูพื้นฐานได้ดีนี่อาจจะกลายเป็นตัวชี้ความยั่งยืนของอนาคตเศรษฐกิจไทยก็ว่าได้ .. เพราะสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอดคืออนาคตของประเทศไทยในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่ใกล้และไม่ไกลเลย.
ที่มา
https://www.asahi.com/ajw/articles/14815634
https://www.architecturaldigest.com/story/why-japan-has-millions-of-empty-houses
https://www.businessinsider.com/buy-abandoned-home-in-japan-what-to-know-2023-8
https://op.mahidol.ac.th/ga/posttoday-22-2/#:~:text=ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การ,การณ์ว่าจะเป็นประเทศ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.